"เศรษฐา" ชูอีอีซียุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล กางแผน99วันลงมือทำจริงดูดเงินลงทุนทั่วโลกผ่าน5อุตฯเป้าหมาย

13 พ.ย. 2566 – หลังจากที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ชุดใหม่ ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานนั้น ก็เริ่มเห็นแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2566 ที่ผ่านมานั้นได้มีการประชุมบอร์ดครั้งที่ 1/2566 โดยมีผู้นำฝั่งรัฐบาลเข้าร่วมเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม

โดยจากการประชุมดังกล่าวทำให้เกิดแผนงานที่สำคัญอย่างมากที่จะผลักดันให้พื้นที่อีอีซีนั้นเกิดการเร่งเครื่องผ่านงานที่เร่งด่วน ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาร่างแผนดำเนินการในระยะ 1 ปี (ต.ค.66-ก.ย.67) และเป้าหมายการทำงานภายใน 99 วัน โดย นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้กล่าวถึงผลการประชุมดังกล่าวว่าเป้าหมายเร่งด่วนภายใน 99 วันที่จะลงมือทำจริงเพื่อดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 5 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์, ดิจิทัล, ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี), BCG และกลุ่มบริการ ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายหลักของรัฐบาลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติ

ทั้งนี้ เป้าหมายเร่งด่วนใน 99 วันของอีอีซีแบ่งออกเป็น 8 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านนโยบาย เดือน ธ.ค.2566 จัดทำแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2566-2570) ซึ่งจะเป็นกรอบดำเนินงานหลักของอีอีซี บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ในทุกมิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยแนวทางพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 2) เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 3) ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัย และเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ และ 5) เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน

2.ด้านการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน สร้างความพร้อมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยในเดือน ธ.ค. อีอีซีจะออกประกาศ กพอ. เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ครอบคลุมด้านภาษีและมิใช่ภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุน เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร สิทธิการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด รวมไปถึงการอนุญาตอยู่อาศัยในระยะยาวเป็นกรณีพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและทำงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ

3.ด้านการสร้างระบบนิเวศสำหรับการลงทุน เดือน ม.ค.2567 พัฒนาแหล่งระดมทุนอีอีซีรองรับการระดมทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศเป็นหลัก โดยเริ่มจากสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ให้ผู้ระดมทุนทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศที่ใช้เงินตราต่างประเทศมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสให้แก่บริษัทไทยที่ไปจดทะเบียนในต่างประเทศให้มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น และจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือทางการเงินที่แตกต่างให้กับผู้ลงทุนในตลาดได้

4.ด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จะได้ข้อยุติการเจรจาและแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินโครงการฯ ระหว่าง รฟท.และเอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน (บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด) ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ภายในเดือน ม.ค.67 เอกชนคู่สัญญาจะพร้อมเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการ 5.ด้านการจัดให้มีบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ในเดือน ธ.ค. จะยกระดับการให้บริการอนุมัติ อนุญาต จำนวน 44 รายการ ครอบคลุม 8 กฎหมายตาม พ.ร.บ.อีอีซี ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน การควบคุมอาคาร การจดทะเบียนเครื่องจักร การสาธารณสุข คนเข้าเมือง การจดทะเบียนพาณิชย์ โรงงาน และการจัดสรรที่ดิน

6.ด้านการพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงเดือน ต.ค.66 ได้จัดตั้งศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ มีพื้นที่พัฒนาระยะที่ 1 ประมาณ 5,795 ไร่ จากพื้นที่รวมทั้งโครงการประมาณ 14,619 ไร่ ทั้งนี้การจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ดิจิทัล การบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น

และในเดือน ม.ค.67 จะทำการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ยกระดับบริการสาธารณสุขในพื้นที่อุตสาหกรรมปลวกแดง (EEChc) เป็นการลงทุนโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่ อ.ปลวกแดงได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทันการ สะดวก ปลอดภัยและมีคุณภาพ ลดการเดินทางไปรักษาพยาบาลนอกพื้นที่

7.ด้านการเริ่มต้นการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เดือน ธ.ค. เกิดการลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล EECd ได้แก่ บริษัท CtrlS Datacenter ผู้ประกอบการชั้นนำระดับโลกจากประเทศอินเดีย เช่าพื้นที่ 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี เพื่อลงทุนศูนย์ธุรกิจข้อมูล มูลค่าโครงการรวมกว่า 4,500 ล้านบาท ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เช่าพื้นที่ 5 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี ลงทุนประกอบกิจการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Charging Station ให้บริการรองรับรถขนส่งขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมระบบโลจิสติกส์การขนส่งในพื้นที่ EEC และบริษัท ALBA จากประเทศเยอรมนี มีความประสงค์เช่าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการต้นแบบ

8.ด้านการสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่และชุมชน เดือน ธ.ค. จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกิจการเพื่อสังคมในพื้นที่อีอีซี ให้ได้รับการรับรองเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ (EEC Select) สนับสนุนการสร้างแนวคิดเชิงธุรกิจอย่างเป็นระบบ ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น และในเดือน ม.ค.67 จัดตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี EEC ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อเป็นศูนย์การสร้างความเข้าใจและประโยชน์อีอีซี รวมไปถึงการขยายผลโครงการเยาวชน อีอีซี สแควร์ สร้างโอกาสให้เยาวชนได้ต่อยอดแนวคิด คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน

จากแผนการดำเนินงานทั้ง 8 ด้านนั้น มีหลายด้านเริ่มเห็นการขยับขยายการทำงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ชลบุรีและ จ.ระยอง ว่า อีอีซีถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีการดำริว่าจะทำกันมานานแล้ว และจะทำต่อไป เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสุดในการที่จะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลนี้ได้ แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นให้แก้ไข และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่มาก จึงทำให้เกิดการล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานสะอาด เรื่องระบบราง เรื่องท่าเรือ สนามบิน หลายเรื่องนี้ต้องอาศัยการแก้ไขแบบบูรณาการจริงๆ

ทั้งนี้ จึงได้ตั้งคณะกรรมการ Ease of Doing Business in EEC ซึ่งจะเป็นคณะทำงานย่อยเพื่อดูแลการเจรจาและปัญหาปลีกย่อยต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้แก้ไขง่ายขึ้น ทะลุทะลวงอุปสรรค เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และถือเป็นคณะทำงานเล็กๆ มีไม่ถึง 10 คน เพราะจะได้สามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาไปได้อย่างรวดเร็ว และจากการรับฟังผู้บริหาร ภาคเอกชนต่างๆ มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะเป็นแหล่งลงทุนแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกในการผลิตรถไฟฟ้า และอีกหลายๆ ธุรกิจ เพื่อที่จะไปพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติได้อย่างเต็มปากว่า ภายในเวลาไม่กี่เดือนนี้ไทยสามารถทำอะไรได้เยอะมาก

ด้าน นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า พื้นที่อีอีซีในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.66) มีการขอรับการส่งเสริมมากที่สุด จำนวน 552 โครงการ เงินลงทุน 231,660 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน รองลงมาเป็นพื้นที่ภาคกลาง มูลค่าเงินลงทุน 135,894 ล้านบาท

นายจุฬา กล่าวว่า สกพอ.ทำหน้าที่หลักในการดึงเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ (FDI) เข้ามาในไทย นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการกระจายเงินลงทุนไปสู่ชุมชนและเชื่อมโยงไปสู่ผู้ประกอบการและซัพพลายในประเทศ และที่ผ่านมาโครงการที่เข้ามาขออนุมัติส่งเสริมลงทุนบีโอไอ บางโครงการมีเม็ดเงินลงทุนจริงในระบบน้อยกว่าที่ขอส่งเสริม หรือบางกรณีก็มีความล่าช้าในการลงทุน ดังนั้นต่อจากนี้ สกพอ.จึงได้เตรียมออกกฎหมายลูกเพื่อออกแบบมาตรการจูงใจนักลงทุนแบบตัดสูท (Tailor-made) โดยพิจารณาเป็นรายโครงการ และเจรจากับนักลงทุนที่พร้อมแลกเปลี่ยนตามเงื่อนไขที่กำหนด อาทิ เปิดให้คนไทยถือหุ้น 20%

โดยคณะทำงานเล็กด้านกฎหมายจะทยอยนำกฎหมายลูก เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กพอ. ที่จะประชุมตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า กพอ.จะทยอยออกกฎหมายลูกที่จะให้มาตรการและสิทธิประโยชน์นักลงทุน โดยเป็นการเก็บแต้ม ยิ่งทำมากจะได้สิทธิประโยชน์มาก เช่น การมีผู้ประกอบการในประเทศส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนการผลิตในไทย

อย่างไรก็ตาม พื้นที่โครงการอีอีซีนั้นถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างมากของประเทศไทย และมีหลายฝ่ายให้ความสนใจ รวมถึงเกิดแผนการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ มากมาย อย่างเช่น การดำเนินงานศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTIC) ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ไปสู่การนำไปใช้งานจริงในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของ ปตท.สผ. รวมทั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

และล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง PTIC โดยมีนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เฝ้าฯ รับเสด็จ และถวายรายงานความก้าวหน้าโครงการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ ปตท.สผ.และพันธมิตรได้จัดแสดงในครั้งนี้ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท 3 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ด้านที่ 2 เทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ เช่น เทคโนโลยีเพื่อนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ประโยชน์ โดยเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าหรือวัสดุเพื่ออนาคต รวมทั้งโครงการภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต และด้านที่ 3 เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและธุรกิจใหม่ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ เทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากคลื่นทะเล และการจัดตั้งสนามทดลองและทดสอบเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อต่อยอดไปสู่การนำไปใช้จริง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิชัย' ชวนนักธุรกิจ นักลงทุน สหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี - แลนด์บริดจ์

'พิชัย' เปิดเวทีชวนนักธุรกิจ นักลงทุนสหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี แลนด์บริดจ์ พร้อมเจรจาปักหมุดให้ไทยอยู่ในโฟกัสชาวโลก