บีโอไอเผย 9 เดือน ยอดขอรับส่งเสริมทะลุ 5 แสนล้านบาท ตอกย้ำนักลงทุนเชื่อมั่นไทยฐานผลิตสำคัญของอาเซียน ด้านบอร์ดเคาะมาตรการยกระดับอุตฯยานยนต์ ยกเว้นภาษี 3 ปี สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีใหม่
10 พ.ย. 2566 – นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 ว่าตัวเลขคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ย. 2566) มีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,555 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31% และมูลค่าเงินลงทุน 516,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดรับการลงทุนครั้งใหญ่ รวมทั้งการประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี ที่มีเป้าหมายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจใหม่เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนมากขึ้น
“ตัวเลขการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีทิศทางที่ดี ทั้งการขอรับการส่งเสริมการลงทุน และการออกบัตรส่งเสริม ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง รวมทั้งศักยภาพการเติบโตระยะยาวของไทย เห็นได้จากกลุ่มทุนต่างชาติหลายรายยังเดินหน้าลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บริษัท ซัมซุง, เคียวเซร่า เอวีเอ็กซ์, แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักส์, โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์, โซนี่ เทคโนโลยี และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยผู้ผลิต 3 รายล่าสุดที่เพิ่งได้รับอนุมัติเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ ฉางอัน, ไอออน และโฟตอน บริษัทเหล่านี้ให้ความเชื่อมั่นและเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในอาเซียน” นายนฤตม์ กล่าว
นอกจากนี้ ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ และประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ จำนวน 93 โครงการ เงินลงทุน 2,582 ล้านบาท โดยมีบริษัทต่างชาติรายใหญ่เข้ามาลงทุนในกิจการนี้หลายราย เช่น บริษัท เสียวหมี่ เทคโนโลยี จำกัด จากประเทศจีน บริษัท อีคอร์เนส จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนอร์ดิก เป็นต้น
“สำหรับประโยชน์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี ใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี และสร้างงานกว่า 1 แสนตำแหน่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และอาหารแปรรูป ซึ่งจะเป็นสาขาที่มีการจ้างงานมากที่สุด” นายนฤตม์ กล่าว
นายนฤตม์ กล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์นำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับการผลิตรถยนต์ ทั้งแบบสันดาปภายใน ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ครอบคลุมทั้งกิจการเดิมและการลงทุนใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และในกรณีที่โครงการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในวงเงิน 100% ของเงินลงทุนในระบบดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บอร์ดอีวี เคาะมาตรการหนุนภาษีรถ HEV – MHEV
บอร์ดอีวีเคาะมาตรการลดภาษีหนุน HEV – MHEV เปลี่ยนผ่านฐานผลิตรถยนต์ไทยสู่อนาคต ด้านบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ดันเป้าการลงทุน 5 แสนล้าน ใน 5 ปี
รัฐบาลฟุ้งต่างชาติแห่ลงทุนกิจการดาต้าเซ็นเตอร์ต่อเนื่อง
'ศศิกานต์' เผยต่างชาติเชื่อมั่น ลงทุนในกิจการ Data Center ในประเทศไทยต่อเนื่อง ล่าสุด BOI ไฟเขียว 2 โครงการใหญ่ มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท
'แพทองธาร' ปลื้มยอดขอการลงทุนสูงสุดในรอบ 10 ปี!
'แพทองธาร' ขอบคุณนักธุรกิจโลกมั่นใจไทย หลังยอดขอการลงทุนปีนี้สูงสุดในรอบ 10 ปี กำชับกระทรวงเศรษฐกิจ เร่งกระตุ้น พร้อมส่งเสริมการลงทุนสร้างเศรษฐกิจไทยให้กลับมาคึกคัก