เมื่อวันที่โลกเปลี่ยน..ปตท.ต้องปรับขับเคลื่อนตอบโจทย์ "มั่นคง-ยั่งยืน"

นับจากวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2521 จากจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทย ในชื่อ “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” หรือ “ปตท.” ที่ทุกคนคุ้นเคย จนถึงปี พ.ศ.2544 ที่ ปตท.แปลงสภาพเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) นั้น ต้องยอมรับว่าองค์กรแห่งนี้ได้สร้างชื่อเสียงขจรขจาย ขยายธุรกิจการค้าครอบคลุมทั่วโลก จนกลายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นหัวใจหลักของการดูแลสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

วันนี้ ปตท.อายุใกล้ครบ 45 ปีบริบูรณ์ ภายใต้การนำของ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ CEOได้กำหนดวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และเพื่อสนับสนุนแผนการดำเนินงานให้เติบโตไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน ท่ามกลางความท้าทายของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ เห็นได้จากผลการดำเนินการครึ่งปีแรกของปี 2566 ปตท.และบริษัทย่อยมีรายได้ 1,534,755 ล้านบาท และกำไรสุทธิจำนวน 47,962 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 4% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ตามราคาปิโตรเลียมและปิโตรเคมีในตลาดโลกที่ปรับลดลง โดยผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นปรับลดลง กำไรขั้นต้นจากการกลั่น (Market GRM) ลดลงจาก 13.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในครึ่งปีแรกของปี 2565 เป็น 6.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในครึ่งปีแรกของปี 2566 รวมทั้งผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันในครึ่งปีแรกของปี 2566 ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผลการดำเนินงานของธุรกิจที่ ปตท.ดำเนินการเอง เช่น กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีผลการดำเนินงานลดลงจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ เนื่องจากต้นทุนค่าเนื้อก๊าซที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาก๊าซในอ่าวไทย ประกอบกับราคาขายเฉลี่ยลดลงทุกผลิตภัณฑ์ รวมถึงปริมาณการขายที่ลดลง

สัญญาณที่บอกเหตุมาจากปัจจัยเศรษฐกิจของโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และเหนืออื่นใด นโยบายอันเกี่ยวกับโลกสีเขียว หรือพลังงานสะอาด ล้วนเป็นผลกระทบต่อภาคธุรกิจดั้งเดิมของ ปตท. ซึ่งในประเด็นนี้ นายนพดลปิ่นสุภาประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย เปิดเผยในโอกาสเดินทางไปดูงานด้านพลังงานแห่งอนาคตที่ประเทศโปรตุเกสและสเปนเมื่อปลายเดือนตุลาคมว่า ธุรกิจหลักของ ปตท.ยังคงเป็นเรื่องของน้ำมันและก๊าซ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับพันธกิจในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ การปรับกลยุทธ์ในการรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลง พร้อมๆ กับที่ ปตท.ยังคงต้องรักษาหน้าที่ของตัวเอง อันเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า Lasting Legacy ทำอย่างไรให้ธุรกิจของ ปตท.สามารถยืนหยัดได้ต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สิ่งแรกที่ตอบโจทย์กลยุทธ์นี้คือ Enhance เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพราะมีการคาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันจะค่อยๆ ลดลง และจะพีกที่สุดในปี 2030-2035 จะทำอย่างไรที่ ปตท.จะยืนหยัดอยู่ได้เป็นคนสุดท้าย เมื่อความต้องการหรือดีมานด์ลดลงเรื่อยๆ

กลยุทธ์ที่สอง คือ Ensure สร้างความมั่นใจว่าบทบาทภารกิจของ ปตท.ไม่ใช่แค่เพียงว่าให้ธุรกิจเดินไปได้ แต่ต้องมั่นใจว่ามีซัพพลายให้เพียงพอในประเทศด้วย เพราะฉะนั้นต้องมีเรื่องของคอนเน็กชัน การสร้างเครือข่าย สร้างระบบ เพื่อมาดูว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่ดีที่สุดเกิดขึ้น วันนี้มีการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Hydro valve corporation tower คือดูตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อที่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ขึ้นดีที่สุดในการใช้เชื้อเพลิงแต่ละประเภทสำหรับผลิตไฟฟ้า หรือทำอย่างไรให้เกิดต้นทุนที่ดีที่สุด อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศและทำให้ต้นทุนถูกที่สุดด้วย

กลยุทธ์ที่สาม Expedite เร่งรัดเร่งรีบ เห็นได้ว่าช่วงนี้มีการควบรวม ถอนตัว ขยายกิจการในธุรกิจเกี่ยวข้องกับพลังงานค่อนข้างเยอะ กำลังปรับโครงสร้างในกลุ่มดาวน์สตรีม ก็ถือเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และกลยุทธ์สุดท้าย Enter into Sustainability การเข้าไปในธุรกิจสร้างความยั่งยืน ซึ่งมีทั้งเรื่องการศึกษาวิธีแก้ปัญหาพลังงานสิ้นเปลือง เรื่องของตัว Sustainable Aviation Fuel อย่างที่เราทราบกันดี อย่างเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เราใช้ในอากาศยาน ปัจจุบันแต่ละประเทศเริ่มมีการกำหนดเป้าหมายที่จะต้องมีสัดส่วนการใช้ตัว Aviation Fuel ที่มาจากเรื่องของการสร้างความยั่งยืนมากขึ้น และอีกเรื่องคือ “คาร์บอนเครดิต”

“จริงๆ แล้วธุรกิจเทรดดิ้งเองนอกจากทำหลายๆ โครงการในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและช่วยให้กลุ่ม ปตท.สามารถมีพลังต่อรองกับผู้ค้าน้ำมันในตลาดโลกได้ผ่านโปรเจกต์วัน ก็ยังมีแนวทางที่จะเข้าไปดูเรื่องของคาร์บอนเครดิตเทรดดิ้งด้วย วันนี้เราเข้าไปดูแล้ว ถ้าวันนี้ไม่เตรียมตัวให้ดี วันหนึ่งมาถึง จะไปไม่ถูก” นายนพดลกล่าวตอกย้ำ

ปัจจุบันนี้เราทราบกันดีว่าหลายประเทศก็มีความเข้มข้นในเรื่องของคาร์บอนเครดิตเข้ามา เป็นเทรนด์การสร้างมูลค่าเพิ่ม สินค้าบางตัวผู้ขนส่งบางรายต้องการซื้อตัวคาร์บอนเครดิตประกบกับสินค้าและบริการของเขา เพราะเป็นความคาดหวังและความต้องการของผู้ใช้ ผู้บริโภค ที่อยากจะได้ตัวสินค้าและบริการที่มีในเรื่องของโลว์คาร์บอนด้วย เพราะฉะนั้นการตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตเองก็เริ่มจะเกิดขึ้น ทางกลุ่ม ปตท.เอง โดยเฉพาะทางหน่วยงานเทรดดิ้งก็พยายามเข้าไปในธุรกิจนี้มากขึ้น อันนี้ก็จะเป็นอีกอนาคตหนึ่งของกลุ่ม ปตท.

นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมถึงกลยุทธ์และทิศทางการทำธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอีกว่า นอกเหนือจากธุรกิจเดิมซึ่ง ปตท.ยังต้องรักษาไว้ ธุรกิจใหม่กับการปรับตัวรับโลกอนาคตนั้น ปตท.ก็ยังต้องเฝ้าดูตัวเลขการเติบโตของธุรกิจที่ต้องสร้างรายได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวไลฟ์สไตล์ มีการเน้นในเรื่องของธุรกิจที่กระทบกับคาร์บอน คือ คาร์บอนต่ำ อีกอย่างจะดูในเรื่องของธุรกิจพลังงานสะอาด ก็เป็นตัวธุรกิจก๊าซ เป็นตัวเปลี่ยนถ่ายไปสู่พลังงานอื่นๆ

“ธุรกิจใหม่ คือ เรายังเน้นถึงปี 2030 ก็คาดว่ากำไรสุทธิของเรา 30% จะมาจากธุรกิจที่เป็น Future and Beyond แล้วก็ในส่วนของพลังงานสะอาด เราตั้งเป้าว่าเราจะลดตัวก๊าซเรือนกระจก 15% เมื่อเทียบกับปี 2020 ทั้งกลุ่ม ปตท. แล้วในส่วนของแผนการลงทุนในช่วง 10 ปีจะเห็นว่าหลักๆ แล้วยังลงทุนในตัวที่เป็นไฮโดรคาร์บอนแล้วก็จะไปที่ฟิวเจอร์เอนเนอร์จีแอนด์บียอนด์ ประมาณ 32% นี่เป็นช่วง 10 ปีข้างหน้า”

แผนการลงทุนของ ปตท.ในช่วง 5 ปีข้างหน้ากับบริษัทย่อย ประมาณ 160,000 หมื่นล้านบาท แต่ถ้ามีตัวที่เรามองว่าเป็นโอกาสในการทำรายได้ หรือลงทุน ก็มีอีกประมาณเท่าหนึ่ง ประมาณ 3 แสนล้าน โดยธุรกิจหลักๆ ก็จะอยู่ในสายกลาง จะเห็นว่า 75% ธุรกิจก๊าซ มีตัวแอลเอ็นจี ซึ่งเป็นบริษัทที่เราถือ 100% ตัวทรานส์มิชชันหรือท่อส่งก๊าซ และตัวธุรกิจก๊าซ ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกก๊าซ แล้วก็ในช่วง 5 ปีข้างหน้าตัวเทรดดิ้งจริงๆ แล้วเป็นตัวที่ไม่ค่อยใช้แอ็กเซสอยู่แล้ว แผนการลงทุนก็ไม่ได้มาก แค่ 3% ตัวฟิวเจอร์เอนเนอร์จีแอนด์บียอนด์และตัวนิวบิสสิเนสก็ 22% อันนี้ของ ปตท.เท่านั้น แต่ถ้าไปดูที่ตัวธุรกิจทั้งกลุ่มจะเห็นว่า 5 ปีข้างหน้าเราจะใช้เงินประมาณ 1 ล้านล้านของทั้งกลุ่ม โดยที่หลักๆ แล้วจะเห็นว่าเป็นของ ปตท.สผ. เพราะเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนเยอะ

ตัวฟิวเจอร์เอนเนอร์จีแอนด์บียอนด์ ตั้งเป้าว่าในปี 2030 จะต้องมีรายได้แล้ว 30% ซึ่งธุรกิจทุกภาคส่วนก็พยายามตั้งเป้าที่จะหาธุรกิจใหม่ๆ มาเติม มาเสริมเพื่อให้ได้เป้าหมายในภาพใหญ่ของ ปตท. ดาวน์สตรีมก็เช่นกัน และตั้งเป้าว่าเราจะเข้าไปช่วยทำในธุรกิจหลักๆ ธุรกิจใหม่ๆ ให้ได้สัก 28-30% ในปี 2030 แต่ธุรกิจที่เป็นธุรกิจหลักอย่างโรงกลั่นปิโตรเคมี ค้าปลีก เราก็ทิ้งไม่ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงด้านการใช้พลังงาน ..จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายซึ่งแปลไทยเป็นไทยได้ว่าธุรกิจตัวหลักอย่างดาวน์สตรีมก็ต้องเอาไว้เพราะไม่ใช่เพียงแค่เป็นธุรกิจของปตท. แต่เป็นความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศในขณะเดียวกันโลกเปลี่ยนสัญญาณบอกเหตุ energy transition เกิดขึ้นแน่ๆถ้าปตท.ไม่ปรับตัวมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆก็คงไปไม่รอด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทรู ประกาศทิศทางธุรกิจ ปี 2024 ดึงพลัง AI ยกระดับลูกค้า

ทรู ดึงพลัง AI ขับเคลื่อนองค์กร มุ่งสร้างประสบการณ์ลูกค้าระดับเวิลด์คลาส ประกาศ 3 กลยุทธ์หลัก ปูทางเติบโตอย่างยั่งยืน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ