‘รฟม.’เล็งเจรจา ’บีอีเอ็ม‘ถกเงื่อนไขราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม หนุนนโยบาย 20 บาท ลุ้นข้อพิพาท 1 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาศาลปกครองสูงสุด จ่อเปิดให้บริการสายสีชมพูธ.ค.นี้ ส่วนรถไฟฟ้าภูมิภาคชะลอก่อน
19 ต.ค.2566-นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการดำเนินงานแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า ได้รับรายงานความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่ง รฟม.ยืนยันว่าดำเนินการตามกระบวนการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 อย่างถูกต้อง แต่ตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รอการพิจารณาจากศาลปกครองแล้วเสร็จก่อน ตามข้อพิพาทที่มีระหว่าง รฟม.และภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 1 คดี โดยกระบวนการเหล่านี้ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าศาลปกครองจะพิจารณาอย่างไร ดังนั้นโครงการนี้นับว่าปัจจุบันยังไม่ได้เกิดปัญหา ขณะที่ประเด็นเรื่องส่วนต่างราคาประมูล และวิธีจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องพวกนี้เป็นแค่ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ส่วนตัวจึงมองว่าเรื่องพวกนี้ยังไม่ได้มาถึงขั้นตอนของกระทรวงคมนาคม เรื่องสายสีส้มยังอยู่ในขั้นตอนรอศาลปกครองพิจารณาอยู่
นายสุรพงษ์ กล่าวว่าขณะที่นโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 ตลอดสายนั้น เป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการผลักดัน เพื่อดูแลประชาชน ลดค่าครองชีพในการเดินทาง สนับสนุนให้คนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น โดยปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วส่วนของโครงการรถฟ้าของภาครัฐ ขณะที่โครงการที่มีสัญญากับภาคเอกชน อาทิ สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีน้ำเงิน รวมไปถึงสายสีส้มที่เปิดประมูลไปแล้ว นับว่าเป็นกลุ่มที่มี พรบ.ร่วมทุน ดังนั้นต้องมีวิธีการดำเนินการ การเจรจากับเอกชนในรูปแบบต่อไป แต่อย่างไรก็ดี นโยบายของรัฐบาลต้องดำเนินการจัดทำค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท
“ทุกโครงการรถไฟฟ้าที่มี พรบ.ร่วมทุน เป็นโครงการ PPP จะต้องมีวิธีการจัดการแตกต่างออกไปจากรถไฟฟ้าของภาครัฐ ก็ต้องรอกระบวนการเจรจาก่อน แต่แน่นอนว่านโยบายรัฐบาลมีโอกาสที่จะทำให้ทุกสายทำราคาค่าโดยสาร 20 บาท รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายสีส้มที่รอลงนามสัญญาก็ต้องเจรจากับเอกชน แต่โครงการรถไฟฟ้าร่วมทุนเหล่านี้ ต้องให้ระยะเวลาศึกษาตัวเลข วิธีการผลลัพธ์ต่างๆ และต้องทำให้รอบคอบพอ เพื่อให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุนด้วย”นายสุรพงษ์ กล่าว
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า การกำหนดอัตราราคาค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น หาก ครม.มีมติให้ดำเนินการ รฟม.จะต้องเริ่มขั้นตอนเจรจากับเอกชนผู้ชนะการประมูลใหม่ เนื่องจากโครงการนี้ปัจจุบันได้เจรจารายละเอียดในสัญญาไปแล้ว เพียงแต่อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เพื่อนำโครงการเสนอ ครม.
ดังนั้นหากมีนโยบายเพิ่มรายละเอียดเรื่องปรับลดค่าโดยสาร รฟม.จะต้องเจรจากับเอกชน ซึ่งจะต้องประเมินวงเงินชดเชยให้เอกชนเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ หากกรณีที่ต้องเจรจากับเอกชนใหม่ ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเฉพาะส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ปัจจุบันงานโยธาใกล้แล้วเสร็จ แต่หากต้องกลับมาเริ่มเจรจารายละเอียดสัญญาร่วมทุนที่ต้องเพิ่มข้อมูลปรับราคาค่าโดยสารเหลือสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ทางเอกชนอาจยังไม่สามารถเริ่มเปิดให้บริการเดินรถได้
“สายสีส้มตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรอศาลปกครองสูงสุดพิจารณาอีก 1 คดีที่เหลืออยู่ คือ คดีเกี่ยวกับเงื่อนไขการประกวดราคาครั้งใหม่ โดยส่วนตัวประเมินจากข้อพิพาทก่อนหน้านี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน น่าจะได้ข้อสรุป หลังจากนั้น รฟม.จะเสนอผลการประมูลไปยัง ครม.พิจารณาอนุมัติเพื่อลงนามสัญญา โดยหาก ครม.มีมติให้ปรับราคาค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ก็จะทำให้ต้องกลับมาเจรจากับเอกชนเพิ่มเติม ก่อนลงนามสัญญา”นายภคพงศ์ กล่าว
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ค่าโดยสารที่กำหนดไว้ในสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม มีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 15 – 45 บาท แต่หาก ครม.มีมติให้ปรับราคาลงตามนโยบายรัฐบาล ก็จะทำให้มีราคาค่าโดยสารในอัตรา 15 – 20 บาท ซึ่งผลต่างเหล่านี้ ทำให้ต้องเจรจากับเอกชนคู่สัญญาด้วยว่าจะสามารถชดเชยส่วนต่างอย่างไร ดังนั้นจึงยังไม่สามารถลงนามสัญญา และเริ่มเปิดเดินรถก่อนในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. ที่บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการฯ มีหนังสือแจ้งขอเปิดบริการเป็นทางการแบบเก็บค่าโดยสารวันที่ 18 ธ.ค. 66 และเปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการฟรีกลางเดือนพ.ย. นั้น ยังอยู่ระหว่างการทดสอบระบบรวมทั้งหมด เพื่อให้มีความปลอดภัยมากที่สุดครอบคลุมทุกมิติ
ทั้งนี้ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ จะประชุมกับ NBM เพื่อหารือกับผลการทดสอบ และเตรียมความพร้อมเปิดทดลองให้บริการประชาชนฟรีช่วงเดือน ธ.ค.66 นาน 1 เดือน จากนั้นจะเปิดบริการจริงแบบเก็บค่าโดยสารเดือน ม.ค.2567
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ระยะทาง 22.1 กม. มูลค่าการลงทุน 41,720 ล้านบาทนั้น กระทรวงคมนาคมได้ให้ความเห็นหลับมายัง รฟม. ว่า ต้องกลับมาศึกษาและทบทวนแผน โดยเฉพาะการวิเคราะห์เรื่องค่าโดยสาร จากเดิมมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารไว้ที่ 15-45 บาท แต่ในปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน
ทั้งนี้ การทบทวนแผนดังกล่าว เพื่อประกอบในรายงานและกำหนดเป็นเงื่อนไขในเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาและทบทวน 2 เดือน ก่อนจะเสนอกลับไปยังกระทรวงคมนาคมได้ภายใน ธ.ค. 2666 หลังจากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในช่วงต้นปี 2567 จากนั้นจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนในช่ววกลางปี 2567 เริ่มสร้างกลางปี 2568 แล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการ มิ.ย. 2571
นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ในภูมิภาค ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ รฟม.ทั้งที่จ.ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่และพิษณุโลกจะเลื่อนออกไปทั้งหมดเพื่อรอเวลาที่เหมาะสม และไม่กระทบปัญหาจราจร เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีการดำเนินการระบบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจำนวนมาก ทั้งโครงการของกรมทางหลวง (ทล.) และโครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งโครงการล้วนมีแนวเส้นทางดำเนินการบนทางหลวงหมายเลข 402 สายโคกกลอย-เมืองภูเก็ต หรือถนนเทพกระษัตรี เป็นทางหลวงสายหลักของจังหวัดภูเก็ต
“ตอนนี้ทุกโครงการลงทุนระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาคต้องชะลอออกไปก่อน เพราะ รฟม.ต้องการให้การก่อสร้างโครงข่ายทางถนนแล้วเสร็จ มีเส้นทางถนนสายรองเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้เดินทาง หลังจากนั้น รฟม.จึงจะก่อสร้างโครงการระบบราง ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะทำให้ลดผลกระทบของประชาชนในการใช้ถนน และท้ายที่สุดจะเกิดประโยชน์เมื่อโครงการะบบรางแล้วเสร็จ”นายภคพงศ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เฮ! ครม. ไฟเขียวต่ออายุ 'รถไฟฟ้า 20 บาท' สายสีแดง-สีม่วง
คนกรุงเฮ! ครม.สัญจร อนุมัติรถไฟฟ้า 20 บาท สายสีแดง-สีม่วง อีก 1 ปี เริ่ม 1 ธ.ค.
20 บาทตลอดสายส่งผล ผู้โดยสารรถไฟฟ้าพุ่ง
รฟม. เผยครบรอบ 1 ปี นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ผลดีเกินคาด ทำยอดผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT และผู้ใช้บริการอาคารจอดแล้วจรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
‘สุริยะ’ สั่ง รฟม. ลงโทษ ’NBM‘ เหตุประตูรถไฟฟ้าเปิดกลางทางขู่ลงดาบแบล็กลิสต์
‘สุริยะ’เอาจริง มอบ รฟม. ส่งหนังสือถึง ‘NBM’ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู จ่อดำเนินการตามบทลงโทษขั้นสูงสุด หลังเกิดเหตุประตูขบวนรถเปิดกลางทาง ลั่นไม่สามารถประนีประนอมหรือต่อรองได้ ย่ำหากไม่ปรับปรุงจ่อลงดาบแบล็กลิสต์
รฟฟท. เผยความสำเร็จนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ครบ 8 เดือน มีผู้ใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เผยความสำเร็จของนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ครบ 8 เดือน มีผู้ใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
'ดร.สามารถ' แพร่บทความ บทเรียนสูญ 1.3 แสนล้าน รถไฟฟ้าสายสีส้ม ต้องมีผู้รับผิดชอบ
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ รถไฟฟ้าสายสีส้ม "บทเรียนที่ต้องเรียน" มีเนื้อหาดังนี้