กทม.เตรียมโยนมหาดไทยสางหนี้ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ก้อนแรก 2.3 หมื่นล้าน พร้อมจ่อเก็บเงินค่าโดยสาร 15 บาท ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ม.ค.นี้ หวังนำมาชำระหนี้เอกชนบางส่วน
21 พ.ย.2566-นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางชำระหนี้เอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่า จากก่อนหน้านี้ที่ กทม.พิจารณาจะชำระค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ครบกำหนดชำระประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันได้เสนอไปยังกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
อย่างไรก็ตามโดยเรื่องนี้ตามกระบวนการจำเป็นต้องเสนอให้กระทรวงมหาดไทยและ ครม.ตีความในการชำระค่าใช้จ่ายให้แก่เอกชน เนื่องจากพบว่าสัญญาส่วนนี้อยู่ภายใต้คำสั่ง ม.44 เกี่ยวกับการเจรจาต่อสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้ กทม.ไม่สามารถนำเงินสะสมจ่ายขาดที่มีพร้อมอยู่ราว 5 หมื่นล้านบาท มาชำระให้แก่เอกชนได้ทันที เพราะตามกระบวนการต้องผ่านการพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทย ครม. และนำกลับมาสู่สภา กทม.พิจารณาอนุมัติ
“ตอนนี้หนี้สะสมในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวปรับเพิ่มขึ้นทุกวัน กทม.ก็ต้องเจรจากับเอกชนไปเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้คุยกับเอกชนมาตลอด และเราอยากให้เรื่องนี้จบให้เร็วที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล การพิจารณา ม.44 ด้วยว่าจะมีแนวทางอย่างไร”นายชัชชาติ กล่าว
ส่วนมูลหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และต่อขยายที่ 2 ปัจจุบันทาง กทม.ได้ยื่นอุทธรณ์คดี และยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง โดยมูลหนี้ส่วนนี้ กทม.รอผลการตัดสินของศาลปกครอง ก่อนกำหนดแนวทางดำเนินการต่อไป โดย กทม.ยอมรับว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จุดเริ่มต้นเกิดจากการดำเนินการที่ไม่นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา กทม.ให้ถูกต้อง
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า กทม.มีกำหนดจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต อัตรา 15 บาทตลอดสาย ในช่วงกลางเดือน ม.ค.2567 เพื่อจะนำรายได้ค่าโดยสารส่วนนี้มาชำระให้กับเอกชนในบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในกรอบช่วงเวลาของข้อพิพาท เพื่อทำให้หนี้ค่าจ้างเดินรถไม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระบวนการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 นั้น ปัจจุบัน กทม.ได้ทำหนังสือขอความเห็นมายังกระทรวงคมนาคม พร้อมหารือในแนวทางจัดเก็บค่าโดยสารแล้ว ซึ่งกระทรวงคมนาคมไม่มีปัญหาติดขัด หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 30 วันก่อนเริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร
“ตอนนี้เอกชนผู้รับจ้างเดินรถอยู่ระหว่างเตรียมติดตั้งระบบหัวอ่านจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งคาดว่าหาก กทม.ออกประกาศจัดเก็บค่าโดยสารในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ ก็จะใช้เวลาติดตั้งระบบแล้วเสร็จพอดี เริ่มจัดเก็บค่าโดยสารได้หลังปีใหม่ ในกลางเดือน ม.ค.2567”
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในช่วงแรกที่เริ่มจัดเก็บค่าโดยสารประชาชนจะใช้บริการลดลง หลังจากที่ปัจจุบันในช่วงส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีปริมาณผู้โดยสาร 4 แสนคนเที่ยวต่อวัน และสายสีเขียวหลัก ช่วงสถานีหมอชิต – สถานีอ่อนนุช และสถานีสนามกีฬา – สถานีสะพานตากสิน รวมส่วนต่อขยายที่ 1 สายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-สถานีแบริ่ง) และส่วนต่อขยายสายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-สถานีบางหว้า) มีปริมาณผู้โดยสารราว 1 ล้านคนเที่ยวต่อวัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือร่วมกับนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ถึงแนวทางชำระหนี้ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 โดยมีข้อสรุปจะเสนอสภา กทม.ในเดือน ก.ค.2566 เพื่อนำเงินสะสมจ่ายขาดของ กทม.มาชำระ แต่ถือเป็นอำนาจของสภา กทม.ที่จะบรรจุเป็นวาระพิจารณาหรือไม่
อีกทั้งผู้ว่า กทม.ยังระบุด้วยว่า กทม.เตรียมจ่ายหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าก้อนแรก 2.3 หมื่นล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม. เพื่อขออนุมัติใช้เงินสะสมมาจ่ายหนี้ส่วนนี้ เนื่องจากหนี้ที่เกิดจากค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า เป็นก้อนหนี้ที่ครบกำหนดต้องชำระให้กับภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่าคณะกรรมการวิสามัญที่ผ่านมาประชุมแล้ว 5 ครั้ง ดังนั้น กทม.จึงมองว่าหนี้ส่วนนี้มีข้อมูลพิจารณาเพียงพอที่จะชำระให้เอกชนได้
สำหรับปัจจุบันหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่าง กทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งออกเป็น 1.ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และ 2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) รวมกว่า 2.28 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ หนี้ในจำนวนนี้ ปัจจุบันได้มีการยื่นฟ้องและอยู่ในขั้นตอนศาลปกครองพิจารณา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ1.หนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ศาลปกครองพิพากษาให้ กทม. และเคทีร่วมกัน จ่ายหนี้ให้กับบีทีเอส จำนวนประมาณ 11,755.06 ล้านบาท ทั้งในส่วนค่าเดินรถ และซ่อมบำรุง และ 2.หนี้ก้อนที่ 2 ส่วนค่าเดินรถ และซ่อมบำรุง ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้จ่ายหนี้เพิ่มอีก ประมาณ 11,068.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คนกรุงเลิกกลุ้มไม่ท่วม เคลียร์เชียงรายจบต.ค.
"นายกฯ อิ๊งค์" ตรวจเข้มสถานการณ์น้ำ ยันคนกรุงไม่ต้องกลุ้มใจ
'ชัชชาติ' ดันศูนย์ BKK Food Bank ครบ 50 เขต แบ่งปันอาหาร 2 ล้านมื้อถึงกลุ่มเปราะบาง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารอาหาร หรือศูนย์ BKK Food Bank แห่งที่ 50 โดยมี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นางสาวมธุรส เบนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสะพานสูง ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขตสะพานสูง
นายกฯ ตรวจศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม. เล็งลงพื้นที่ชุมชนเปราะบาง ยันไปตรวจสอบไม่ใช่จับผิด
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการป้องกันและรับมือน้ำท่วม โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า จริงๆแล้ววันนี้มาให้กำลังใจ เพราะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และหน้าฝนปีนี้มาเร็ว
ชัชชาติ ลุยกินเมนูปลาหมอคางดำ แนะคนกรุงจับมาทำอาหาร สั่งห้ามเลี้ยง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยเขียนแคปชั่นระบุว่า “เมนู ปลาหมอคางดำ” เผยภาพครัวที่กำลังทำอาหารเมนูปลาหมอคางดำ
นายกฯ ควงผู้ว่าฯกทม. ตรวจคลองโอ่งอ่าง ชุมชนวอนช่วยกระตุ้นท่องเที่ยวให้คึกคักอีกครั้ง
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ อาทิ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวันทนีย์ วัฒนะ