สบพ.เร่งศึกษาศูนย์ฝึกอบรบการบินอู่ตะเภา

“ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบินฯ” อู่ตะเภา ดีเลย์ไปอีก 2 ปี เตรียมชงบอร์ด สบพ. เคาะงบ 40 ล้าน ลุยออกแบบรายละเอียด คาดแล้วเสร็จ ธ.ค.ปีหน้า หั่นวงเงินโครงการฯ เหลือ 1,200 ล้าน ลดขนาดพื้นที่เหลือ 50 ไร่ พร้อมเปิดการเรียนการสอนปี 72 ปั้นช่างซ่อมเครื่องบิน-บุคลากรด้านการบินมาตรฐานเอียซ่า

6 พ.ย. 2566 – น.ส.ภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา วงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท พื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ธ.ค.2566 จากนั้นช่วงประมาณเดือน ม.ค.-มี.ค.2567 จะรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการฯ ต่อคณะกรรมการ(บอร์ด) สบพ. เพื่อรับทราบ และขออนุมัติงบประมาณ 40 ล้านบาทในการศึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างฯ โดยจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างการศึกษาสำรวจออกแบบฯ ในเดือน เม.ย.2567

น.ส.ภัคณัฏฐ์ กล่าวต่อว่า คาดว่า สบพ. จะสามารถลงนามสัญญาจ้างศึกษาสำรวจออกแบบฯ ได้ในเดือน มิ.ย.2567 ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 6 เดือน แล้วเสร็จประมาณเดือน ธ.ค.2567 จากนั้นจะเสนอบอร์ด สบพ. พิจารณา ในเดือน ม.ค.-ก.พ.2568 และเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาในเดือน มี.ค.2568 พร้อมทั้งเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ(สศช.) สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ให้ความเห็นประกอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการประมาณเดือน พ.ค.-มิ.ย.2568

สำหรับโครงการดังกล่าวจะเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 70 (ต.ค.2569-ก.ย.2570) โดยจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และทำสัญญาก่อสร้างในปี 2569 เริ่มก่อสร้างปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน แล้วเสร็จประมาณเดือน ส.ค.2571 จากนั้นประมาณเดือน มิ.ย.2571-พ.ค.2572 จะเริ่มขนย้ายครุภัณฑ์ และอุปกรณ์การเรียนการสอนเข้าพื้นที่ และเริ่มเปิดการเรียนการสอนได้ในปีการศึกษา 2572 ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2572 เป็นต้นไป ส่วนจะเปิดสอนในหลักสูตรใดบ้าง และรับจำนวนนักศึกษาเท่าใดนั้น สบพ. อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยการเรียนการสอนจะเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (เอียซ่า) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานสูงสุด และที่เป็นยอมรับทั่วโลก
นส.ภัคณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าขณะนี้โครงการฯ มีความล่าช้าจากแผนเดิมที่วางไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเปิดการเรียนการสอนที่อู่ตะเภาได้ตั้งแต่ปี 2570 เพราะต้องมีการศึกษา และทบทวนโครงการอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 ตามปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจาก สศช. ให้ความเห็นผลการศึกษาความเป็นไปได้ฯ ครั้งที่ 1 ว่า เป็นโครงการลงทุนที่มีขนาดใหญ่เกินไป งบประมาณที่ใช้ในการลงทุนไม่ควรเกินประมาณ 1,200 ล้านบาท จึงขอให้ สบพ. ปรับขนาดการลงทุนลง โดยผลการศึกษาฯ ครั้งแรกนั้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,715 ล้านบาท บนพื้นที่ 100 ไร่ แบ่งเป็น 1.สิ่งปลูกสร้าง วงเงิน 1,815 ล้านบาท, ค่าครุภัณฑ์อุปกรณ์การเรียนการสอน 450 ล้านบาท และงบดำเนินการ 450 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ตั้งเป้าหมายเป็นสถาบันฝึกอบรมด้านการบินชั้นนำที่ได้รับการรับรองจากเอียซ่า ซึ่งนอกจากจะผลิตช่างซ่อมอากาศยาน รองรับโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานขนาดใหญ่ (MRO) และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาแล้ว จะเปิดสอนในหลักสูตรอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย โดยหลักสูตรที่จะเปิดสอนที่ศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ อาทิ หลักสูตรการฝึกอบรมขั้นพื้นฐาน (Basic Training) หลักสูตรศักยทำการอากาศยานเฉพาะแบบ (Type Rating) และหลักสูตรการฝึกอบรมต่อเนื่อง/หลักสูตรที่ต้องมีการทวนซ้ำ(Recurrent Training) ซึ่งดำเนินการตามข้อกำหนดของเอียซ่า ตลอดจนหลักสูตรปริญญาตรี วิชาเอกผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และวิชาเอกซ่อมบำรุงอากาศยาน รวมถึงหลักสูตรเฉพาะทาง อาทิ หลักสูตรระยะสั้นสำหรับการซ่อมบำรุง และใช้งานอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้นดิน(GSE) เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ไล่บี้ผู้รับเหมาติดสปีด 'ถนนเจ็ดชั่วโคตร' ลุยตรวจเอง 4 มี.ค.

‘สุริยะ’ เรียกผู้รับเหมาเร่ง 'ถนนพระราม 2' ขู่ลงโทษสูงสุดไม่ให้ประมูลงาน ขืนล่าช้าเกินกำหนดปี 68 ลงพื้นที่ตรวจเอง 4 มี.ค.นี้

'จุลพันธ์' รับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ล่าช้า ไม่ทันเดือน พ.ค. แน่นอน

“จุลพันธ์” ยืนยันเดินหน้าแจกประชาชนหัวละหมื่นบาทตามเดิม แจงเตรียมความพร้อมตอบคำถาม ป.ป.ช. เต็มสูบ รับโครงการดีเลย์กระทบแรงส่งเศรษฐกิจโตแผ่ว ระบุรัฐบาลมีอำนาจเต็มฟันธงเศรษฐกิจ “วิกฤต” หลังพบหนี้ครัวเรือน-หนี้ประชาชน-หนี้เอกชนบวมเป่ง