สมาคมประกันวินาศภัยไทย ย้ำชัดธุรกิจประกันวินาศภัยมีมาตรการเข้มข้นในการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล
9 พ.ย. 2566 – นายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ได้แถลงข่าวจับกุมโบรกเกอร์ของบริษัทประกันภัยหลังลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่ทำประกันภัย และข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ นับล้านรายชื่อไปขายให้กับกลุ่มมิจฉาชีพนำไปใช้หลอกลวงนั้น
จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ขอชี้แจงว่า ภาคธุรกิจประกันวินาศภัย และบริษัทประกันวินาศภัยแต่ละแห่งนั้นมีการกำหนดมาตรการเข้มข้น มีระบบในการป้องกันและรักษาข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้เกิดการรั่วไหล มีการประกาศนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัท (Privacy Notice) ที่เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลและบริหารจัดการการประมวลผลข้อมูลให้ถูกต้องตามมาตรฐานที่ระบุไว้โดยหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อให้พนักงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องของบริษัทยึดถือและปฏิบัติตามให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
ดังนั้นการกระทำของนายหน้าหรือโบรกเกอร์ตามที่เป็นข่าวนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่ทำประกันภัยเป็นจำนวนหลายล้านรายออกไปได้โดยง่าย เพราะบริษัทประกันภัยนั้นให้ความสำคัญอย่างสูงสุดกับเรื่องระบบความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และบริษัทประกันภัยยังมีหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งมีความเข้มงวดและมีอัตราโทษที่รุนแรงอีกด้วย อีกทั้งผู้กระทำความผิดรายนี้เป็นเพียงนายหน้าประเภทบุคคลธรรมดาที่มีการขายประกันให้กับลูกค้าไปเพียง 10 กว่ารายเท่านั้นซึ่งทางสำนักงาน คปภ. ก็ได้มีการเพิกถอนใบอนุญาตฯ ไปแล้ว
ทั้งนี้ สมาคมฯ มีการจัดทำแนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน (PDPA Guideline for Non-life Insurance Industry) เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจให้บริษัทสมาชิกทุกบริษัท ซึ่งแนวปฏิบัติฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจประกันวินาศภัยไทยรวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และช่วยให้ธุรกิจประกันวินาศภัยสามารถปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมให้กับบริษัทสมาชิกเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวได้อย่างถูกต้องเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและประชาชน เพราะธุรกิจประกันวินาศภัยถือเป็นธุรกิจที่ให้บริการทางการเงินซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การพิจารณารับประกันภัย การบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนไปจนถึงการประกันภัยต่อ การดำเนินการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล จึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สมาคมประกันวินาศภัยฯ เตือนอย่าแชร์ข้อมูลเท็จรายชื่อบริษัทประกันรถที่ถูก Black List
นายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความเท็จเกี่ยวกับรายชื่อบริษัทประกัน (รถยนต์) ที่ถูก Black List ซึ่งเป็นข้อความเก่าที่ยังคงมีผู้หลงเชื่อนำกลับมาเผยแพร่และแชร์ต่อกันทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง
รถอีวีหนุนธุรกิจประกันวินาศภัยโต 5% คาดปีหน้าเบี้ยทะลุ 3 แสนล้าน
สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย รวม 3 ไตรมาส (มกราคม-กันยายน) ของปี 2566 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 210,141 ล้านบาท เติบโตรวม 5.2% โดยประมาณการทั้งปี 2566 คาดว่าจะเติบโต 4.0%-5.0% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 285,080-287,800 ล้านบาท และคาดการณ์แนวโน้มปี 2567 จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 301,050-303,900 ล้านบาท เติบโต 5.0%-6.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการประกันภัยรถไฟฟ้า (EV) การประกันภัยสุขภาพ และการประกันภัยการเดินทางที่มีผลมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
ข่าวปลอมอย่าแชร์ 'รายชื่อ Blacklist บริษัทประกัน (รถยนต์)'
สมาคมประกันวินาศภัยไทย ขอย้ำอย่าแชร์ “รายชื่อ Blacklist บริษัทประกัน (รถยนต์)” ข้อความเท็จกลับมาระบาดในโซเชียล