รฟท. เร่งทางคู่สายใหม่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ ลุ้นเปิดใช้ปี 71 ปิดตำนาน 60 ปี ที่รอคอย

‘การรถไฟฯ’เร่งสร้างทางคู่สายใหม่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’มูลค่า 8.5 หมื่นล้าน คืบหน้า 3% เดินหน้าเวนคืนที่ดินครบ 100% ก.พ. 67 ส่วน ‘อุโมงค์แม่กา’เชื่อม 2 จังหวัด เสร็จแล้ว 17.8% คาดทั้งโครงการเสร็จพร้อมเปิดใช้ในปี 71 จุดพลุ 60 ปีที่รอคอย เชื่อมต่อการเดินทาง ลดต้นทุนโลจิสติกส์ หนุนการท่องเที่ยว

10 พ.ย.2566 – นายนิรุฒ มณีพันธุ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่และติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์แม่กา จ.พะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่เส้นทางสายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 85,345 ล้านบาทว่า อุโมงค์แม่กา มีระยะทาง 2.7 กม. เป็น 1 ใน 4 อุโมงค์ของโครงการฯ ซึ่งอยู่ในสัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะเวลาสัญญา 45 เดือน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 8 เดือน มีความคืบหน้า 17.8% หรือแล้วเสร็จ 964 เมตร ทั้งนี้ รฟท. ได้ปรับแผนการดำเนินการ โดยจะหล่อผนังอุโมงค์คู่ขนาน เพื่อให้โครงการไม่ล่าช้า และเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

สำหรับอุโมงค์แม่กา มีขนาดความกว้าง 7.4 เมตร และความสูง 7.341 เมตร ภายในอุโมงค์เสริมความแข็งแรงและเสริมเสถียรภาพของผนังหินหรือดินด้วยการติดตั้งค้ำยัน โดยอุโมงค์ดังกล่าว มีความพิเศษ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.เป็นอุโมงค์วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ คาบเกี่ยว 2 จังหวัด คือ ลำปาง และพะเยา 2.มีขั้นตอนและวิธีการขุดเจาะอุโมงค์ทางด้านเหนือและด้านใต้แตกต่างกัน คือ ด้านใต้ พื้นที่ จ.ลำปาง ลักษณะธรณีวิทยาเป็นหินแข็ง ใช้วิธีขุดเจาะโดยการระเบิดหิน ส่วนด้านเหนือ พื้นที่ จ.พะเยา ลักษณะธรณีวิทยาเป็นดิน ใช้วิธีขุดเจาะโดยการใช้เทคโนโลยีหัวขุด Drum Cutter

ทั้งนี้ อุโมงค์แม่กา มีการออกแบบด้านความปลอดภัย เพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหว หรือน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน มีจุดอพยพตลอดเส้นทางรวม 11 จุด ระยะห่างแต่ละจุดประมาณ 240 เมตร ซึ่งในกรณีมีเหตุฉุกเฉินภายในอุโมงค์นั้น จะมีรถไฟวิ่งคู่ขนานกับอุโมงค์ด้านข้าง ไปยังจุดเกิดเหตุ และจุดอพยพที่ได้ก่อสร้างเชื่อมต่อกันไว้แล้ว ก่อนจะรับ-ส่งต่อไปยังจุดรวมพลต่อไป

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่เส้นทางสายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของนั้น ปัจจุบันมีคืบหน้า 3.01% จากแผนสะสม 2.72% หรือเร็วกว่าแผน 0.28% ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาการเวนคืนที่ดิน มูลค่า 10,600 ล้านบาท พร้อมทั้งขอใช้พื้นที่ส่วนของกรมธนารักษ์ และสำนักงานสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยขณะนี้ รฟท.ได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินไปแล้วกว่า 80% จากทั้งหมด 7,500 แปลง และครบ 100% ภายใน ก.พ. 2567 อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2571

สำหรับโครงการดังกล่าว แบ่งการก่อสร้างงานโยธาเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103.70 กม. มูลค่างานก่อสร้าง 26,560 ล้านบาท ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสม 1.92% จากแผนงานสะสม 1.47% หรือเร็วกว่าแผนงาน 0.45%, สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132.30 กม. มูลค่างานก่อสร้าง 26,890 ล้านบาท ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสม 4.39% จากแผนงานสะสม 3.64% หรือเร็วกว่าแผนงาน 0.74% และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทางโครงการ 87.10 กม. มูลค่างานก่อสร้าง 9,385 ล้านบาท ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสม 2.60% จากแผนงานสะสม 3.16% หรือช้ากว่าแผนงาน 0.56%

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่สำคัญที่ประชาชนในพื้นที่รอคอยมากว่า 60 ปี โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1-1.30 ชั่วโมง (ชม.) เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางตัดผ่าน ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

นอกจากนี้ เชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน และเปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือ เพิ่มช่องทางในการส่งออกสินค้าจากไทยและสร้างโอกาสที่ดีต่อการค้าการลงทุนของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังเป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพสวยงามของธรรมชาติตลอดทาง โดยรถไฟจะแล่นผ่านเทือกเขา สะพาน สลับกับลอดอุโมงค์ สามารถสร้างความประทับใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวเดิม และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ด้วย

สำหรับรถไฟทางคู่สายใหม่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม.นั้น เส้นทางผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย ซึ่งอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จำนวน 3 จังหวัด (ยกเว้น จ.ลำปาง) 17 อำเภอ 59 ตำบล มีสถานีและที่หยุดรถไฟรวม 26 แห่ง มีย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) จำนวน 4 แห่ง ที่สถานีแพร่ สถานีพะเยา สถานีป่าแดด และสถานีเชียงราย และมีลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์เชื่อมต่อกับศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อีก 1 แห่ง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'มท.2' ควงอธิบดีที่ดิน ลงพื้นที่เขากระโดง พิสูจน์ปมพิพาทกับ รฟท.

'มท.2' ควงอธิบดีกรมที่ดิน ลงพื้นที่เขากระโดง พิสูจน์ปมพิพาทที่ดิน รฟท. ชาวบ้าน 2 ตำบล โชว์เอกสารสิทธินส.3 หลักฐานยันอาศัยอยู่ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย เรียกร้องความยุติธรรม

บอร์ด รฟท. เคาะจัดซื้อรถโดยสาร 182 คัน ปักหมุดใช้ล็อตแรกพ.ค.71

บอร์ด รฟท. เคาะจัดซื้อรถโดยสาร 182 ตู้ 14 ขบวน 1.05 หมื่นล้าน อัพเกรดชั้น 3 ติดแอร์ขบวนแรกในไทย หวังนำมาวิ่งทดแทนรถเก่าใช้งานมากว่า 50 ปี วิ่งให้บริการ 5 เส้นทาง ชี้เป็นรถชั้น 3 แอร์ชุดแรก เล็ง เสนอ ครม. ขอกู้เงิน มี.ค.ปีหน้า ปักธงรับมอบขบวนรถล็อต 2 ขบวน พ.ค.71  

'สุริยะ' ย้ำที่เขากระโดงเป็นของรฟท. ส่วนที่ดินอัลไพน์ ยันไม่ผิดกฎหมาย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าภายหลังการรถไฟ