‘สุริยะ’ ดัน 3 โปรเจ็กต์มอเตอร์เวย์วงเงิน 9.19 หมื่นล้านลั่นยุคนี้ต้องไม่มีส่วยทางหลวง

‘สุริยะ’ ตรวจงาน ’กรมทางหลวง’ดัน 3 โปรเจ็กต์มอเตอร์เวย์ ’M5-M9-ต่อขยาย M7‘ วงเงิน 9.19 หมื่นล้าน จ่อชง ครม. ไฟเขียวปีนี้ เริ่มสร้างปีหน้า เสร็จปี 71 เล็งของบฯ ปี 67 กว่า 3.38 แสนล้าน เร่งจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จปีหน้า ลั่นยุคนี้ต้องไม่มีส่วยทางหลวง

11 ต.ค.2566-นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายกรมทางหลวง (ทล.) ว่า ตนได้มอบนโยบายให้ ทล. เร่งเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายทางถนน โดยเฉพาะถนนสายหลักเชื่อมภูมิภาคต่างๆ และเชื่อมระหว่างจังหวัด เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งด้านการเกษตร การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม รวมถึงเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสาร และสินค้าจากถนนสู่ท่าเรือ หรือจากถนนสู่ท่าอากาศยานแบบไร้รอยต่อ และบูรณาการคมนาคมขนส่งในทุกมิติ

ทั้งนี้ในส่วนบริหารการเบิกจ่ายงบประมาณ และสัญญาของโครงการต่างๆ นั้น มอบหมายให้ ทล. ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า พร้อมทั้งจัดเตรียมทุกขั้นตอนก่อนลงนามสัญญาก่อสร้าง อาทิ การเวนคืนที่ดิน การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค การสำรวจสภาพพื้นที่ก่อสร้างให้ตรงกับแบบที่ออกไว้ โดยเฉพาะโครงการในงบประมาณปี 2567 เนื่องจากมีระยะเวลาการทำงานที่สั้นลง ซึ่งโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์สายใหม่ที่ต้องเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้มีการลงนามสัญญาก่อสร้างได้ทันภายในรัฐบาลนี้ 

สำหรับโครงการที่มีความพร้อม และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเร่งด่วน 3 โครงการ ระยะทางรวม 59.77 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 91,901 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท 2.มอเตอร์เวย์หมายเลข 5 (M5) สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน 22 กม. วงเงิน 31,358 ล้านบาท และ 3.โครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 (M7) ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.92 กม. วงเงินลงทุน 4,508 ล้านบาท 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ให้ ทล.จัดลำดับความสำคัญโครงการเร่งด่วน ที่มีสัญญาอยู่แล้ว และอยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยกำชับให้ดำาเนินการแล้วเสร็จ เพื่อเปิดให้บริการโดยเร็ว ได้แก่ โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา, โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สาย M81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี, โครงการทางยกระดับบนถนนพระราม 2 และมอเตอร์เวย์สาย M82 สายบางขุนเทียน–บ้านแพ้ว, โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต และโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สั่งการให้ ทล. เดินหน้าแผนพัฒนายกระดับระบบคมนาคมในพื้นที่ จ.ภูเก็ต

เช่น โครงการขยาย 4 ช่องจราจรบนทางหลวงเลี่ยงเมืองหมายเลข 4027 พร้อมทั้งการปรับปรุงแนวใหม่บริเวณทางแยกเข้าสนามบิน อีกทั้งโครงการปรับปรุงทางลอดบริเวณแยกอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เป็นต้น โดยจะต้องเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จในปี 2567 

นอกจากนี้ สั่งการให้ ทล.เร่งแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ลดปัญหาอุบัติเหตุ และปัญหามลพิษ PM2.5 มุ่งเน้นการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ควบคุมการเข้า-ออก โดยไม่มีจุดตัดทางแยกตามกรอบการดำเนินการโครงข่ายทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมืองกับระบบราง (MR-Map) ที่ ทล.ได้ดำเนินการศึกษาไว้ สนับสนุนการขนส่งสินค้า ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาค เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างโอกาสความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ผลักดันให้ประเทศไทยเป็ นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต่อไป

“ส่วนเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือส่วยสติ๊กเกอร์ทางหลวงนั้น ได้สั่งการว่า ในช่วงที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะต้องไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น และผมจะออกเดินทางไปตรวจสถานีด่านชั่งน้ำหนักว่า ทล. ได้ดำเนินกาคตามนโยบายของผมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากดำเนินการของ ทล. พบว่า มีการทุจริตเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม จะให้ไฟเขียวตำรวจเต็มที่ในการสอบสวน และสั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงคมนาคมให้ความร่วมมือเต็มที่ไม่ให้หลุดรอดไปได้“ นายสุริยะ กล่าว

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ทล. กล่าวว่า ทล. มีโครงข่ายที่รับผิดชอบ 1,530 สายทาง ระยะทาง 52,293 กม. ในปีงบประมาณ 2566 ได้รับ 118,994.93 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 96.12% หรือประมาณ 110,000 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2567 ทล.ได้ยื่นคำของบประมาณ จำนวน 338,418.3181 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าในปีงบประมาณ 2566 ประมาณ 40,000 ล้านบาท หรือปีงบฯ 2566 ขออยู่ที่ 298,418.3181 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ทล. ได้มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัย และโครงการในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ตามนโยบายของนายเศรฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เช่น โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา-บ.เมืองใหม่ วงเงิน 510 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ.เมืองใหม่-สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต วงเงิน 2,468 ล้านบาท และ โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่อเรือ) ที่ กม. 34+680 (ทล.402) วงเงิน 2,425 ล้านบาท

ในส่วนของโครงการที่เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบ 3 โครงการ ระยะทางรวม 59.77 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 91,901 ล้านบาท ตามนโยบายของนายสุริยะนั้น ได้แก่ 1.โครงการมอเตอร์เวย์ M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท ปัจจุบันผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) แล้ว โดยรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างงานโยธา งานระบบดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ระยะเวลา 34 ปี ดำเนินงานโยธา 4 ปี และ O&M 30 ปี

2.โครงการมอเตอร์เวย์ M5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน 22 กม. วงเงิน 31,358 ล้านบาท ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการ PPP แล้ว โครงการใช้รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP Gross Cost) โดยเอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างงานโยธา งานระบบดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ระยะเวลา 34 ปี ดำเนินงานโยธา งานระบบ 4 ปี และ O&M 30 ปี 

โดยทั้ง 2 โครงการนี้ จะเสนอกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเตรียมเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบภายในปี 2566 จากนั้นจัดทำร่างเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (Request For Proposal : RFP) และรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน พร้อมประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน และเปิดประมูลไตรมาส 3 ปี 2567 (ก.ค.-ก.ย. 2566) เริ่มก่อสร้างภายในปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างและติดตั้งระบบ 4 ปี คาดเปิดให้บริการปี 2571

3.โครงการมอเตอร์เวย์ M7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.92 กม. วงเงินลงทุน 4,508 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงาน 4,400 ล้านบาท และค่าเวนคืน 108 ล้านบาท ขณะนี้ได้เจรจาแหล่งเงินกู้กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) เรียบร้อยแล้ว สัดส่วนเงินกู้ 80% หรือ 3,520 ล้านบาท และเงินงบประมาณ 20% หรือ 880 ล้านบาท โดยเรื่องเงินกู้ได้บรรจุในแผนเงินกู้แล้ว 

ส่วนเงินงบประมาณได้จัดตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 880 ล้านบาท และรอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณปี 2567 ผ่าน คาดจะประกาศใช้ประมาณเดือน เม.ย. 2567 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการประกวดราคาหาผู้รับจ้าง โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ADB ซึ่งจะคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีศักยภาพ ประสบการณ์ ผลงาน เงินทุนจดทะเบียน และดำเนินการเป็นไปตามระเบียบสิ่งแวดล้อม คาดว่าเดือน ส.ค.-ก.ย. 2567 จะได้ตัวเอกชนผู้รับจ้าง จากนั้นจะก่อสร้างภายในปี 2567 แล้วเสร็จปี 2569 ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2.5 ปี ขณะที่ โครงการ M9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 34.1 กม. วงเงิน 15,260 ล้านบาท จะดำเนินการในระยะต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พระราม 2 ไม่แผ่ว! สั่งสอบด่วน บันไดเหล็ก 14 เมตร พังล้มทับถนน

'อธิบดีทางหลวง' สั่งสอบด่วน เหตุบันไดเหล็กเสาตอม่อมอเตอร์เวย์ ล้มบนถนนพระราม 2 ยันทุกโปรเจกต์หยุดก่อสร้าง คืนผิวจราจรให้ประชาชนสัญจรช่วงสงกรานต์

เปิดไทม์ไลน์อุ้มฆ่า 'หนุ่มไต้หวัน' พบอยู่แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ความคืบหน้ากรณีพบศพชายชาวไต้หวันถูกจ่อยิงสองนัดอย่างโหดเหี้ยม ก่อนจะนำศพมาหมกไว้ในร้านค้าร้างริมถนนสุวรรณภูมิสาย 4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

'ทางหลวง' ลุยชง ครม.เคาะ 4 โปรเจ็กต์มอเตอร์เวย์ วงเงิน 1.4 แสนล้าน

“กรมทางหลวง” เข็น 4 โปรเจ็กท์มอเตอร์เวย์ 156 กม. วงเงินรวม 149,268 ล้านบาท ชง ครม. อนุมัติปีนี้ จัดเต็ม M5-M9 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ชวนเอกชนลงทุนปลายปีนี้ เริ่มสร้างปี 69-71 ขณะที่ M9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ตั้งธงสร้างปี 68-71 ด้าน M8 ประเดิม ช่วงนครปฐม-ปากท่อก่อน เตรียมแผนสร้าง 69-73

คมนาคม ชง ครม.รับทราบของขวัญปีใหม่ วิ่งทางด่วน -มอเตอร์เวย์ ฟรี

“สุริยะ” แกะกล่องของขวัญปีใหม่รับปีมังกร ส่ง “Gifts” คมนาคมส่งความสุข 2567 มอบให้ประชาชน เตรียมเสนอ ครม.รับทราบวันพรุ่งนี้ จัดเต็มเปิดฟรี “มอเตอร์เวย์ 5 เส้นทาง-ทางด่วน-รถไฟฟ้าสีชมพู-จอดรถ 3 สนามบิน” ขยายเวลาให้บริการรถไฟฟ้า-รถเมล์ในคืนเคาน์ดาวน์ถึงตี 2 สั่งหน่วยงานเน้นย้ำความปลอดภัยสูงสุด คืนผิวจราจร-หยุดงานก่อสร้าง อำนวยความสะดวกการเดินทางเต็มที่

มอเตอร์เวย์เชื่อมอู่ตะเภาส่อเลื่อนหลังงบปี 67 สะดุด เข้าสภาไม่ทัน

“กรมทางหลวง” ขยับไทม์ไลน์ตอกเสาเข็ม มอเตอร์เวย์เชื่อม “สนามบินอู่ตะเภา” หลังร่างงบประมาณปี67สะดุดเสนอเข้าสภาฯไม่ทัน เล็งชง ครม.ใหม่เคาะ ตั้งเป้าสร้างแล้วเสร็จ 2ปีครึ่ง รับเมืองการบินหนุนเดินทางเชื่อมอีอีซี