7 ต.ค. 2566 – ผ่านการทำงานมาช่วงระยะหนึ่งของรัฐบาลยุค“เศรษฐา ทวีสิน” ที่เร่งทำผลงานกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลปากท้องประชาชน หรือแม้แต่การเร่งรัดงานที่ค้างคา และมีไอเดียกับงานใหม่ๆ จนตอนนี้ถือว่าแผนพัฒนาด้านเศรษฐกิจผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด พร้อมกับตัวนายกฯ อย่างนายเศรษฐาเองก็เดินทางไปมอบนโยบายให้กับหลายหน่วยงานภายใต้การดูแล รวมทั้งหารือผสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชนให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ แต่การวิ่งวุ่นจนทำให้เกิดภาพออกมาอย่างสวยงามนั้น ก็ไม่สามารถตอบได้อย่างเต็มปากว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อความต้องการของภาพรวมเศรษฐกิจหรือประเทศได้
จึงต้องมีการประเมินงานอย่างชัดเจน ผ่านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อให้เห็นว่าการมุ่งมั่นทำงานของรัฐบาลในยุค “เศรษฐา” นั้นมีดีแค่ไหน…
และจากข้อมูลของผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 33 ในเดือน ก.ย.2566 ที่จัดขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้สำรวจความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ “นโยบายรัฐบาลใหม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมแค่ไหน” จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 290 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด
โดย “มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์” รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากการแถลงนโยบายรัฐบาลใหม่ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 11-12 ก.ย.2566 นั้น มีนโยบายหลายเรื่องที่น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หากภาครัฐสามารถนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจากผลการสำรวจคณะกรรมการ ส.อ.ท. ส่วนใหญ่คิดว่านโยบายของรัฐใหม่สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ในระดับ “ปานกลาง” เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาส่งผลให้มีการบ้านหลายเรื่องที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังไม่สามารถฟื้นตัว
ในรายละเอียดนโยบายของรัฐบาลใหม่ มีหลายเรื่องที่ ส.อ.ท.ให้ความสนใจ และมองว่าจะสร้างผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ ได้ อาทิ ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน และปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศเป็นลำดับแรก ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับการยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น เพื่อสร้างโอกาสให้กับประชาชนในการสร้างรายได้เป็นลำดับแรก
ส่วนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าภาคการเกษตร และในส่วนของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดเป็นลำดับแรก ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อสร้างรากฐานที่ดีในการพัฒนาประเทศในระยะถัดไป
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงนโยบายที่ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญในการดูแลแรงงาน พบว่าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ เพื่อให้สามารถจ่ายค่าจ้างได้ตามความสามารถของแรงงาน (Pay by Skills) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ลูกจ้างได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามความสามารถ และในส่วนของผู้ประกอบการเองก็ได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นด้วย
และเมื่อดูจากผลโหวตของกลุ่มอุตสาหกรรมแล้วจึงแสดงให้เห็นได้ว่ามีหลายเรื่องที่เป็นนโยบายที่ตรงใจ แต่ก็มีอีกหลายนโยบายที่ยังเป็นที่ต้องการอยู่ และอยากให้รัฐบาลเองนั้นผลักดันอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงได้จากข้อเสนอแนะของที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่เตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่นี้ โดยมี 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อที่มีความจำเป็นมากกว่าการพักชำระหนี้ 2.สนับสนุนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5.6 แสนล้านบาท และจำกัดเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ตอบโจทย์
3.การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำของประเทศให้เป็นไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด 4.ผลักดันการเจรจาข้อตกลงทางการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับต่างประเทศให้มากที่สุด 5.สนับสนุนและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง 6.เร่งรัดแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และ 7.ผลักดันแนวทางการทำคาร์บอนเครดิตให้สามารถเชื่อมโยงกับมาตรฐานสากล และสามารถทำการค้ากับต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
และจากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค.2566 คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.5 ลดลง จากเดือนก่อนคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 100.2 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน กระทบต่อภาคส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2566 รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า และผู้ประกอบการยังกังวลนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายด้านพลังงาน
“เกรียงไกร เธียรนุกูล” ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายแล้ว ทีมงานรัฐบาลคงต้องนำข้อกังวลเหล่านี้ไปแก้โจทย์และออกแบบนโยบายที่สามารถตอบสนอง มีจุดอ่อนให้น้อยที่สุด ปิดจุดรั่ว เพิ่มจุดแข็งให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ดีรัฐบาลต้องฟังทุกความคิดเห็นดีๆ จากหลายฝ่ายที่ห่วงใย เพื่อนำข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะที่เป็นรายละเอียดต่างๆ ไประดมสมองแก้ไข ออกแบบมาตรการดังกล่าวให้เกิดความเหมาะสม เพื่อให้เงินที่ใช้ในครั้งนี้เกิดประโยชน์สมกับที่ตั้งใจและบังเกิดผลตามเป้าหมายที่วางไว้
ด้าน “วิกรม กรมดิษฐ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ เปิดเผยถึงนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ว่า เมื่อรัฐบาลจะทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่คุยกันแค่ไม่กี่คน จะต้องมีการศึกษา ทำการบ้าน อย่างเช่น ประเทศเวียดนาม ทำไม 5 ปีที่ผ่านมาเม็ดเงินในการลงทุนของเขามากกว่าถึง 2-3 เท่า ก็เพราะค่าไฟฟ้า ค่าน้ำในเวียดนามมีราคาถูก ต้องดูปัญหาตรงนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็จะขาดความสามารถในการลงทุน เพราะประเทศต่างๆ เช่น จีน สิงคโปร์ เวียดนาม ล้วนแต่มีเม็ดเงินจากนักลงทุน
“ที่ผ่านมาเรามีนักการเมืองที่มีผลงานทางเศรษฐกิจกี่คน แต่วันนี้เราได้คนที่มีฝีมือ มีผลงาน เขาบริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เขาผ่านขั้นตอนมา เขารู้ว่าอะไรถูกควร ปล่อยให้เขาบริหารสัก 1 ปี โดยปล่อยให้เขาทำงานไปก่อนเมื่อครบแล้วค่อยอัดเต็มที่ ไม่ต้องยั้งมือ หากสิ่งที่พูดไว้ทำไม่ได้ วันนั้นถ้าผมมีโอกาสก็จะไปอัดด้วย วันนี้เราเป็นประชาชน เป็นเจ้าของประเทศต้องให้โอกาสเขา คอยดูว่าสิ่งที่เขาพูดมาทำได้กี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อครบ 1 ปี สิ่งไหนที่เขาทำได้เราก็ต้องปรบมือ สนับสนุนเขา ถ้าเราทำแบบนี้ คนเก่งๆ ในประเทศเราก็จะมีกำลังใจ เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยมีคนเก่งจำนวนมาก แต่ไม่มีใครยอมที่จะมาทำหน้าที่บริหาร เพราะไม่อยากเจ็บตัว” นายวิกรมกล่าว
แม้ว่าที่ผ่านมาเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนจะมีหลายมุมมอง แต่การทำงานของภาครัฐเองก็ยังไม่ได้จบแค่นี้ ในช่วงนี้ถือเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายงาน และหลายนโยบายที่ทั้งภาคเอกชนและประชาชนกำลังรอคอยอยู่ว่าจะทำได้เมื่อไหร่ และใครจะได้ผลประโยชน์มากที่สุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘สมคิด’ โวผลเลือกตั้งอยู่ที่ผลงานรัฐบาล เชื่อสนามอบจ. เพื่อไทยชนะรวด
นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง กล่าวถึงถึงผลสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล ที่คะแนนของพรรคเพื่อไทย และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ มาเป็นอันดับสองทั้งคู่ว่า
'สมศักดิ์' ฟุ้งปีหน้า 'รัฐบาลอิ๊งค์' ฉลุย อีก 2 ปีครึ่ง พท. กลับมายิ่งใหญ่
'สมศักดิ์' มองทิศทางการเมืองปี 68 มั่นใจรัฐบาลแพทองธาร เดินไปได้ไร้ปัญหาสะดุดล้ม พรรคร่วมไม่ถึงขั้นแตกหัก ฟุ้งอีก 2 ปีครึ่ง เพื่อไทยกลับมายิ่งใหญ่
'บัญญัติ' ร่ายกลอนสะท้อนการเมือง อวยพรปีใหม่คนไทย
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส. แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้แต่งกลอนร้อยกรองสะท้อนภาพการเมืองไทย เพื่อส่งความสุข (ส.ค.ส.) ต้อนรับปีใหม่ 2568 ให้แก่พี่น้องประชาชน มีใจความว่า
'ชวน' ชี้การเมืองปี 68 สภาแข็งโป๊กไม่มีล่ม เตือนรบ.อย่าประมาทนักร้อง ระวังซ้ำรอยเศรษฐา
'ชวน' ชี้การเมืองปี 68 เสียงรัฐบาลในสภาแข็งเป๊กไม่มีล่ม ใครโดดประชุมโดนหักเงินครั้งละ2หมื่น เตือนอย่าประมาทนักร้องเรียน ยอมรับ ‘ปชป.’ มีทั้งเป๋-ไม่เป๋ เผยไม่มีกำหนดวางมือ ปัดตอบลง สส.สมัยหน้าต่อ