23 ต.ค. 2566 - รายงาน Digital 2023 April Global Statshot Report ให้ข้อมูลว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 33 ของโลกในการใช้อินเทอร์เน็ต มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจําคิดเป็นร้อยละ 85.3 ของประชากร ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 8 ชมต่อวัน และใช้มากสุดคือการหาข้อมูล ติดตามสถานการณ์จากข่าวต่างๆ ดูหนังฟังเพลง และหาความคิดใหม่ๆเพิ่มพูนความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งดีมาก แต่การใช้อินเทอร์เน็ตในบ้านเราแม้จะสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกก็ยังต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงเพราะนับวันอินเทอร์เน็ตจะมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของผู้คน เป็นอีกปัจจัยสำคัญของการดํารงชีวิต
การใช้ประโยชน์อินเทอร์เน็ตที่กระทบความเป็นอยู่ของสังคมมากสุดคือโซเชียลมีเดีย ที่เป็นแพลตฟอร์มสื่อสารของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านชุดข้อมูลที่ถูกผลิตขึ้นมาโดยผู้ใช้ เผยแพร่ แชร์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างผู้ใช้คือคนในสังคม ซึ่งจากรายงานข้างต้น แพลตฟอร์มสื่อสารที่ใช้มากสุดในประเทศเรา คือ Facebook Line FB Messenger Tiktok Instagram และTwitter
สำหรับประเทศปฏิเสธไม่ได้ว่าประโยชน์ของโซเชียลมีเดียมีมากทั้งในระดับบุคคลและสังคม เป็นประโยชน์ทั้งด้านการศึกษา การเรียนรู้ การหาข้อมูล การสร้างความตระหนักรู้ในเริ่องที่สําคัญ เช่น สาธารณสุข และการอยู่รอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นประโยชน์สำหรับการแสดงความคิดเห็น การติดต่อสื่อสาร ซึ่งสร้างความรู้สึกของความเป็นสังคม สร้างประโยชน์ทางธุรกิจและการประกอบอาชีพ เช่น ตลาดสินค้าออนไลน์ ที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนจํานวนมาก สิ่งเหล่านี้คือประโยชน์ที่สังคมสามารถตักตวงได้ ทําให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสำคัญมาก เป็นการสร้างโอกาสให้กับทุกๆคน
เมื่อผลดีมีมาก ผลร้ายก็มีมากได้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องข่าวสารและการผลิตข้อมูลที่นำมาแชร์ แลกเปลี่ยนกันในโซเชียลมีเดีย ที่อาจทำให้สังคมมีปัญหามากขึ้นได้
ในอดีตสมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ข้อมูลหรือข่าวจะมาจากภาคทางการหรือสถาบันสื่อของประเทศที่ทางการกำกับดูแลเป็นหลัก ข้อมูลจึงหายาก มีลักษณะแบบทางการ เป็นข้อมูลที่ไหลลงจากบนสู่ล่าง จากทางการสู่ประชาชน ประชาชนรับฟังข้อมูลจากภาคทางการ ไม่มีทางเลือกอื่น และถือข้อมูลที่ทางการให้เป็นข้อเท็จจริง ไม่โต้แย้ง ทําให้ทางการสามารถควบคุมข้อมูลที่ประชาชนในสังคมได้รับ
แต่เมื่อมีอินเทอร์เน็ต ทุกอย่างเปลี่ยนไป สังคมมีข้อมูลมากขึ้น ทั้งจากภาคทางการ สถาบันสื่อของประเทศ และชุดข้อมูลที่ผลิตโดยประชาชนที่กระจายอยู่ในโซเชียลมีเดีย ที่สะท้อนมิติ ความคิดเห็น และมุมมองที่หลากหลาย ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับรู้ข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มีมากก็มีจำนวนมากที่เป็น noise คือเสียงรบกวนทําให้ข้อเท็จจริงที่ควรรับรู้คลุมเครือไม่ชัดเจน นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลหรือข่าวที่แพร่กันในโซเชียลมีเดียก็เน้นความรวดเร็ว รีบสรุปรีบออก ทําให้การวิเคราะห์บางครั้งตื้น ให้ข้อสรุปหรือให้ความเห็นที่เกินพอดี คือเกินที่จะพูดได้ตามข้อเท็จจริงที่มี สร้างความสับสนให้กับคนในสังคม ร้ายสุดคือ Fake News คือการสร้างข่าวเท็จ ข้อมูลเท็จ เรื่องเท็จขึ้นมาอย่างตั้งใจเพื่อหักล้างข้อเท็จจริงที่มี ให้สังคมเข้าใจผิด ให้สังคมเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นไปอีกทางเพื่อปกปิดข้อเท็จจริง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียทั้งในระดับประเทศและสากล ผลคือข้อเท็จจริงกลายเป็นสิ่งที่หายาก กลายเป็นเริ่องที่รอไม่ได้ ขณะที่ความไม่ชัดเจนในข้อมูลก็ส่งผลต่อพฤติกรรมและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมในทางที่ไม่ดี ซึ่งกรณีบ้านเราตัวอย่างก็เช่น
หนึ่ง ความแตกแยกในสังคมมีมากขึ้น ขับเคลื่อนโดยความพอใจและไม่พอใจทางการเมือง ซึ่งสำหรับบ้านเราไม่ใช่เรื่องหลักการหรืออุดมการณ์แต่เป็นเรื่องตัวบุคคล เพราะสังคมไทยแต่ไหนแต่ไรจะให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าเหตุผล ความแตกแยกถูกขยายผลโดยการเผยแพร่ข้อมูลหรือชุดความคิดที่ตอกย้ำความเลวร้ายของอีกฝ่าย ขณะเดียวกันก็ชูความดีงามที่มีในสังคมว่าเป็นของฝ่ายตนแบบไม่ละอาย ทําซํ้าไปซํ้ามากับคนในกลุ่มของตนในลักษณะ Echo Chambers เพื่อไม่ให้รับฟังความเห็นอื่น ทํากันทั้งสองฝ่าย ทํากันต่อเนื่องจริงจังไม่มีวันหยุด ผลคือความแตกแยกในสังคมยิ่งลึกและมีมากขึ้น นำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองของประเทศ
สอง ข้อมูลถูกนํามากระจายในโซเชียลมีเดียโดยไม่สนใจสิทธิ ความถูกต้อง และความจําเป็นที่ต้องเคารพปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ที่ร้ายสุดและเป็นตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นคือกรณีมีการยิงปืนในศูนย์การค้าดังทําให้มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต โซเชียลมีเดียทําตัวเป็นศาลเตี้ยทันที พิพากษาความผิดโดยกระจายข้อมูลผู้ต้องสงสัย ครอบครัว สถานศึกษาในสังคมออนไลน์ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะออกมาให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ ในบ้านเรา ต้องยอมรับว่าการพิพากษาโดยสังคมออนไลน์เกิดบ่อย ขาดจริยธรรมและไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกระทบหรือเป็นข่าว และมักเกิดกับผู้อ่อนแอหรือไม่มีทางตอบโต้ในสังคม เช่น เด็ก เยาวชน พระ เณร เป็นต้น เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมบ้านเราที่มักรังแกคนที่ไม่ตอบโต้แต่ไม่กล้ากับคนที่ตอบโต้แม้คนนั้นจะทำผิดร้ายแรง เช่น ทุจริตคอร์รัปชั่น
สาม ภาครัฐเองก็ใช้สื่อออนไลน์มากในการปฏิบัติหน้าที่และสื่อสาร ทั้งผ่านการให้ข้อมูลสื่อออนไลน์ การปล่อยข่าว คลิป หรือรูปถ่าย ก่อนจะมีการสรุปหรือแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ และการปล่อยข้อมูลด้านนโยบายออกมาให้รับทราบแบบข่าวลือหรือข่าววงในก่อนมีข้อสรุปทางนโยบายเพื่อทดสอบการตอบรับของสื่อและความคิดเห็นของประชาชน ในแง่หนึ่งก็เป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ในอีกแง่หนึ่งที่สำคัญกว่า คือสะท้อนการขาดวินัย มาตรฐาน และความเป็นมืออาชีพในการทําหน้าที่ ให้ความสำคัญกับกระแสสังคมมากกว่าการทําในสิ่งที่ควรทำ ทำให้ความน่าเชื่อในความเป็นสถาบันของหน่วยงานรัฐในสายตาประชาชนลดลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในสิ่งหรือข้อเท็จจริงที่หน่วยงานรัฐแถลงลดลงตามไปด้วย
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียบ้านเราในส่วนที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวสาร การวิเคราะห์ และแสดงความคิดเห็น ซึ่งในแง่นโยบายสาธารณะสะท้อนว่า รัฐไม่สามารถควบคุมข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งต่างจากในอดีต ทำให้รัฐไม่สามารถควบคุมบทสนทนาและความเชื่อของคนในสังคม และในที่สุด ถ้าไม่แก้ไข ก็จะนําไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทําหน้าที่ของภาครัฐ และร้ายสุดคือไม่เชื่อในข้อมูลที่ภาครัฐให้ แม้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องเป็นข้อเท็จจริง เพียงเพราะไม่ไว้ใจสถาบันที่ให้ข่าวหรือให้ข้อมูล
นี่คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับสถาบันภาครัฐไทย เริ่มจากบางองค์กรไม่ใช่ทั้งหมด แต่เมื่อเริ่มแล้วก็จะลามได้ง่ายถ้าไม่แก้ไขหรือหยุดพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ การแก้ไขไม่ได้หมายถึงการเข้าไปควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในอินเทอร์เน็ต แต่หมายถึงการเรียกความเชื่อมั่นในความเป็นสถาบันของภาครัฐกลับมา ว่าเป็นสถาบันที่ประชาชนพึ่งได้ในเริ่องข้อเท็จจริง เหมือนในอดีต โดยส่งเสริมความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการทําหน้าที่ ส่งเสริมรัฐบาลเปิด หรือ Open government และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ
ทั้งหมดนี้ถ้าทําได้ดี ความไว้วางใจหรือ trust ที่ประชาชนมีต่อการทําหน้าที่ของภาครัฐก็จะกลับมาหรือมีต่อเนื่อง ความเชื่อในข้อเท็จจริงที่ภาครัฐให้ก็จะกลับมา ไม่ต้องพึ่งโซเชียลมีเดียในการหาข้อเท็จจริง ผู้เผยแพร่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็จะระมัดระวังมากขึ้น และเมื่อการกล่าวหากันทําได้ไม่ง่ายเหมือนก่อนเพราะมีข้อเท็จจริง การใช้โซเชียลมีเดียแบบEcho Chambers ก็จะลดลง ความแตกแยกในสังคมก็จะดีขึ้นเมื่อประชาชนมีข้อเท็จจริงและได้ฟังความเห็นของทั้งสองฝ่าย
นี่คือประเด็นที่อยากเขียนให้คิดวันนี้
เขียนให้คิด
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พาณิชย์ชวนร้านค้ารับเครื่องหมาย DBD Registered
“นภินทร” ชวน ร้านค้าออนไลน์ รับเครื่องหมาย DBD Registered / DBD Verified สร้างความเชื่อมั่นผู้ซื้อ ป้องกันการถูกหลอกลวง