อลวน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ นักวิชาการฮึ่ม! ค้านห่วงวินัยคลังพังครืน 'รบ.'ปักหลักลุยต่อ

ยังเป็นประเด็นที่ถูกจับตาจากหลากหลายฝ่ายอย่างมาก สำหรับ “มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ของรัฐบาล นั่นเพราะมีทั้งเสียงที่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการดังกล่าวของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็มีเสียงคัดค้านในหลากหลายมิติ ทั้งให้ทบทวน ให้ปรับแก้ในส่วนต่างๆ ของมาตรการ และที่ดูจะถูกจับตามองมากที่สุดเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งยอดพุ่งไปกว่า 133 คน ลงชื่อคัดค้านนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต อาทิ วิรไท สันติประภพ, ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), อัจนา ไวความดี, บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการ ธปท., สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และนิพนธ์ พัวพงศกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นต้น

และได้ออกแถลงการณ์ 7 ข้อคัดค้าน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายดังกล่าว เนื่องจาก “ได้ไม่คุ้มเสีย” โดยระบุว่า 1.เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศยังอาจเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก 2.เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาท ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล หรือในการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น เพื่อเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาว แทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป

3.การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงิน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบ เป็นการคาดหวังที่เกินจริง การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย สุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และ/หรือราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะเงินเฟ้ออันเนื่องมาจากการเพิ่มปริมาณเงิน 4.เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่าจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินของรัฐ ก็ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น

5.หลังวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง เพื่อสร้างที่ว่างทางการคลังไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น การทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง ไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐและเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย 6.การแจกเงินคนละ 10,000 บาทให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม เศรษฐีและมหาเศรษฐีที่อายุเกิน 16 ปีล้วนได้รับเงินช่วยเหลือทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น และ 7.สำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและรักษาวินัย เสถียรภาพด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์จึงเรียกร้องให้รัฐบาล ยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้นน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาว

แม้รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ทำลายความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว หากจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อย ก็ควรทำแบบเฉพาะเจาะจงแทนการเหวี่ยงแหครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทยและความสามารถในการจัดเก็บภาษีไม่เอื้อให้ประเทศทำเช่นนั้น

     ขณะเดียวกัน ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีใจความสำคัญระบุว่า ข้ออ้างว่า โครงการเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยจะนำประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลนั้น เป็นการโฆษณาเกินจริง พร้อมทั้งให้ข้อแนะนำกับคณะกรรมการเกี่ยวกับเงินดิจิทัล ด้วยว่า 1.ถ้ารัฐจะลงทุนสร้างระบบบล็อกเชนใหม่ จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ ทั้งในการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแต่ละปี 2.ระบบบล็อกเชนใหม่ที่รัฐจะสร้างขึ้น จะตรวจสอบแต่ละธุรกรรมใช้เวลานานกี่นาทีและจะมีค่าใช้จ่ายไฟฟ้าและระบบคอมพิวเตอร์เท่าไหร่ 3.การสร้างระบบบล็อกเชนใหม่ รวมถึงการทดสอบเพื่อให้ปลอดภัย 100% จะต้องใช้เวลานานแค่ไหน และ 4.เหตุใดจึงไม่ใช้ระบบที่มีอยู่แล้ว

     เช่นเดียวกัน สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กมธ.งบประมาณ ปี 2566 ก็เป็นอีกหนึ่งท่านที่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า ทำไมการแจกเงินดิจิทัลจึงมีประเด็นเสี่ยงให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอย! เตือนกัน ไม่ใช่ต้องการขวางการแจกเงิน แต่ต้องแจกโดยไม่ผิดกฎหมาย พร้อมทั้งแจกแจงรายละเอียด 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.การอยากแจกไวๆ ภายใน 1 ก.พ.2567 เพราะพูดจาหนักแน่นไปแล้วจนคนตั้งความหวังกันทั้งประเทศ เป็นการแจกทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ยังไม่ผ่านสภา เมื่อยังไม่ผ่านสภาก็เอาเงินงบประมาณออกมาใช้ไม่ได้ 2.การบอกว่าจะยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจมาใช้ก่อนและเอางบประมาณรัฐคืนภายหลัง เป็นการทำข้อตกลงถึงสิ่งที่ไม่ชัดเจนในอนาคต ผู้ยืมก็เสี่ยง ผู้ให้ยืมก็เสี่ยง

     3.ป.ป.ช.จะดูทั้งความโปร่งใสและผลเสียที่เกิดในอนาคต ในด้านความโปร่งใส คือ กระบวนการบริหาร ใช้บริษัทใดเป็นคู่สัญญาทำโปรแกรมบล็อกเชน มูลค่าจ้างเท่าไร จ้างแบบจำเพาะเจาะจง หรือมีการฮั้วประมูลหรือไม่ 4.ในด้านความรั่วไหลหรือผลเสียในอนาคต มีการรับจ้างลงทะเบียน มีขบวนการรับจ้างไปซื้อของ มีการทุจริตร่วมระหว่างร้านค้ากับผู้ซื้อ มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่ ส่วนผลเสียในอนาคต คือ การมีภาระหนี้สาธารณะจนเป็นปัญหาต่องบประมาณแผ่นดินในอนาคตหรือไม่ และ 5.ทำดี ประชาชนชอบ ประชาชนได้ประโยชน์ แต่ผิดกฎหมาย ผิดวินัยการเงินการคลัง มีช่องว่างให้ทุจริตทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ใหญ่แค่ไหน ก็ติดคุก อดีตมีให้เห็นมากมาย ห้องชั้น 14 มีไม่มากพอ

     ซึ่งก่อนหน้านี้ สมชัย ได้เคยมีการโพสต์เกี่ยวกับข้อเสนอทางออก “3 ถอย” สำหรับรัฐบาลในโครงการดังกล่าว เพราะการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่ต้องใช้เงินราว 560,000 ล้าน อาจไม่ง่ายดังที่หาเสียง เพื่อไทยจึงต้องถึงเวลา “3 ถอย” ได้แก่ 1. ถอยวันแจก ไม่สามารถทำได้ในวันที่ 1 ก.พ.2567 เพราะงบประมาณกว่าจะออกก็กลาง เม.ย.2567 ดังนั้นหากจะใช้งบแผ่นดิน ไม่กู้ ต้องแจกได้ประมาณ พ.ค.2567 และ 2. ถอยเป็น 2 งวด คือ พ.ค.และ พ.ย.2567 เพื่อเป็นการแบ่งเงินก้อนดังกล่าวให้กระจายใน 2 ปีงบประมาณ ซึ่งมีความเป็นไปได้ในหาการเม็ดเงิน 3. ถอยเงื่อนไขแจก เปลี่ยนเงื่อนไขการแจกเป็นแบบให้ทุกคนที่อายุ 16 ขึ้นไปแบบสมัครใจ โดยแพลมมาแล้วว่า อาจใช้วิธีลงทะเบียน ใครใคร่ได้ก็ลงทะเบียน ใครไม่อยากได้ก็ไม่ต้องลง เพื่อให้คนรวย ไม่เดือดร้อน แสดงสปิริตช่วยชาติ (ความจริงคือช่วยหน้า)

     “ย้ำจุดยืนเดิม คือ ถอยทั้งโครงการดีที่สุด ผมก็ไม่ได้ด้วย แต่หากยังเดินหน้า ก็ไม่สละสิทธิ์เพื่อช่วยรักษาหน้าคนครับ” สมชัย ระบุ

     ในมุมของผู้สนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล ก็ได้มีการออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยประชาชนในนาม กลุ่มผู้สนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ได้เดินทางมาที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือแสดงเจตนารมณ์และสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ภายหลังจากมีนักวิชาการและสมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางส่วนออกมาคัดค้าน พร้อมมองว่านโยบายดังกล่าวเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมในการสร้างโอกาสและต่อลมหายใจในการดำรงชีวิตของประชาชน และตลอดจนสร้างอาชีพ ทำให้คนไทยมีเกียรติศักดิ์ศรีลืมตาอ้าปากได้ จึงขอให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการดังกล่าวเพื่อเป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงและแถลงต่อรัฐสภา

     ส่วนการคัดค้านของฝ่ายนักวิชาการนั้น มองว่า มีอคติต่อรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เห็นหัวประชาชนคนยากจน จึงพยายามชี้ให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวขัดต่อนโยบายการเงินการคลัง หรือจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนี้ โดยไม่มีความเข้าใจถึงเรื่องพายุหมุนทางเศรษฐกิจ หรือดิจิทัลอีโคโนมิกส์ พร้อมมองว่าการคัดค้านดังกล่าวทำให้เห็นว่าคนรวยบางกลุ่มมองไม่เห็นหัวคนจนรากหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

     อย่างไรก็ดี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้ออกมายืนยันหนักแน่นแล้วว่า รัฐบาลจะยังคงเดินหน้ามาตรการดังกล่าวต่อไป

     ผมขอยืนยันว่า การเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทางรัฐบาลนี้รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกี่ยวกับนโยบายโครงการเงินดิจิทัล ได้มีการหารือกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้มีการรับฟังปัญหารวมถึงข้อเสนอจากทุกหน่วยงาน รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย และก็น้อมพิจารณา เพื่อที่จะมีการปรับปรุงแต่งเติมให้ทุกอย่างดีขึ้นแต่ ไม่มีการยกเลิกแน่นอน

     ทั้งนี้ โครงการเงินดิจิทัลไม่ใช่โครงการหาเสียง ไม่ใช่โครงการที่มาโปรยเงินให้กับประชาชนเพื่อให้กลับมาเลือกพรรคเพื่อไทย (พท.) ในการเลือกตั้งรอบหน้า แต่เป็นโครงการที่การันตีว่าเป็นความจำเป็นของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

     เช่นเดียวกันกับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง หัวเรี่ยวหัวแรงหลักของโครงการนี้ ก็ได้ออกมายืนยันชัดเจนด้วยเช่นกันว่า “คำว่าไม่ทำ ไม่มีอยู่ในความคิด เพราะได้รับมอบหมายมาแล้ว ได้แถลงนโยบายต่อสภาแล้ว ประชาชนเองก็อยากได้ อยากเห็นนโยบายนี้เดินหน้า การบอกว่าเราจะไม่ทำเป็นไปไม่ได้ แต่ในทางกลับกัน เราจะพยายามทำให้มากที่สุด โดยพิจารณารายละเอียดของกรอบกฎหมาย เราไม่ทะลุกรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลังอย่างแน่นอน ภาระต่องบประมาณและวินัยการเงินการคลัง” พร้อมทั้งยืนยันว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีความจำเป็นที่จะมาช่วย รีสตาร์ท ชีวิตของประชาชน และช่วยสร้างเม็ดเงินให้กระจายไปทั่วประเทศ ส่วนรายละเอียดของโครงการ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ จะมีข้อสรุปที่ชัดเจนภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้

     อย่างไรก็ดี เป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ใช้วงเงินมหาศาลถึง 560,000 ล้านบาทจะมีข้อสรุปออกมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ ถือว่าเป็นข้อเป็นห่วงสำคัญ ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าพร้อมจะรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นของทุกส่วนเพื่อนำไปพิจารณาร่วม ส่วนท้ายที่สุดแล้วโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะ “ได้คุ้มเสีย หรือ เสียไม่คุ้มได้” คงต้องดูกันอีกยาว!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิพนธ์' ซัดรัฐบาลแจกเงินหมื่น เฟส 2 หวังผลการเมือง ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ

นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย-อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายก อบจ. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนในระบบและยืนยันตัวตนแล้ว รวมกว่า 4 ล้านคน

ป้า 67 ป่วยหลายโรค หาบเร่ขายของเลี้ยงชีพ หวังได้เงินหมื่น เฟส 2 หวั่นตกหล่น บัตรคนจนก็ไม่มี

บุรีรัมย์ ป้า 67 ป่วยความดัน มีก้อนเนื้อที่คอ แต่ต้องหาบเร่ขายของเลี้ยงชีพและลูกพิการ หวังได้เงินหมื่น เฟสสอง มาแบ่งเบา

รัฐบาลเคาะแจกเงินหมื่น เฟส 2 ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ก่อนวันตรุษจีนปี 68

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง

คกก.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นัดประชุมครั้งแรก 19 พ.ย. ถกแจกเงินดิจิทัลรอบใหม่

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังหารือกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และหน่วยงานเศรษฐกิจว่า ในวงหารือได้เคาะวันประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ