'สุริยะ' ฉายภาพ 'แลนด์บริดจ์' โรดโชว์สหรัฐฯ โชว์ข้อได้เปรียบเพียบ

“สุริยะ” ขึ้นเวที Roadshow สหรัฐฯ ฉายภาพ ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ โชว์ความได้เปรียบประเทศไทย พร้อมช่วยร่นระยะทาง-ประหยัดต้นทุน ก้าวสู่จุดศูนย์กลางของการขนส่งทางทะเลของภูมิภาค ชี้ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ได้ผลประโยชน์ด้านการเงินไม่น้อยกว่า 10% คืนทุนในปีที่ 24 เผยเบื้องต้นนักลงทุน “สหภาพยุโรป-ตะวันออกกลาง-จีน-ญี่ปุ่น” ให้ความสนใจ

16 พ.ย. 2566 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนาโครงการ “Thailand Landbridge Roadshow” พัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการผลิตและการขนส่ง จัดขึ้นโดยกระทรวงคมนาคม ณ ห้อง The Director ชั้น 3 โรงแรม Ritz-Carlton เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาว่า จากนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้ผลักดันให้เดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอข้อมูลโครงการฯ (Roadshow) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566-มกราคม 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย

สำหรับการ Roadshow ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการขนส่งทางทะเลของภูมิภาค และนำเสนอโอกาสในการลงทุนให้แก่นักธุรกิจที่สนใจที่จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในอนาคต โดยข้อมูลและข้อหารือของนักธุรกิจจากการทำ Roadshow จะนำไปสู่การพัฒนาโครงการฯและการพิจารณาในด้านการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่อไป ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอรายละเอียดโครงการไปแล้วนั้น พบว่า นักลงทุนในหลายประเทศมีความสนใจ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และตะวันออกกลาง เป็นต้น

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2568-2583 โดยจะมีการคัดเลือกเอกชนในรูปแบบการประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) สัญญาเดียว มีระยะเวลาสัญญาในการบริหาร 50 ปี ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่ง, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และทางรถไฟ ในส่วนของกลุ่มนักลงทุนนั้น จะต้องมีการรวมกลุ่มกันของทั้งผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการท่าเรือ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนด้านอุตสาหกรรม ซึ่งกฎหมายใหม่จะถูกร่างขึ้น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำหนดสิทธิพิเศษให้กับนักลงทุน

ทั้งนี้ ภายใต้ระยะเวลาสัญญา 50 ปี จากการประเมิน พบว่า นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ด้านการเงินไม่น้อยกว่า 10% โดยมีระยะเวลาคืนทุนที่ 24 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นการประเมินจากรายได้จากการบริหารท่าเรือ และขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนมีการพัฒนาเพิ่มเติมจากการอุตสาหกรรม และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยนั้น จะช่วยสร้างผลประโยชน์ด้านการเงิน และระยะเวลาคืนทุน จะดีกว่าการประเมินข้างต้นอย่างแน่นอน

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นเส้นทางการเดินเรือใหม่ของโลกและจะสามารถแก้ปัญหาของความล่าช้าในการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งโครงการนี้ จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับนักลงทุนในหลายภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ให้บริการท่าเรือ ผู้ให้บริการการขนส่ง นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรม นักลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ โดยทางหน่วยงานรัฐบาลไทย พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อให้โครงการแลนด์บริดจ์ ออกมาเป็นรูปธรรม ตามแผนที่วางไว้ในการพัฒนาโครงการในพื้นที่ภาคใต้
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของตำแหน่งที่ตั้งโครงการ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงข่ายด้านการคมนาคมของไทยที่ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง สามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจนถึงตอนใต้ของประเทศจีนได้อย่างสะดวก และจะนำไปสู่การเป็นประตูการค้าในการนำเข้าและส่งออกที่สำคัญของภูมิภาค

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ยังอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ที่ประกอบด้วย ท่าเรือฝั่งตะวันตกเปิดออกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย และท่าเรือฝั่งตะวันออกที่เปิดออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกโดยมีการเชื่อมต่อกันด้วยทางรถไฟ และมอเตอร์เวย์ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร (กม.) จึงทำให้แลนด์บริดจ์เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดที่จะเชื่อมโยงสองฝั่งมหาสมุทร

นอกจากนี้ จากปัญหาความหนาแน่นของการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา ที่เกิดจากการที่มีปริมาณเรือสินค้าจำนวนมากต้องเดินทางผ่านช่องแคบนี้ ซึ่งจำนวนของเรือเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี จากสัดส่วนความต้องการในการบริโภคของประชากร ด้วยข้อจำกัดของการรับปริมาณเรือผ่านช่องแคบนี้ ทำให้เรือสินค้าจะต้องรอคิวเป็นระยะเวลานานในการผ่านไปสู้จุดหมายปลายทาง โดยโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยลดทั้งระยะทาง ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย และด้วยระยะเวลาที่สั้นลง และราคาที่ถูกลง ดังนั้น จึงมองว่าจะมีเรือสินค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะเรือสินค้าขนาดกลางจะหันมาใช้โครงการแลนด์บริดจ์มากขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อการเพิ่มปริมาณสินค้าผ่านโครงการแลนด์บริดจ์อย่างมีนัยสำคัญ

“ด้วยรายละเอียดตามที่กล่าวข้างต้น เป็นเหตุให้เกิดการเชื่อมโยงของสินค้านำเข้าและส่งออกของประเทศที่อยู่รายรอบทั้งด้านตะวันตก และตะวันออก และเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดจนพื้นที่ตอนใต้ของไทย โดยกระทรวงคมนาคม จึงขอใช้โอกาสนี้ นำเสนอโอกาสในการเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผู้พัฒนาโครงการจากนักลงทุนทุกท่าน เพื่อความสำเร็จไปด้วยกัน“ นายสุริยะ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ชงครม.เคาะรถไฟสายสีส้มวันนี้ เตรียมลงนามสัญญา BEM คาดประชาชนได้ใช้ปี 71

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีกระทรวงคมนาค

‘สุริยะ’ สั่ง รฟม. ลงโทษ ’NBM‘ เหตุประตูรถไฟฟ้าเปิดกลางทางขู่ลงดาบแบล็กลิสต์

‘สุริยะ’เอาจริง มอบ รฟม. ส่งหนังสือถึง ‘NBM’ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู จ่อดำเนินการตามบทลงโทษขั้นสูงสุด หลังเกิดเหตุประตูขบวนรถเปิดกลางทาง ลั่นไม่สามารถประนีประนอมหรือต่อรองได้ ย่ำหากไม่ปรับปรุงจ่อลงดาบแบล็กลิสต์

นายกฯ ดันไทยสู่การเป็น Aviation Hub ภูมิภาค ตั้งเป้าติด TOP 20

นายกฯ ดันไทยสู่การเป็น Aviation Hub ภูมิภาค เผยสถิติ 8 เดือน มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินในไทย 81.05 ล้านคน คมนาคมตั้งเป้าผลักดันติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินระดับโลกในปี 72 รองรับผู้โดยสาร 210 ล้านคนในปี 77

'เจ๊มนพร' ยันเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบแลนด์บริดจ์แน่

'มนพร' บอก ไม่ทิ้ง ปชช. ที่รับผลกระทบจาก 'แลนด์บริดจ์' ยัน รัฐเยียวยาแน่ หลังเวรคืนที่ดิน ทั้งมี-ไม่มีเอกสารสิทธิ์อย่างเหมาะสม ชี้รับฟังมาทำเป็นมาตรการต่อไป

'สุริยะ' ปัด 'ทักษิณ' เสื่อม 'สว.สีน้ำเงิน' ยึดสภาสูง ไม่กระทบรัฐบาล

'สุริยะ' ปัด 'ทักษิณ' เสื่อมมนต์ขลัง ชี้ 'สมชาย' ร่วง สว. สะท้อน 'เพื่อไทย' ไม่ได้ยุ่งกระบวนการเลือก เชื่อไร้ผลกระทบอำนาจต่อรองในรัฐบาล