“ธปท.” กางผลงานแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 3/2566 รับภาพรวมสินเชื่อโตแผ่ว หลังภาคธุรกิจเร่งชำระคืนหนี้-เข้มปล่อยกู้เอสเอ็มอี กำไร 6.5 หมื่นล้านบาท ด้านหนี้เสียพุ่งแตะ 2.7% ประเมินทยอยผุดเพิ่ม แต่มั่นใจแบงก์บริหารจัดการได้
21 พ.ย. 2566 – นางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาพรวมผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2566 ว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์หดตัวเล็กน้อยที่ 0.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจหลังเร่งขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดใหญ่ในกลุ่มส่งออกและภาครัฐ รวมทั้งมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจยังขยายตัวได้ โดยหลักในธุรกิจกลุ่มโฮลดิ้ง และก่อสร้าง ขณะที่สินเชื่อรายย่อยขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกพอร์ตสินเชื่อ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขยายตัวชะลอลงที่ 2.4% สอดคล้องกับความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ชะลอลงในขณะนี้ และต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อบ้านโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ สินเชื่อบัตรเครดิต -16.2% สินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัว 2.8% และสินเชื่อรถยนต์ ขยายตัว 0.8%ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลงเล็กน้อยจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ
สำหรับภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 3/2566 พบว่า อยู่ที่4.94 แสนล้านบาท หรือ 2.7% เพิ่มขึ้น 2.3 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 2.67% โดยส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อรายย่อย ซึ่งธนาคารพาณิชย์ยังสามารถบริหารจัดการคุณภาพหนี้ได้อย่าต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อ Stage2 อยู่ที่5.85% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งในพอร์ตสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ที่ยังคงปรับเพิ่มสูงขึ้น
“ภาพรวมของสินเชื่อมีการหดตัวไตรมาส 3/2566 เป็นไตรมาสแรก แต่หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีมีการหดตัวมาแล้ว 5 ไตรมาส ส่วนหนี้เสียนั้น ยอมรับว่าอาจจะเริ่มเห็นค่อย ๆ ทยอยออกมาให้เห็นเพิ่มขึ้น แต่จะอยู่ในระดับที่ธนาคารยังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะมาตรการช่วยเหลือยังมีอยู่ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้” นางสาวอัจจนา กล่าว
นางสาวอัจจนา กล่าวอีกว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2566 ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากและ FIDF Free กลับสู่ระดับปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่ากำไรปรับตัวลดลง จากรายได้เงินปันผลที่ลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงฤดูกาล และกำไร FVTPL ที่ลดลงจากผลขาดทุนจากการขายตราสารอนุพันธ์เป็นสำคัญ
นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2/2566 ยังทรงตัวที่ระดับ 90.7% เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 2 ขยายตัวลดลงมาใกล้เคียงกับการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน ดังนั้นอาจยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของเอสเอ็มอีและครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ขณะที่ภาคธุรกิจสัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมทรงตัว โดยภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากกลุ่มเคมีภัณฑ์สวนทางกับกำไรในภาคการผลิตอื่น ขณะที่ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ 'คุณสู้ เราช่วย' เปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ ลงทะเบียน
รัฐบาล เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พร้อมเปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อลงทะเบียน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ
'ธีระชัย' ไขปมคุณสมบัติ 'กิตติรัตน์'
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)