‘คมนาคม’ เล็งเพิ่มโทษรถบรรทุกน้ำหนักเกินจากเดิม 1 หมื่นบาทเพิ่มสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท

‘คมนาคม’ เตรียมเพิ่มโทษปรับรถบรรทุกน้ำหนักเกินจากเดิม 1 หมื่นบาท เพิ่มสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท เตรียมออกประกาศกระทรวงฯ เพิ่มอำนาจตำรวจจราจรในกรุงเทพฯ ตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ‘สุริยะ’ยันยุคนี้ต้องไม่มีส่วยสติ๊กเกอร์

23 พ.ย.2566-นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมหารือเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้ความสำคัญและตั้งใจแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือส่วยสติกเกอร์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งจากข้อเท็จจริงการตรวจสอบพบว่ามีรถบรรทุกน้ำหนักเกินจริง และมีข้อบกพร่องในโครงสร้างและกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมในทุกมิติ ป้องกันปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น และ ลดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนน 

ทั้งนี้เนื่องจากการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องใช้งบประมาณซ่อมบำรุงถนนจำนวนมาก โดย กรมทางหลวง(ทล.) ต้องจ่ายค่าซ่อมถนนปีละ 26,000 ล้านบาท และ กรมทางหลวงชนบท(ทช.)ปีละ 18,000 ล้านบาท

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาที่นำมาดำเนินการให้ประสบความสำเร็จจะต้องสร้างความมั่นใจ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ พร้อมกำชับการทำงานทุกขั้นตอน ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปฏิบัติงานด้วยความสุจริต และปราศจากการทุจริต เน้นย้ำว่าช่วงที่ตนดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม จะต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้มีแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้ 1.ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทางหลวง 2535 มาตรา 73/2 เกี่ยวกับบทลงโทษการบรรทุกน้ำหนักเกิน ปัจจุบันระบุว่า ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ โดยจะปรับแก้ไขกฎหมายให้มีโทษปรับในอัตราที่สูงขึ้น คือปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000-200,000 บาท แล้วแต่กรณีการกระทำความผิด 

“ส่วนกรณีการเพิ่มโทษจำคุกนั้นให้ ทล. ไปศึกษาผลดีผลเสียที่เหมาะสมต่อไป รวมทั้งเอาผิดกับผู้ประกอบการรถบรรทุกด้วย เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะเสนอการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และมีผลบังคับใช้ได้ภายใน 1 ปี เชื่อว่าการเพิ่มอัตราโทษปรับที่สูงขึ้นนี้ทำให้แก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ เพราะปัจจุบันรถบรรทุกน้ำหนักเกินมีโทษปรับน้อยสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการถบรรทุกเสี่ยงต่อการกระทำผิดด้วยการบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้”นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะออกประกาศกฎกระทรวงคมนาคม ในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล โดยเฉพาะตำรวจจราจร ในพื้นที่ กทม. ให้มีอำนาจตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินในพื้นที่ กทม. ได้ จากเดิมตำรวจจราจรไม่มีอำนาจหน้าที่ตรวจจับ เพราะ พ.ร.บ.ทางหลวง ไม่ได้ให้อำนาจส่วนนี้แก่ตำรวจจราจร ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องเสนอเรื่องนี้มาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อให้ตนลงนามในประกาศกฎกระทรวงและมีผลบังคับใช้ต่อไป

2.เพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพิ่มความถี่ อัตรากำลัง ยานพาหนะ ติดตามตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินของตำรวจ และ ทล. และ 3.นำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินงาน อาทิ การนำเทคโนโลยี AI พร้อมกล้อง CCTV มาช่วยประเมินรถบรรทุกที่มีแนวโน้มบรรทุกน้ำหนักเกิน การบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบจีพีเอส ของ ขบ. ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจทางหลวง และ ทช. ช่วยติดตามจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูล Call Center เรื่องร้องเรียนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

ทั้งนี้ทางภาคเอกชนเสนอขอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กทม. เพื่อนำปัญหามาหารือกันเป็นระยะๆ และหาแนวทางป้องกันไม่เกิดรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดต่อไป

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทล. มีโครงข่ายถนนที่รับผิดชอบกว่า 50,000 กม. เพื่อป้องกันการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเครื่องชั่งอัตโนมัติสำหรับชั่งน้ำหนักรถยนต์ขณะเคลื่อนที่ หรือ WIM ช่วยคัดกรองรถบรรทุกที่มีน้ำหนักไม่เกินกฎหมายกำหนด สามารถวิ่งผ่านได้โดยไม่ต้องเข้าชั่งที่สถานี โดยมีแผนจะติดตั้งระบบ WIM บนโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศ จำนวน 960 แห่ง ซึ่งติดตั้งไปแล้ว 182 แห่ง อยู่ระหว่างติดตั้ง 21 แห่ง และ ที่เหลืออีก 757 แห่ง จะทยอยติดตั้งให้ครบต่อไป โดยในแต่ละปีจะได้รับงบประมาณดำเนินการอยู่แล้ว เน้นติดตั้งในจุดที่จำเป็นและมีปริมาณรถบรรทุกใช้เส้นทางจำนวนมากก่อน

ขณะที่ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถบรรทุกขนาด 6 ล้อ และ รถบรรทุกขนาด 10 ล้อขึ้นไป จดทะเบียนกับ ขบ. มากกว่า 1,000,000 คัน ซึ่งมีการติดตั้งระบบจีพีเอสเกือบครบทั้งหมดแล้ว และ ขบ. ได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลจีพีเอสรถบรรทุก กับ ทล. และ ทช. แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการเชื่อมข้อมูลกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลในเรื่องดังกล่าวต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ปัด 'ทักษิณ' เสื่อม 'สว.สีน้ำเงิน' ยึดสภาสูง ไม่กระทบรัฐบาล

'สุริยะ' ปัด 'ทักษิณ' เสื่อมมนต์ขลัง ชี้ 'สมชาย' ร่วง สว. สะท้อน 'เพื่อไทย' ไม่ได้ยุ่งกระบวนการเลือก เชื่อไร้ผลกระทบอำนาจต่อรองในรัฐบาล

'สุริยะ' สั่งเร่ง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม คาดใช้ปี 68 รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวัน

‘สุริยะ’ดูงานท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งเล็งใช้ระบบ AI บริหารในสนามบิน

‘สุริยะ’นำทัพถกร่วมผู้บริหาร ’ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง‘หารือการใช้ระบบ AI บริหารจัดการในท่าอากาศยาน พร้อมเตรียมนำมาประยุกต์ใช้ในไทย หวังช่วยลดพลังงาน - ระยะเวลา พร้อมอำนวยความสะดวกการเดินทางของนักท่องเที่ยว ผลักดันไทยฮับการบิน สนองนโยบายรัฐบาล