'ดร.วินัย' แนะรัฐบาลเศรษฐาหลังไอเดียบรรเจิดเรื่องอาหารฮาลาล บอกควรเป็นกรมผลิตภัณฑ์ฮาลาล หรือกรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพราะฮาลาลมีมากกว่าเรื่องอาหารและมูลค่ามาก
09 พ.ย.2566 - ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผอ.ศวฮ.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “กรมใหม่ในกระทรวงอุตสาหกรรมเป็น “กรมผลิตภัณฑ์ฮาลาล” จะดีกว่าไหม” ระบุว่า วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2566 นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่ารัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของอาหารฮาลาลในทางเศรษฐกิจซึ่งสามารถส่งออกไปในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมสูง อย่างแอฟริกา ตะวันออกกลาง จึงประสงค์จะยกระดับงานนี้ให้ขึ้นเป็นกรม ทำนองว่าจะจัดตั้งเป็นกรมอาหารฮาลาล หรือกรมฮาลาลในกระทรวงอุตสาหกรรม งานนี้หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นผลงานชนิดจับต้องได้ชิ้นแรกๆของรัฐบาลชุดนี้ สังคมจะมีปฏิกิริยาตอบสนองเช่นไร รัฐบาลก็ต้องบริหารจัดการให้เป็นเรื่องเชิงบวกให้ได้
ในฐานะที่ทำงานด้านฮาลาลโดยดูแล “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (ศวฮ.จฬ.) ซึ่งเป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 ได้รับรางวัลจากรัฐบาลมาเลเซียใน พ.ศ.2549 ในฐานะหน่วยงานแรกในโลกด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล ทั้งยังเกี่ยวข้องกับอีกสามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ มติวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2558 ด้านการพัฒนาระบบ Thailand Diamond Halal มติวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2562 พัฒนาระบบ Thailand Halal Blockchain มติวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2566 ขับเคลื่อนงาน Halal SMEs และพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลสนับสนุนงานการท่องเที่ยวมุสลิม มีประสบการณ์ด้านข้อมูลฮาลาลมายาวนานจึงขอออกความเห็นถึงรัฐบาลสักหน่อย
ประการแรก ศักยภาพของผลิตภัณฑ์ฮาลาลไม่ได้นับเฉพาะผู้บริโภคมุสลิมซึ่งมีอยู่ประมาณสองพันล้านคนหรือหนึ่งในสี่ของประชากรโลก ศักยภาพของฮาลาลครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับประชากรโลกที่ไม่ใช่มุสลิมอีก 4,900 ล้านคน รวมเป็น 6,900 ล้านคนหรือ 88% ของประชากรโลก จะเป็นไปได้เช่นนั้นหรือไม่ก็ขึ้นกับวิธีบริหารจัดการ ประเทศอย่างบราซิล ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฯลฯ แม้มิใช่ประเทศมุสลิมพากันกำหนดยุทธศาสตร์ด้านนี้กันไปแล้ว นั่นคือการมุ่งไปยังตลาดฮาลาลที่ไม่ใช่มุสลิม
ประการที่สองคือผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food products) เป็นต้นว่า ผลิตภัณฑ์ครัวเรือน แฟชั่น คอสเมติกส์ ผลิตภัณฑ์ยาและการแพทย์ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ มีมูลค่าสูงถึง 76.4% ของมูลค่าเศรษฐกิจฮาลาลทั้งหมดหรือมีมูลค่า 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรมีมูลค่า 1.3 ล้านล้านเหรียญต่อปี กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลผลิตภัณฑ์ครอบคลุมกว้างขวางทั้งอาหารและมิใช่อาหารหากจะดำเนินการสมควรจัดตั้งเป็น “กรมผลิตภัณฑ์ฮาลาล” หรือ “กรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาล” ซึ่งเป็นพันธกิจของกระทรวงอย่างชัดเจน ในส่วนมติคณะรัฐมนตรีในอดีตที่เกี่ยวข้องกับ ศวฮ.จฬ.บางมติมาจากกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งประสงค์ให้ ศวฮ.จฬ.พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้อุตสาหกรรมฮาลาลแข่งขันในตลาดโลกได้ เป็นส่วนที่ ศวฮ.จฬ.เดินหน้าพัฒนาไปแล้ว ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลสามารถนำผลงานของ ศวฮ.จฬ.ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย
'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท
'สมศักดิ์' เชื่อไม่ซ้ำรอยรัฐบาลเศรษฐา โยนฝ่ายกฎหมายแจง 6 ประเด็นคำร้องยุบพท.
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว. สาธารณสุข ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ประเด็นทางการเมืองในขณะนี้โดยเฉพาะกรณีนายธีรยุทธ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยวินิจฉัยยุบพรรคเพื่อไทย(พท.)
ย้อน ลมปาก 'ณัฐวุฒิ' ประกาศทิ้ง 'เพื่อไทย' อยู่ด้วยไม่ได้กับพรรค 2 ลุง
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Live “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ”