‘คมนาคม’หนุนเส้นทางรถไฟสิงคโปร์-คุนหมิงเชื่อม 5 ประเทศ ‘สิงคโปร์-มาเลเซีย-ไทย-ลาว-จีน’ลุยเปลี่ยนทางคู่ภายในปี 70 ดันไทยเป็นฮับคมนาคมขนส่งของภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้า-ผู้โดยสาร
3 พ.ย.2566-นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยภายหลังงานเสวนาหัวข้อ “โอกาสของไทยในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งภูมิภาคเชื่อมไทยเชื่อมโลก” ในงาน “4th iTIC FORUM 2023 : Power of Connectivity and Smart Mobility ว่า กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ที่เชื่อมโยงทางรถไฟ 5 ประเทศ รวมระยะทางประมาณ 4,500 กิโลเมตร(กม.) ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย, ไทย, ลาว และจีน จากปัจจุบันยังมีบางช่วงเป็นทางเดี่ยว เป็นทางคู่ให้ได้ในปี 2570 เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระดับภูมิภาคจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงเอเชียตะวันออก และเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้า และผู้โดยสารเดินให้สะดวก และรวดเร็วขึ้น รวมทั้งยังส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลาง(ฮับ) ด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(ปี 2561-2580) ด้วย
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเส้นทางสิงคโปร์-คุนหมิง เหลือเพียงช่วงชุมพร-ปาดังเบซาร์เท่านั้น ที่ยังเป็นทางเดี่ยวซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้เสนอช่วงดังกล่าว และดำเนินการโดยเร็วที่สุด โดยในช่วงนี้มีอยู่ 3 เส้นทางทางใต้ในโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ(เฟส)ที่ 2 ได้แก่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเปซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 6.6 พันล้านบาท เบื้องต้นทราบว่าช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังฯรฟท.จะเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) พิจารณาในเดือน พ.ย.2566 และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในปี 2566
“การที่ไทยจะเป็นฮับด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคได้นั้น ต้องเร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่เฟสที่ 2 ซึ่งมี 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,479 กม. วงเงิน 2.75 แสนล้านบาทด้วย เพราะจะทำให้เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง มีความสมบูรณ์มากขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงคมนาคม ยังอยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้างสะพานมิตรไทย-ลาว(หนองคาย-เวียงจันทน์) แห่งใหม่ ซึ่งอยู่คู่ขนาน และห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ประมาณ 30 เมตร โดยปัจจุบันกรมทางหลวง(ทล.) ได้ศึกษาแล้วเสร็จ และ รฟท. ได้ตั้งงบประมาณปี 2567 เตรียมออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างสะพานฯ พร้อมทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) แล้ว”นายพิเชฐ กล่าว
นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นผลการศึกษาฯ ระบุว่า จะก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงก่อน ส่วนสะพานรถยนต์ไว้ทีหลัง เนื่องจากสะพานเดิมยังสามารถรองรับจำนวนรถยนต์ได้อยู่ ทั้งนี้คาดว่า รฟท. จะใช้เวลาดำเนินการออกแบบรายละเอียดฯ ประมาณ 1 ปี จากนั้นจะเสนอ ครม. พิจารณาในช่วงต้นปี 2568 เริ่มก่อสร้างประมาณปี 2568 ใช้เวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี จะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการปี 71
โดยเบื้องต้นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงวงเงินประมาณ 3 พันล้านบาท โดยจะมี 4 ทางวิ่ง เป็นทางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร 2 ทางวิ่ง เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง และทางรถไฟขนาด 1 เมตร 2 ทางวิ่ง เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยรองรับการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับลาว ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยทางลาวได้รับทราบเบื้องต้นแล้ว
นอกจากนี้ รฟท. ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า(CY) สถานีนาทา เพื่ออำนวยความสะดวกระบบขนส่งโลจิสติกส์ รองรับการเติบโตทางการค้า การลงทุนของไทย และลาวในอนาคต โดยคาดว่าจะเปิดประกวดราคา(ประมูล) ต้นปี 2567
อย่างไรก็ตามการพัฒนารถไฟทางคู่กำลังเดินหน้าต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปจะเริ่มเห็นอิทธิฤทธิ์ของรถไฟทางคู่ ที่จะเริ่มผลิดอกออกผล ทำให้การเชื่อมต่อทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศสำเร็จเป็นจริง ปัจจุบันรถไฟทางคู่มีระยะทางประมาณ 627 กม. และตั้งแต่ปีหน้าเมื่อทางคู่เฟสที่ 1 เสร็จ จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณพันกิโลเมตร หลังจากทิ้งช่วงไม่ได้พัฒนามานาน ทั้งนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาทางคู่ให้ได้ 3,400 กม.ต่อไปด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดีเดย์ 28 ก.ค.นี้ เปิดเดินรถไฟผ่านอุโมงค์ผาเสด็จ อุโมงค์ที่ยาวสุดในไทย
พร้อมแล้ว 28 ก.ค. นี้ เปิดใช้รถไฟทางคู่ สายอีสาน ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร และช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร วิ่งลอดผ่านอุโมงค์ผาเสด็จ และอุโมงค์หินลับอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศ มั่นใจสะดวก และปลอดภัย
ขร. เล็งดึงสายสีเหลือง-ชมพู เข้านโยบาย 20 บาทตลอดสาย
“กรมรางฯ” แย้มข่าวดี จ่อประกาศเก็บค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเพิ่ม 2 เส้นทาง “สีเหลือง-ชมพู” ภายในปี 67 คาดได้ข้อสรุปภายใน ม.ค.นี้ เผยผู้โดยสารยังน้อย ส่งผลให้รัฐชดเชยการสูญเสียรายได้ให้เอกชนไม่มากนัก ส่วนยอดผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง-ม่วง ช่วง ต.ค. 66 – ปัจจุบัน เพิ่มขึ้น 25% หลังได้รับอานิสงค์จากมาตรการ 20 บาทตลอดสาย เล็งเสนอ “คมนาคม” ชง ครม. ขยายอายุมาตรการต่อไป
'สุรพงษ์' สแกนทางคู่สายใต้ 'นครปฐม-ชุมพร' คืบหน้า 99% เปิดใช้บางช่วง 15 ธ.ค.นี้
“สุรพงษ์”ลงพื้นที่เช็กคืบหน้าสร้างรถไฟทางคู่สายใต้เสร็จเกือบ 100% ปักหมุด15 ธ.ค.นี้ เปิดเดินรถช่วงสถานี"บ้านคูบัว-สถานีสะพลี" พร้อมเปิดเพิ่มช่วงนครปฐม-บ้านคูบัว และ ช่วงสะพลี-ชุมพร เม.ย.67 และเปิดตลอดสายกลางปี 67เดินหน้าเพิ่มศักยภาพการขนส่งและยกระดับศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียน
’สายสีแดง‘ นิวไฮ คนแห่ใช้บริการพุ่ง 3.1 หมื่นคน หลังใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย
‘กรมราง’อัปเดตตัวเลขผู้ใช้บริการสายสีแดง หลังเริ่มนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พุ่ง 3.1 หมื่นคน เพิ่มขึ้น20% สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการ สาวนสีม่วง 7.5 หมื่นคน เพิ่ม 5%