27 ต.ค. 2566 – กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เผยว่าสงครามในอิสราเอล ส่งผลให้ราคาน้ำมันและราคาสินทรัพย์ปลอดภัยสูงขึ้น แต่ไม่กระทบเงินบาทมากนัก เนื่องจากเงินบาทได้รับอานิสงค์จากราคาทองคำที่สูงขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลกลับเข้ามาในตลาดพันธบัตรก่อนหน้านี้ ในระยะต่อไป คาดว่าเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ที่จะตึงตัวน้อยลง ทำให้แรงกดดันจากเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจะทยอยลดลงได้ต่อเนื่อง ด้าน US Treasury yields ในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผันผวนสูง โดยปรับสูงขึ้นจากเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาดมาก และความกังวลเรื่องอุปทานที่อาจสูงขึ้น ในระยะต่อไป SCB FM มองว่ามีแนวโน้มลดลงได้เล็กน้อย ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น SCB FM ประเมินว่า กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ 2.50% ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีหน้าได้
นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สงครามในอิสราเอลส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นราว 3% นับตั้งแต่เกิดสงคราม แต่ราคาปัจจุบันยังต่ำกว่าจุดสูงสุดเมื่อเดือนก่อน ส่วนราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นมากราว 8.5% ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ดี ภาวะสงครามไม่กระทบเงินบาทมากนัก เนื่องจากเงินบาทได้รับอานิสงค์จากราคาทองคำที่สูงขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลกลับเข้ามาในตลาดพันธบัตรก่อนหน้านี้ ทำให้เงินบาทกลับแข็งค่าขึ้น 1.6% นับตั้งแต่เกิดสงคราม มาอยู่ที่ระดับราว 36.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับที่ SCB FM เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้
เงินบาทน่าจะทยอยแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ราว 35.00-36.00 ณ สิ้นปีนี้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ที่จะตึงตัวน้อยลง กล่าวคือ 1) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเข้ามาน้อยกว่าคาดจากสถานการณ์ความรุนแรงใน กทม. ก่อนหน้านี้ 2) การส่งออกและดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มดีขึ้น โดยการส่งออกน่าจะฟื้นตัวพร้อมการค้าโลก ส่วนราคาน้ำมันน่าจะชะลอลงช่วยทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้น 3) เงินทุนเคลื่อนย้ายน่าจะทยอยไหลเข้าตลาดการเงินไทยหลังความไม่แน่นอนลดลง และมาตรการรัฐชัดเจนขึ้น ทำให้ Sentiment นักลงทุนปรับดีขึ้น และ 4) Fed มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากภาวะการเงินในสหรัฐฯ ที่ตึงตัวขึ้นมากแล้ว และตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าจะชะลอความร้อนแรงลง ด้วยเหตุนี้ จึงแนะให้ลูกค้าส่งออกอาจทยอยขายเงินดอลลาร์สหรัฐออกได้หากเงินบาทอ่อนค่าไปที่ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์หรือสูงว่า ส่วนลูกค้านำเข้าอาจรอจังหวะซื้อดอลลาร์ในระยะต่อจากนี้ที่บาทอาจแข็งค่าขึ้น
สำหรับในปีหน้า คาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไปที่ราว 33.00-34.00 ณ สิ้นปีหน้า โดยมาตรการภาครัฐขนาดใหญ่จะสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ทำให้ GDP ปีหน้าขยายตัวสูง ขณะที่หนี้ภาครัฐที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะยังไม่ทำให้ไทยถูกปรับลด Credit rating ลง ด้าน Fed มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยในปีหน้า โดยคาดว่าอาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี สอดคล้องกับ Dot plot ที่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย 2 ครั้งปีหน้า และสุดท้าย เงินบาทน่าจะได้รับปัจจัยหนุนจาก Sentiment ในจีนที่น่าจะปรับดีขึ้น หากภาครัฐออกมาตรการอัดฉีดได้ตามที่ตลาดคาด
ด้านตลาดพันธบัตรรัฐบาล อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (10y US Treasury yields) ในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผันผวนสูง โดยปรับสูงขึ้นจากเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาดมาก และความกังวลเรื่องอุปทานที่อาจสูงขึ้น แต่ในระยะต่อไป SCB FM มองว่ามีแนวโน้มลดลงได้เล็กน้อย เนื่องจาก 1) Fed อาจส่งสัญญาณ Dovish หาก Treasury yields ปรับสูงขึ้นอีก 2) ผลพวงจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงชัดเจนขึ้น 3) เงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงต่อได้ อีกทั้ง คาดว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลงได้ และ 4) ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกจากสงครามอิสราเอล จะทำให้มีอุปสงค์เข้ามาซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่ อย่างไรก็ดี นายแพททริก มองว่า 10y yields อาจปรับลดลงได้ไม่มากนัก เนื่องจาก ความต้องการระดมทุน (Financing needs) ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในระยะต่อไปเพิ่มขึ้น และมาตรการลดขนาดงบดุลของ Fed (Quantitative tightening: QT) จะทำให้ Term premium ปรับสูงขึ้น จึงมองว่า 10y yield ณ สิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 4.60%-4.80% และคาดว่า US Treasury yield curve น่าจะลาดชันน้อยลง (Flatten)
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ 2.50% ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีหน้าได้ เนื่องจาก 1) แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายนอยู่ที่ 0.3%YOY ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ธปท. ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานก็อยู่ในระดับต่ำที่ 0.6%YOY 2) มีกลุ่มเปราะบางในภาคธุรกิจและครัวเรือนอยู่ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่สูงนี้จะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยล่าสุด NPL ธุรกิจขนาดเล็กและอุปโภคบริโภค ไตรมาสที่ 2 ปีนี้เริ่มสูงขึ้นแล้ว 3) มาตรการภาครัฐขนาดใหญ่ที่อาจจะออกในระยะต่อไปน่าจะไม่กระทบเงินเฟ้อไทยมากนัก หากราคาน้ำมันโลกไม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวสูงในปีหน้า ล่าสุด ตลาดมองว่า กนง. มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยคต่อที่ราว 12% ในปีนี้ และราว 40% ในปีหน้า จึงทำให้ SCB FM ประเมินว่าหาก กนง. คงดอกเบี้ยจริง ก็จะทำให้ Yields ไทยระยะสั้น (tenor ไม่เกิน 2 ปี) มีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย ส่วน Yield ระยะยาวของไทยก็มีแนวโน้มลดลงตาม US Treasury yields ด้วยเช่นกัน