17 พ.ย.2566 – กระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการ หลังจาก รมว.อุตสาหกรรม พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ก็เดินหน้าลุย มอบนโยบายเร่งด่วนทำทันทีภายใน 3 เดือน ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับอาชีพชุมชนสู่การผลิตที่มีมาตรฐาน และปรับวิถีการดำเนินงานเพื่อให้บริการผู้ประกอบการและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วด้วย One Stop Service รวมทั้งเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่ อุตสาหกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon Industry)
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานภายในกระทรวงเร่งหาแนวทางเพื่อ สนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ ให้เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นรายได้มวลรวมของประเทศ ผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมฮาลาลด้วย
นอกจากนี้ ยังมุ่งการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษขยายไปสู่ 4 ภาคของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจและให้เกิดความสะดวกกับนักลงทุนมากขึ้น พร้อมนี้จะเร่งพิจารณาหามาตรการเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายภายในประเทศ ทั้งมาตรการทางภาษี และการขยายจุดให้บริการชาร์จแบตเตอรี่สำหรับประชาชน
ขณะที่ การส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงโอกาสในการแข่งขัน โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทีมเข้าสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อรวบรวมจัดทำเป็นแผนนโยบายในลำดับต่อไป ทั้งนี้ ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคงจากต้นทุนในชุมชน และเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยก้าวข้ามประเทศกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ความมั่งคั่งในอนาคต รวมทั้งการส่งเสริมการเข้าถึงของผู้ประกอบการและประชาชน ด้วย One Stop Service เพื่อให้บริการได้อย่างทั่วถึงและแก้ข้อจำกัดได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้ทุกการดำเนินงาน มุ่งสู่เป้าหมายอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การวางระบบดูแล ควบคุม และกำจัดของเสียในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน การใช้พลังงานทางเลือกสู่การเป็นอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ (Bio Circular Economy) ซึ่งจะได้หารือเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon Industry)
และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. คือหนึ่งในหน่วยงานที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นองค์กรที่มุ่งดำเนินงานด้านการมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคและประเทศชาติ โดยทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาด้านมาตรฐานของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล การกำหนดมาตรฐานที่ตรงความต้องการและสอดคล้องกับแนวทางสากล
เร่งจัดทำมาตรฐาน
ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรม พิมพ์ภัทรา ระบุว่า ได้เร่งรัดให้ สมอ.จัดทำมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามนโยบายรัฐบาล และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะมาตรฐานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ เน้นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ AI ฮาลาล และ Soft power ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถนำเม็ดเงินมาสู่ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้เป็นอย่างดี โดยตั้งเป้าหมายไว้ 600 มาตรฐาน
ล่าสุดได้มอบหมายให้ วันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการ สมอ. เชิญ 8 สถาบันเครือข่ายมาประชุมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรฐานในปี 2567 ได้แก่ สถาบันอาหาร สถาบันพลาสติก สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันยานยนต์ และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ซึ่งเป็นหน่วยงานเครือข่ายที่มีภารกิจสนับสนุนการดำเนินงานด้านการมาตรฐานของ สมอ. ทั้งการจัดทำมาตรฐาน และการตรวจสอบคุณภาพของสินค้า โดย สมอ.ให้การยอมรับว่าหน่วยงานเหล่านี้สามารถกำหนดมาตรฐานได้ หรือที่เรียกว่า SDOs (Standards Developing Organizations)
เรียก 8 สถาบันถก
พร้อมทั้งมอบหมายนโยบายให้ SDOs ทั้ง 8 หน่วยงานเร่งรัดจัดทำมาตรฐานในปีนี้ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 100 เรื่อง เสริมเติมจากที่ สมอ. ได้วางแผนกำหนดมาตรฐานไว้แล้ว 600 เรื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทการกำหนดมาตรฐานระยะ 5 ปี ของ สมอ. (พ.ศ.2566-2570) ที่มีอยู่จำนวน 1,777 เรื่อง เพื่อรองรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่น มาตรฐาน EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ AI ฮาลาล และ Soft power
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สมอ. มี SDOs จำนวน 43 หน่วยงาน ที่มีศักยภาพสามารถกำหนดมาตรฐานเพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุม 81 สาขา เช่น สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สีและวาร์นิช วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ นาโนเทคโนโลยี ปิโตรเลียม ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ระบบการจัดการความเสี่ยง อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร การยศาสตร์ ความรับผิดชอบต่อสังคม ดิจิทัล ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม หนังและผลิตภัณฑ์หนัง ก๊าซธรรมชาติ แบตเตอรี่ การสื่อสารโทรคมนาคม ยานพาหนะไฟฟ้า เป็นต้น
“เบื้องต้น สถาบันยานยนต์จะเร่งจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยของยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์อื่นๆ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะเร่งทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber security) เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ที่พยายามขโมยข้อมูลสำคัญต่างๆ ของบุคคลหรือองค์กร เช่น บัญชีเงินฝาก ข้อมูลประจำตัว ข้อมูลด้านสุขภาพ หรือข้อมูลสำคัญขององค์กร เป็นต้น สถาบันสิ่งทอจะจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสิ่งทอและด้านการป้องกันไฟ เช่น ผ้าม่าน พรม ถุงมือกันบาด และถุงมือกันสารเคมี เป็นต้น ทั้งนี้ สมอ.จะรวบรวมรายชื่อมาตรฐานที่ SDOs จะดำเนินการจัดทำทั้งหมด เสนอบอร์ด สมอ. ให้ความเห็นชอบต่อไป” นายวันชัย กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ชัยชนะ' จี้ 'คค.-อก.' ต้องคุมเข้มมาตรฐานความปลอดภัย!
'ชัยชนะ' มองเหตุการณ์ไฟไหม้รถโรงเรียน 'คค.-อก.' ต้องสอบมาตรฐานให้ดีขึ้น บอก ทัศนศึกษา ไม่ใช่ต้นเหตุ แต่ต้องควบคุมยานพาหนะเยอะขึ้น