ย้อนปมอ้อยน้ำตาลระอุ ชาวไร่ท้วงอุตฯ-พาณิชย์เร่งหาข้อสรุป

6 พ.ย. 2566 – ในช่วงที่ผ่านมา ข่าวที่ร้อนแรงจนแทบจะทำให้ไร่อ้อย-น้ำตาลลุกไหม้คงหนีไม่พ้นเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่ เพื่อใช้กำหนดเป็นตัวคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2566/2567 โดยเป็นการประกาศเพิ่มขึ้นอีก 4 บาท จากปัจจุบันที่ราคาน้ำตาลทรายขาว “หน้าโรงงาน” อยู่ที่ 19 บาท/กิโลกรัม (กก.) ให้กลายเป็น 23 บาท/กก. และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 20 บาท/กก. เป็น 24 บาท/กก. โดยการประกาศขึ้นครั้งนี้ทาง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ออกประกาศอย่างชัดเจน และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.2566

จากเหตุที่มีการประเมินกันว่าราคาน้ำตาลในประเทศนั้นถูกปล่อยให้ลอยตัวมาสักพักใหญ่แล้ว กลุ่มผู้ที่ได้ผลประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องนี้คือกลุ่มโรงงานน้ำตาล ส่วนชาวไร่อ้อยนั้นต้องคอยแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาขายน้ำตาลนั้นไม่เพิ่มตาม อีกส่วนหนึ่งก็กล่าวถึงการขึ้นราคาน้ำตาลทรายครั้งนี้ก็เพื่อนำเงินครึ่งหนึ่งของการขึ้นราคาก็คือ 2 บาทไปอุดหนุนชาวไร่อ้อย และไม่ให้เสียเปรียบจากการราคาขายจริงที่มีการจำหน่ายในท้องตลาดได้ปรับเพิ่มไปแล้ว ส่วนอีก 2 บาทนั้น ตามที่ สอน.ได้แจ้งไว้ก็คือ จะนำเข้ามาเก็บไว้ยังกองทุนน้ำตาลทราย (กท.) เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมตัดอ้อยสดเพื่อลดการพึ่งงบประมาณจากรัฐที่ต้องใช้เงินเพิ่มค่าอ้อยตันละ 120 บาท หรือคิดเป็นวงเงิน 7,000-8,000 ล้านบาทในระยะต่อไป

แน่นอนว่า การดำเนินงานดังกล่าวนั้นมีหลายส่วนมองว่าอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดและส่งผลให้ตลาดน้ำตาลนั้นเกิดความวุ่นวาย แม้ว่าเจตนาของ สอน.คือการแบ่งเบาภาระของชาวไร่อ้อยก็ตาม แต่อาจจะเป็นการผลักภาระไปที่ประชาชนผู้บริโภคน้ำตาล เนื่องจากการขึ้นราคาหน้าโรงงานนั้นเป็นหนึ่งในตัวปั่นให้ราคาขายปลีกขยับตามไปด้วย รวมถึงอีกหนึ่งส่วนคือ อาจจะเป็นการผลักดันให้การเกิดการลักลอบนำน้ำตาลทรายที่จะต้องขายในประเทศไปขายต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่ราคาน้ำตาลสูงกว่าไทยอีกด้วย และจะสนับสนุนให้ปริมาณน้ำตาลทรายที่จะขายในประเทศนั้นเกิดการขาดแคลน จึงทำให้แผนงานครั้งนี้ถูกจับตามองจนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

โดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า ได้เรียกประชุมคณะกรรมการชุดนี้เป็นการเร่งด่วน และได้พิจารณากำหนดให้สินค้าน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เพื่อป้องกันผลกระทบกับประชาชน และทุกภาคส่วนที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ ทั้งสินค้ากลุ่มอาหารกระป๋อง เครื่องดื่ม ขนมหวาน ที่อาจจะมีการปรับขึ้นราคาหลังจากที่ สอน.ได้ประกาศปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่

ทั้งนี้ หลังจากกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมแล้ว ได้กำหนดมาตรการกำกับดูแล 2 มาตรการ คือ 1.กำหนดราคาจำหน่ายหน้าโรงงานที่ กก.ละ 19 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาว และ กก.ละ 20 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และควบคุมราคาจำหน่ายปลีก กก.ละ 24 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาว และ กก.ละ 25 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ซึ่งเท่ากับว่าน้ำตาลทรายจะยังคงจำหน่ายในราคาเดิม ไม่มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะมีการกำหนดราคาตามระยะทางและต้นทุนการขนส่งต่อไป

2.ควบคุมการส่งออกตั้งแต่ 1 ตัน หรือ 1,000 กก.ขึ้นไป โดยต้องขออนุญาตจากคณะอนุกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้น มีเลขาธิการ สอน.เป็นประธาน มีรองอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นรองประธาน มีตัวแทนจาก สอน.เป็นเลขานุการ และตัวแทนกรมการค้าภายใน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำกับดูแลต่อไป เพื่อให้น้ำตาลทรายมีเพียงพอใช้ในประเทศ และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา

การนำน้ำตาลไปขึ้นบัญชีเป็นสินค้าควบคุมนั้นถือเป็นการเล่นไม้แข็งพอสมควร และเป็นการหักคำประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม… แต่ยังไม่ทันไรก็มีประกาศใหม่จาก สอน. โดย นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ลงนามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิต และจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 66/67 มีผลตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ มีใจความสำคัญว่า เนื่องจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้มีประกาศคณะกรรมการกลาง ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทราย ณ หน้าโรงงาน ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยกำหนดให้จำหน่ายไม่สูงกว่าราคาที่กำหนด คือ น้ำตาลทรายขาว กก.ละ 19 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 20 บาท ดังนั้นเพื่อให้การคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทน การผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 66/67 เป็นไปตามราคาจำหน่ายที่โรงงานจำหน่ายได้จริง จึงประกาศราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ คือ น้ำตาลทรายขาว กก.ละ 19 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 20 บาท

หรือก็คือกลับมาใช้ราคาหน้าโรงงานในอัตราเดิม ซึ่งก็เป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด แต่ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดความสงสัยจากชาวไร่อ้อยที่กำลังจะได้เงินสนับสนุนจากการขึ้นราคาหน้าโรงงานน้ำตาลทราย และยิ่งเป็นการใส่ไฟให้กับชาวไร่จนอาจจะลุกลามไปถึงการจัดตั้งม็อบเพื่อมาทวงถามความจริง…

โดย นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศกำลังพิจารณามาตรการที่จะออกมาเคลื่อนไหวใหญ่กับแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน ทั้งที่ภายใต้กฎหมายปัจจุบันราคาน้ำตาลไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมแล้ว ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่ไทยถูกบราซิลฟ้องร้องว่ามีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายในประเทศขัดกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) หากย้อนกลับมาดำเนินการเช่นเดิมจะทำอย่างไรกับปัญหาดังกล่าว

ด้าน นายมนตรี เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 6 ได้กล่าวหลังจากมีการประชุม 4 องค์กรหลัก ได้แก่ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้สรุปกำหนดมาตรการขั้นเด็ดขาดด้วยกัน ว่าคือการปิดโรงงานผลิตน้ำตาลทั่วประเทศพร้อมกันในวันที่ 5 พ.ย.66 เพื่อต้องการให้รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตอบเกี่ยวกับการแก้ปัญหา ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในส่วนเงิน 2 บาทให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ประการที่ 2 คือ เงินจำนวน 8,000 ล้านบาทที่จะช่วยเหลือการตัดอ้อยปี 2565/66 ตันละ 120 บาทที่ค้างจ่ายเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะทำเช่นไร ซึ่งการปิดโกดังในครั้งนี้ถือเป็นมาตรการขั้นเด็ดขาดจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในการช่วยเหลือจากรัฐบาล

ส่วนด้าน นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมากล่าวว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรชาวไร่อ้อย กระทรวงอุตสาหกรรมมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างมาก จึงสั่งการและกำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งหาแนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับชาวไร่อ้อยให้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม ขณะเดียวกันต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

“กระทรวงอุตสาหกรรมรับทราบการขึ้นทะเบียนน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม 1 ปี ที่รัฐบาลเร่งควบคุมราคาเพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค โดยกระทรวงพร้อมยกระดับความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องชาวไร่อ้อย ยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาล และรัฐบาลได้เน้นย้ำว่า พร้อมสนับสนุนเงินชดเชยให้กับเกษตรกร และระบบอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทราย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งหามาตรการที่เหมาะสมสำหรับการส่งออก” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ขณะที่ นายภูมิธรรม เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับตัวแทนชาวไร่อ้อย ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รับฟังความเดือดร้อนและข้อกังวลของชาวไร่ ซึ่งยืนยันว่า กกร.ได้ออกประกาศเป็นสินค้าควบคุมไปแล้ว ก็ต้องให้เป็นสินค้าควบคุมต่อไป แต่เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับอุตสาหกรรมนี้จึงได้ตั้งคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยมี นายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นเลขานุการ และมีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และชาวไร่อ้อย 4 คน รวมเป็นคณะทำงาน

“คณะทำงานชุดนี้จะหารือกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับอุตสาหกรรมทั้งระบบ และเกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรม เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรแล้วก็ให้เสนอมา แม้กระทั่งให้นำออกจากบัญชีสินค้าควบคุมก็พร้อมทำ แต่ต้องเป็นทางออกของทุกฝ่าย และคุยให้ครบทุกฝ่าย มีระยะเวลาการทำงานไม่เกิน 1 เดือน ถ้าได้ข้อสรุปเร็วกว่านี้ได้ยิ่งดี เพื่อให้ทันกับการเปิดหีบอ้อยในเร็วๆ นี้ โดยจะประชุมนัดแรกวันที่ 6 พ.ย.นี้” นายภูมิธรรม กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลฝันประชุม JTC ครั้งที่ 3 ดันมูลค่าการค้ากระฉูด

นายกฯ ผลักดันต่อยอดความร่วมมือไทย-มาเลเซียทุกมิติต่อเนื่อง เชื่อมั่นการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 3 จะส่งเสริมตัวเลขการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นในทุกมิติ

“สุชาติ” ชี้ช่องทางตลาดในและต่างประเทศแก่ผู้ประกอบการถุง พลาสติกสาน สยามแฟล็กซ์แพ็ค จำกัด โอกาสโตยังเปิดกว้าง!

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา หารือกับผู้บริหาร บริษัท สยามเฟล็กซ์แพ็ค จำกัด ผู้ประกอบการผู้ผลิตสินค้าถุงกระสอบพลาสติก สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA