’คมนาคม’ ถกเยอรมันสนใจร่วมลงทุนแลนด์บริดจ์

‘คมนาคม’เนื้อหอม เยอรมัน สนลงทุนแลนด์บริดจ์ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ทูตรับปากพร้อมชงรัฐบาล-ชวนไทยโรดโชว์ดึงเอกชนร่วมลงทุน จ่อเตรียม PPP ร่วม ทอท. เดินหน้าให้บริการภาคพื้น-ครัวการบิน

8 พ.ย.2566-นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลัง นายแอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเชิล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยและคณะเข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่ง โดยเยอรมันให้ความสนใจโครงการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนาดใหญ่ประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (แลนด์บริดจ์) เนื่องจากเห็นว่า เป็นโครงการที่สามารถดึงนักลงทุนเข้ามาร่วมได้ หลังจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ จะนำเรื่องไปแจ้งให้รัฐบาลเยอรมันทราบถึงรายละเอียดโครงการดังกล่าว เพื่อเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุน ในลักษณะร่วมมือกับบริษัทเดินเรือ ดังนั้นไทยจึงมีแผนจะเดินสายประชาสัมพันธ์โครงการ (โรดโชว์) ไปยังประเทศเยอรมันด้วย

นอกจากนี้เยอรมันยังให้ความสนใจลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนจากประเทศเยอรมันได้เข้าร่วมโครงการรถไฟฟ้าก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินของไทยอยู่แล้ว จึงให้ความสนใจที่เข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ขณะเดียวกันเยอรมันให้ความสนใจร่วมลงทุน (PPP) อาทิ บริษัท ลุฟท์ฮันซ่า สายการบินเยอรมัน จำกัด และ บริษัท แอลเอสจี สกายเชฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาร่วมลงทุนการให้บริการภาคพื้นและครัวการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เนื่องจากทั้ง 2 บริษัท มีประสบการณ์เกี่ยวกับการให้บริการภาคพื้นและครัวการบินอยู่แล้ว

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ยังได้หารือถึงโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งและการขนส่งอย่างยั่งยืนอีกหลายโครงการ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีกรอบแนวทางพัฒนาด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น Green Transport เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และ PM 2.5 เน้นย้ำให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในระบบการเดินทางและขนส่งทั้งในรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือโดยสารและระบบการขนส่งต่างๆ รวมทั้งการบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการจราจร

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า ความคืบหน้าการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EHIA) และเตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนกลุ่มย่อยที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง ช่วงเดือน ธ.ค.2566 จากนั้นจะประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 เพื่อสรุปผลการศึกษา ช่วงเดือน มี.ค.2567 จากนั้นนำความคิดเห็นมาประกอบผลการศึกษา และ คาดจะสรุปผลการศึกษาเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการช่วงปลายปี 2567

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่เดือน พ.ย.2566-เดือน ม.ค.2567 ไม่ว่าจะเป็น ประเทศสหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดูไบ ซาอุดิอาระเบีย ประเทศกลุ่มยุโปร อาทิ เยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศในกลุ่มเชียตะวันออก อาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยประเทศต่างๆ เป็นประเทศที่มีเงินทุน มีเทคโนโลยี และผู้ประกอบการสายการเดินเรือขนาดใหญ่ ในการเข้ามาร่วมลงทุนและบริหารจัดการสายการเดินเรือ-ท่าเรือ รวมทั้งมีบางประเทศ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่พยายามรูปอแบบธุรกิจ โดยนำเงินจากธุรกิจน้ำมันมาลงทุนในธุรกิจอื่นๆ

อย่างไรก็ตามหลังจากโรดโชว์เสร็จแล้ว กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเดือน เม.ย.-มิ.ย.2568 จากนั้นจะเสนอ ครม.เห็นชอบรายชื่อผู้ชนะการประมูลในโครงการภายในเดือน ส.ค.2568 และให้เอกชนที่ชนะการประมูลเริ่มก่อสร้างในเดือน ก.ย.2568 โดยโครงการนี้จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือน ต.ค.2573

สำหรับผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ เบื้องต้นจะใช้วงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท, โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท, โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) รวม 1.4 แสนล้านบาท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ชงครม.เคาะรถไฟสายสีส้มวันนี้ เตรียมลงนามสัญญา BEM คาดประชาชนได้ใช้ปี 71

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีกระทรวงคมนาค

รมว.คมนาคมโอ่ DP World สนใจสารพัดโครงการโลจิสติกส์ไทย

'สุริยะ' เผย 'DP World' เตรียมเสนอแผนระบบโลจิสติกส์ ราง-น้ำ ยกระดับทั้งประเทศ เชื่อมโยงภูมิภาค ภายใน 3-4 เดือนนี้ ชี้ 'แลนด์บริดจ์' เป็นแค่ส่วนหนึ่ง