'ศิริกัญญา' มองปรับเกณฑ์ดิจิทัลวอลเล็ตไม่จ่ายถ้วนหน้า เหตุงบไม่เพียงพอ ชี้อย่ายึดติดรูปแบบให้เน้นตามวัตถุประสงค์เดิม หวั่นไม่ต่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เผยหากออก พ.ร.ก.เงินกู้เป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง
26 ต.ค.2566 - น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กระทรวงการคลังออกหลักเกณฑ์ใหม่ว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท อาจไม่ได้ครบทุกคนมองกรณีอย่างไร ว่า คิดว่าปัญหาสำคัญที่จำเป็นจะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ที่คัดกรองคนรวยออก ไม่ว่าจะเป็น 1.คนที่มีเงินเดือน 25,000 บาท ขึ้นไป 2.เงินเดือนเกิน 50,000 บาท ขึ้นไป และ 3.ตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลน่าจะมีปัญหาในเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการอย่างแน่นอน จึงจำเป็นที่จะต้องลดจำนวนคนที่ได้รับผลประโยชน์ แต่ถึงแม้จะพยายามลดจำนวนลงแล้ว แต่ยังพบว่ามีคนที่จะต้องได้รับอยู่ที่ประมาณ 43-49 ล้านคนอยู่ดี ดังนั้นโอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก็มีค่อนข้างน้อย
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ยังมีข้อเสนอว่าจะใช้งบผูกพันปีละ 1 แสนล้านบาท เป็นเวลา 4 ปี ยิ่งชัดเจนว่าหลังจากคำนวณแล้ว แสดงว่างบปี 2567 มีที่ว่างให้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพียงแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น และหากต้องผูกพันไป 4 ปี เท่ากับว่าจะมีร้านค้าบางส่วนที่จะไม่ได้เงินสดในทันที แต่ต้องรอแลกเป็นรายรอบปีงบประมาณ ซึ่งจะกระทบกับร้านค้า เพราะหากต้องการเงินสดมาหมุนเวียนในร้านค้าของตัวเอง ก็จะไม่มีแรงจูงใจมากพอ และจะไม่เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วยซ้ำ เป็นการตอกย้ำกับสิ่งที่เคยพูดว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาถึงทางตันแล้ว เนื่องจากไม่สามารถที่จะให้ธนาคารของรัฐ หรือธนาคารออมสินดำเนินโครงการนี้ออกไปก่อนได้ จึงติดข้อจำกัดหลักที่เป็นตอใหญ่ คือเรื่องของงบประมาณและที่มาที่จะต้องใช้ในครั้งนี้
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า คิดว่าการปรับเงื่อนไขในครั้งนี้ต้องพิจารณาด้วย ว่ายังคงสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์และผลที่คาดว่าจะได้รับดั้งเดิมหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนไปหมดแล้วก็อาจจะต้องทบทวนวิธีการและนโยบายใหม่ทั้งหมดด้วยซ้ำไป
เมื่อถามว่า การปรับหลักเกณฑ์จะทำให้จำนวนผู้ที่ได้รับเงินลดลงไป สะท้อนอะไรได้บ้าง น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า จริงๆ ลดไปแค่นิดเดียว หากใช้เกณฑ์แรกจะลดลงไปแค่ 13 ล้านคน หากใช้เกณฑ์ที่สอง จะลดไปแค่ 7 ล้านคน ดังนั้นการปรับหลักเกณฑ์เหล่านี้อาจไม่ช่วยอะไรมากนักในแง่ประหยัดงบประมาณลง เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรต่อ แต่ถ้าปรับไปใช้ทางเลือกที่สาม คือใช้เกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำ แต่เป็นการประคับประคองค่าครองชีพให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ถือบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน เป็นการเปลี่ยนรูปแบบ วัตถุประสงค์ และผลที่จะได้รับอย่างชัดเจน ดังนั้นถ้าจะคงรูปแบบเป็นแค่การแจกเงินไว้ แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูด ก็ควรจะต้องมีการทบทวน เข้าใจดีว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทย (พท.) หาเสียงไว้ แต่ถ้าสามารถบอกได้อย่างตรงไปตรงมา ว่าติดปัญหาเรื่องอะไร ก็คิดว่าประชาชนจะเข้าใจได้ ว่ารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะทำโครงการนี้ แต่มีอุปสรรคชิ้นใหญ่ คืองบประมาณ
เมื่อถามว่า คำว่า ทบทวน หมายถึงยกเลิกโครงการนี้ใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นการเปลี่ยนวิธีการมากกว่า เข้าใจดีว่าสัญญาทางใจที่มีไว้ให้ผู้สนับสนุนก็สำคัญเช่นกัน แต่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน เราก็มีวิธีการที่จะไปได้หลายทาง
เมื่อถามว่า สุดท้ายโครงการนี้จะกลับไปเป็นเหมือนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ต้องรอดูว่าจะกลายเป็นรูปแบบนั้นหรือไม่ แต่งบประมาณที่นำไปทบทวนกับแต่ละหน่วยงานของรัฐนั้น เขาทำกันเสร็จแล้ว และเริ่มทยอยส่งกลับมาที่สำนักงบประมาณแล้ว ดังนั้นสำนักงบฯ มีข้อมูลอยู่ในมือแล้ว ว่าสามารถตัดลดหรือเกลี่ยงบประมาณของปี 2567 ได้เท่าไหร่ ซึ่งปรากฏว่าได้แค่ 1 แสนล้านบาท ดังนั้นถ้าจะไม่ทำประมาณผูกพันข้ามปี ทางออกทางเดียว คือให้เฉพาะผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเพียงแค่การเยียวยาค่าครองชีพ ต้องบอกรัฐบาลว่าต้องทบทวนวัตถุประสงค์ของโครงการนี้อย่างจริงจัง อย่ายึดติดที่รูปแบบ แต่ให้ดูที่เป้าหมายว่าอยากได้ผลลัพธ์อะไร และออกแบบนโยบายให้เป็นไปตามนั้นมากกว่า
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านจะตรวจสอบโครงการนี้อย่างไรบ้าง น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ต้องรอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีมติออกมาก่อน เพราะขณะนี้มีเพียงแค่ความเห็นของอนุกรรมการเท่านั้น เรายังใจดีให้เวลารัฐบาลกลับไปคิดทบทวนรายละเอียดทุกอย่าง และให้คณะกรรมการชุดใหญ่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเราจะทำการตรวจสอบกันต่อไป ซึ่งหลายกรรมาธิการได้ตั้งท่ารอที่จะเรียกหน่วยงานมาพูดคุยในรายละเอียดอยู่ กระทู้สดก็ยังรออยู่แม้จะเป็นช่วงปิดสมัยประชุมไปแล้ว แต่เปิดสมัยประชุมเมื่อไหร่ ก็คงจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้อย่างแน่นอน
เมื่อถามว่า จากเกณฑ์ที่ออกมา การคัดกรองจะมีปัญหาหรือไม่ว่าใครมีรายได้เท่าไหร่บ้าง น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่อยากให้สับสนในเรื่องนี้ เพราะปัญหาใหญ่คือเรื่องของงบประมาณมากกว่า ส่วนเรื่องหลักเกณฑ์เข้าใจว่าเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในการคัดครองผู้ที่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยดูรายได้จากการยื่นต่อสรรพากร และขอข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ว่ามีเงินฝากเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะยาก แต่อาจจะมีความผิดพลาดเพราะบางคนอาจจะไม่ได้ยื่นรายได้ต่อสรรพากร หรือมีสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินฝาก
เมื่อถามถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า จะไม่ใช้งบผูกพัน แต่หากงบกลางปี 2567 ไม่เพียงพอ ก็จะต้องใช้งบผูกพันใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ถ้าเป็นหลักเกณฑ์แรกที่จะต้องใช้เม็ดเงิน 430,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 ไม่พอแน่นอน ถ้าไม่ใช่งบผูกพันเลยก็น่าจะมีเม็ดเงินอยู่ 1 แสนล้านบาท ซึ่งก็จะเปิดทางให้หลักเกณฑ์ข้อที่ 3 นั่นคือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนั้นจึงอยากให้พุ่งไปที่แหล่งที่มางบประมาณมากกว่า มีเงินเท่าไหร่กันแน่ที่จะใช้ทำโครงการนี้
เมื่อถามว่า หากอนุกรรมการหารือกับธนาคารกรุงไทย จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ยิ่งเป็นไปไม่ได้กันใหญ่ น่าจะหารือกับธนาคารกรุงไทยในเรื่องการทำซูเปอร์แอป เพราะธนาคารกรุงไทยมีประสบการณ์ในการทำแอปเป๋าตังมาก่อน ธนาคารกรุงไทยน่าจะเป็นผู้ดำเนินการทำแอปพลิเคชันต่อได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการนี้นั้น ไม่ใช่มาจากธนาคารออมสิน เพราะติดข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออมสิน มาตรา 7 ที่ระบุวัตถุประสงค์ที่ธนาคารสามารถทำได้ ซึ่งไม่มีข้อไหนที่จะให้ดำดเนินโครงการแจกเงินได้เลยแม้แต่ข้อเดียว ไม่อย่างนั้นต้องแก้ไขกฎหมายผ่านสภา
เมื่อถามว่า มองอย่างไรหากรัฐบาลเลิกใช้วิธีออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน เป็นหนทางสุดท้าย น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในทางเทคนิกการออกพ.ร.ก.เงินกู้เหมือนช่วงวิกฤติโควิด ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินนั้นเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด แต่ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน ว่าพ.ร.ก.จะออกได้ เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น ก็ต้องถามสำนักบริหารหนี้ ส.บ.น. ว่าจะยอมกู้ให้หรือไม่ในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ แต่ในทางการเมืองต้องยอมรับว่า การออกพ.ร.ก.เงินกู้ขณะนี้ ที่ไม่ได้เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหนักขนาดนั้นก็ต้องเจอแรงต้านมหาศาลแน่นอน
“เตือนไว้ว่า ถ้าออกเป็นพ.ร.ก.เงินกู้เมื่อไหร่ นี่อาจจะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองได้” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นิพนธ์' ซัดรัฐบาลแจกเงินหมื่น เฟส 2 หวังผลการเมือง ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย-อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายก อบจ. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนในระบบและยืนยันตัวตนแล้ว รวมกว่า 4 ล้านคน
ป้า 67 ป่วยหลายโรค หาบเร่ขายของเลี้ยงชีพ หวังได้เงินหมื่น เฟส 2 หวั่นตกหล่น บัตรคนจนก็ไม่มี
บุรีรัมย์ ป้า 67 ป่วยความดัน มีก้อนเนื้อที่คอ แต่ต้องหาบเร่ขายของเลี้ยงชีพและลูกพิการ หวังได้เงินหมื่น เฟสสอง มาแบ่งเบา
'ศิริกัญญา' งง รอมา 2 เดือน นโยบายกระตุ้นศก.ไม่มีอะไรชัดเจน ย้อนถามแจกเงินหมื่นช่วยอะไรได้
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า
รัฐบาลเคาะแจกเงินหมื่น เฟส 2 ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ก่อนวันตรุษจีนปี 68
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง