บาทอ่อน หนุนส่งออกไตรมาส 4 ฟื้น ชี้ปี 67 กลับมาโต 3.6%

ม.หอการค้าฯ จับชีพจรส่งออกไทยปี
67 สัญญาณฟื้นพลิกโต 3.6% จากปีนี้ -2%

17 ต.ค. 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินแนวโน้มการส่งออกไทย ปี 67 โดยคาดว่าจะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 3.6% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีมากขึ้น นอกจากนี้ นโยบายผลักดันการส่งออกสินค้าจากหน่วยงานภาครัฐของไทย จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการส่งออกในตลาดต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จาก Soft Power เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าส่งออกของไทย, การแก้ปัญหา-อุปสรรคการค้าชายแดน, การผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้า (FTA) มากขึ้น เป็นต้น

“การส่งออกของไทยมีสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/66 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ไม่หวือหวา โดยจะค่อยๆ ฟื้นตัว และชัดเจนขึ้นในกลางปี 67 และเชื่อว่าการส่งออกจะเป็นพระรองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้า ส่วนพระเอกน่าจะเป็นเงินดิจิทัล โดย ม.หอการค้าไทย คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4.5-5%” นายธนวรรธน์ ระบุ

อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในปี 67 ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสูงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้า จะชะลอตัวลงจากปี 66 โดย IMF คาดว่าเศรษฐโลกปีหน้าจะเติบโตได้ 2.9% จากปีนี้ที่ 3% ส่วน OECD คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะเติบโตได้ 2.7% จากปีนี้ที่ 3% โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงชะลอตัวจากปัญหาดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และอัตราการว่างงานที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจีน ยังถูกกดดันจากวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ การบริโภคที่อ่อนแอ และภาคเอกชนยังไม่มั่นใจในการลงทุน

ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงจากเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ภายในปี 67 รวมทั้งรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลให้เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้า, ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิต และราคาสินค้า

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า อีกปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อ แต่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยน้อยลง และไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น, ความขัดแย้งในทุกมิติระหว่างสหรัฐฯ – จีน ทั้งสงครามการค้า การแข่งขันด้านเทคโนโลยี และการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน

รวมทั้งล่าสุด สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังอิสราเอลไม่มากนัก ที่ -0.1 ถึง -1.7% โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ได้ประเมินผลกระทบที่จะมีต่อการส่งออกในภาพรวมของไทย จากสงครามอิสราเอลไว้ 3 กรณี ดังนี้

 – กรณีสงครามยืดเยื้อ (โอกาสเกิด 30%) ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก 370 ล้านดอลลาร์ ส่งออก หดตัว 0.1%

 – กรณีสงครามยืดเยื้อจนปิดเส้นทางขนส่ง (โอกาสเกิด 10%) ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก 850 ล้านดอลลาร์ ส่งออก หดตัว 0.3%

 – กรณีสงครามขยายวงกว้างทั่วตะวันออกกลาง (โอกาสเกิดน้อยกว่า 5%) ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก 4,770 ล้านดอลลาร์ ส่งออก หดตัว 1.7%

นายพูนทวี ชัยวิจิตมลากูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาส 4/66 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่า การส่งออกของไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ จะสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ 6.8% คิดเป็นมูลค่าราว 70,500 ล้านดอลลาร์ จากไตรมาส 3/66 ที่คาดว่าจะหดตัว 3.2% ขณะที่การส่งออกไทยทั้งปี 66 คาดว่าจะยังหดตัว 2% ที่มูลค่าประมาณ 281,500 ล้านดอลลาร์

 ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะส่งผลให้การส่งออกไทยไตรมาส 4 ปีนี้ ขยายตัวได้ มาจาก 1.ฐานการส่งออกที่ต่ำของไตรมาส 4 ปี 65 2.แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า 3.เงินเฟ้อชะลอตัว 4.สินค้าเกษตรและอาหารส่งออกได้มากขึ้น จากประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหาร 5.นโยบายผลักดันการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยสินค้าส่งออกเด่นของไตรมาส 4/66 ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ, อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์, ผลไม้, ข้าว เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า, อัตราดอกเบี้ยในประเทศคู่ค้ายังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อการบริโภค การลงทุนทางธุรกิจที่ชะลอตัว ทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 4 จากการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค และความกังวลภาวะสงครามในอิสราเอล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าช่วงไตรมาส 4 ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในช่วง 88-93 ดอลลาร์/บาร์เรล นอกจากนี้ ยังเผชิญปัญหาเอลนีโญ ที่มีผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรของไทย ที่อาจจะลดลงราว 2.2-6.5%

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“โครงการสลากสรรค์สร้างเพื่อชุมชน”ปีที่6 พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมสร้างรายได้-ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่น

โครงการสลากสรรค์สร้างเพื่อชุมชน เป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

กินเจคึกคักหนุนเงินสะพัด 4.4 หมื่นล้าน

"ศูนย์พยากรณ์ฯ" เผย ผลสำรวจการใช้จ่ายช่วงเทศกาลกินเจปี66 กลับมาคึกคัก ประชาชนมั่นใจเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวฟื้นตัว ค่าใช้จ่ายปีนี้สูง 4,587 บาท สูงในรอบ 16 ปี คาดเงินสะพัด 44,558 ล้านบาท

จัดตั้งรัฐบาลล่าช้าฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน

หอการค้าเผยคนห่วงตั้งรัฐบาลล่าช่า ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ก.ค. ลดลงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน แตะระดับ 55.6

หอการค้าชี้ 'หนี้ครัวเรือน' ไทยพุ่งมากที่สุดในรอบ 15 ปี 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสถานภาพ "หนี้ครัวเรือน" ไทยปี 2566 พบว่า ภาระ "หนี้ครัวเรือน" เพิ่มสูงขึ้น มากที่สุดในรอบ 15 ปี