สทนช. ย้ำดำเนินภารกิจภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561 ยืนยันไม่ได้รวบอำนาจ แต่บูรณาการหน่วยงานด้านน้ำให้มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว ลดความซ้ำซ้อน สร้างความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมแจงระบบ Thai Water Plan (TWP) ช่วยขับเคลื่อนภารกิจการแก้ไขปัญหาด้านน้ำของประเทศในมิติต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน
8 ต.ค. 2566 – นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “บทบาท สทนช. ไม่ปรับเปลี่ยน 117 ล้านไร่ แล้งเหมือนเดิม” โดยระบุว่า ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ ผิดพลาด พื้นที่เกษตรถูกจำกัด บทบาท สทนช. เป็นเพียงสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) นั้น เป็นการทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ โดยความจริงแล้วภารกิจหลักของ สทนช. ในการทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ ของ กนช. เป็นหนึ่งในอีกหลายภารกิจของ สทนช. ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดย สทนช. ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) เสนอ กนช. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา และทำหน้าที่กลั่นกรองความเหมาะสมของแผนงานโครงการด้านน้ำจากทุกหน่วยงาน รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจการแก้ไขปัญหาด้านน้ำของประเทศในมิติต่าง ๆ ให้เกิดความยั่งยืน ตามแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี และแผนยุทธศาสตร์ชาติ
นอกจากการเป็นสำนักงานเลขานุการ ของ กนช. แล้วนั้น สทนช. ยังมีบทบาทและภารกิจในการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในอีกหลากหลายด้าน เช่น การวิเคราะห์ ประมวลผล และคาดการณ์สถานการณ์น้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนรับมือหากเกิดภัยพิบัติด้านน้ำ ตลอดจนการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายลำดับรอง ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง รวมทั้งยังมีบทบาทในการประสานความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการบริหารจัดการน้ำและการใช้น้ำจากแม่น้ำระหว่างประเทศร่วมกัน พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเสริมความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศอีกด้วย
สำหรับประเด็นที่มีข้อสังเกตถึงการนำระบบ Thai Water Plan (TWP) มาใช้ นั้น ไม่ใช่รวบอำนาจการตัดสินใจตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่เป็นการให้หน่วยงานด้านน้ำทุกหน่วย ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถเสนอแผนปฏิบัติการด้านน้ำของตัวเองเข้ามาได้ ด้วยระบบที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเริ่มใช้งานในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งระบบนี้จะทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านน้ำสามารถเข้าถึงได้ โดยมีกระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการในพื้นที่ ได้แก่ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำ ก่อนจะส่งต่อให้ สทนช. ในฐานะผู้พิจารณาในภาพรวมทั้งประเทศ สามารถตรวจสอบได้ว่า แผนงานโครงการที่เสนอมาสอดคล้องกับแผนแม่ฯบทน้ำ 20 ปีหรือไม่ ซ้ำซ้อน ทับซ้อน หรือเชื่อมโยงกันหรือไม่ มีความคืบหน้าอย่างไร ทำให้สามารถจัดทำแผนงานโครงการได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถติดตามตรวจสอบหน่วยงานผู้รับผิดชอบและความคืบหน้าของโครงการด้านทรัพยากรน้ำในแต่ละพื้นที่ได้อีกด้วย ซึ่ง สทนช. ได้มีการชี้แจงและสร้างความเข้าใจในการเสนอแผนงานให้กับหน่วยงานด้านน้ำและ อปท. มาอย่างต่อเนื่อง
“ระบบ TWP ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางแผนงานด้านน้ำของ อปท. ในทางตรงข้าม กลับช่วยให้ อปท. ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 7,850 แห่ง รวมถึงหน่วยงานด้านน้ำ สามารถเสนอแผนงานโครงการแก้ปัญหาด้านน้ำที่ตอบสนองความต้องการประชาชนในพื้นที่ และสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างแท้จริง เช่นเดียวกับฝายแกนดินซีเมนต์ ซึ่ง อปท. หลายแห่งต้องการดำเนินการ หากสามารถสร้างประโยชน์และแก้ปัญหาด้านน้ำให้กับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสอดคล้องกับแผนเม่บทฯน้ำ 20 ปี เป็นไปตามภารกิจถ่ายโอนฯ และไม่ซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของหน่วยงานอื่น ๆ สทนช. จะพิจารณาเสนอของบประมาณ เพื่อให้ดำเนินการได้ทันที แต่หากไม่ทันในปีงบประมาณปัจจุบัน จะมีการเสนอในปีงบประมาณถัดไป หากหน่วยงานยังยืนยันที่จะดำเนินงานตามแผนงานที่เสนอมา” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
อย่างไรก็ตาม สทนช.ยังได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับฝายแกนดินซีเมนต์ จากการประชุมคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา สทนช. จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยใช้ฝายแกนดินซีเมนต์ ภายใต้อนุกรรมการที่ กนช. แต่งตั้ง ได้แก่ คณะอนุกรรมการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผังน้ำ เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการบริหารทรัพยากรน้ำโดยใช้ฝายแกนดินซีเมนต์ ให้สอดคล้องกับหลักวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม โดยอยู่ระหว่างจัดทำคู่มือฝายแกนดินซีเมนต์ มีกำหนดเสนอให้คณะอนุกรรมการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผังน้ำ พิจารณาในเดือน พ.ย. 66 และเสนอให้ กนช. พิจารณาตามลำดับต่อไป
“สทนช.มีการผลักดันให้ภาคประชาชนและท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้การพัฒนาทรัพยากรน้ำเกิดความครอบคลุมรอบด้าน รองรับการเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ที่สอดคล้องกับการปรับปรุงทบทวนแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580) โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรน้ำฝนที่อยู่นอกเขตชลประทาน มีการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน (รวมถึงน้ำบาดาล) โดยเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กประเภทต่าง ๆ ที่มีหน่วยงานหลักในการดำเนินการ คือ อปท. มีหน่วยงานสนับสนุน อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน มูลนิธิปิดทองหลังพระ กองทัพบก เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายปี 66-80 ในการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำฤดูแล้ง 1,050 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 1.5 ล้านไร่ ซึ่งฝายแกนดินซีเมนต์เป็นลักษณะโครงการประเภทหนึ่ง ในการขับเคลื่อนตามแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี ดังนั้น หาก อปท. ต่าง ๆ มีความพร้อมในการขอใช้พื้นที่ การมีส่วนร่วมและความพร้อมของแบบก่อสร้าง สามารถเสนอโครงการผ่านระบบ TWP เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณได้ อย่างไรก็ตาม งบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ หรือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กประเภทอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจ เป็นงบประมาณเชิงพื้นที่ (Area) ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะเป็นผู้พิจารณาจัดสรรให้แต่ละท้องถิ่นต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมชลประทานคุมเข้มบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูมรสุมภาคใต้
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 16 เพื่อเตรียมความพร้อมวางแผนรับมือในพื้นที่ภาคใต้ใกล้เข้าสู่ฤดูฝน
สทนช.เกาะติดน้ำเหนือ กางแผนเร่งระบายแม่น้ำยม-น่าน
เลขาธิการ สทนช.ติดตามการเร่งระบายน้ำแม่น้ำยม-น่าน พร้อมวางแผ่นเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลเพื่อลดปริมาณน้ำทางภาคเหนือ
ผู้ว่าฯเชียงใหม่ยันตัวเมืองรับมือมวลน้ำปิงไหว
ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ยันรับมือมวลน้ำปิงไหวสั่งเปิดประตูฝายท้ายเมืองพร่องรอมวลใหม่ ชป.1 ตั้ง war room ติดตามาใกล้ชิด
สทนช. เผย 7 จังหวัดยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 ก.ย.67 เวลา 7.00 น.
เช็กเลย! 'สถานการณ์น้ำ' ภาพรวมทั้งประเทศ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ เวลา 7.00 น. ดังนี้ 1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด
อีสานระทึก! ระดับน้ำโขงพุ่งพรวดเดียวเกือบเมตร เสี่ยงท่วมฉับพลัน
นครพนมลุ้นระทึกอีกครั้ง! ระดับน้ำโขงพรวดเดียวสูงขึ้นอีกเกือบเมตร ฝนกระหน่ำซ้ำทั้งคืน ท้องฟ้าปกคลุมด้วยเมฆ ลาวแจ้งด่วนเขื่อนจีนปล่อยน้ำ