5 ต.ค. 2566 – ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรอาจส่งผลแค่ระยะสั้นจากการกระจายรายได้ของผลผลิตที่กลับสู่มือเกษตรกรไทยที่น้อย แนะเร่งพัฒนาศักยภาพการเกษตรเพื่อสร้างการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และขจัดปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยในระยะยาว
วันที่ 26 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี นับเป็นโครงการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรเป็นครั้งที่ 14 ซึ่งจากข้อมูลในอดีตพบ การพักชำระหนี้ 13 ครั้งที่ผ่านมาไม่สัมฤทธิ์ผลตามเป้าประสงค์ของโครงการเท่าที่ควรเป็น เนื่องจากกว่า 70% ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีภาระหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงหนี้เสียในภาคการเกษตรก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นว่าโครงการพักชำระหนี้อาจเป็นเพียงการประวิงเวลา หรือเป็นแค่ยาแก้ปวดที่ให้เกษตรกรไทยเพื่อให้คลายความกังวลเรื่องภาระทางการเงินออกไปอีกระยะหนึ่ง โดย ttb analytics ได้ทำการศึกษาพบว่า เกษตรกรไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับการกระจายรายได้จากผลผลิตที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่สามารถก้าวผ่านการเป็นผู้ผลิตเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการได้ จึงยังมีฐานะเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย โดยได้ศึกษาผ่านโครงสร้างต้นทุนของการผลิตข้าวขาว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ในปี 2565 ที่ผ่านมา ราคาข้าวขาว 100% เฉลี่ยอยู่ที่ 17.5 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีรายได้เข้าสู่มือชาวนาเพียง 8.8 บาทต่อกิโลกรัม อิงตามราคาข้าวเปลือกเจ้ารับซื้อ ณ ไร่นา แต่จากรายได้ส่วนนี้ชาวนาต้องรับภาระต้นทุนการผลิต (เพาะปลูก) ที่ 8.16 – 9.32 บาทต่อกิโลกรัม (ในกรณีที่เกษตรกรมีต้นทุนค่าเช่านาและเครื่องจักรกลทางการเกษตร) เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ราว 7.25 – 8.28 บาทต่อกิโลกรัม จากผลของราคาปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปี 2565 ชาวนาไทยมีกำไรจากการเพาะปลูกข้าวเพียงราว 0.64 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงในบางรายที่มีต้นทุนสูงอาจประสบภาวะขาดทุน 0.52 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ข้าวเปลือกจากชาวนาจะถูกส่งต่อไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการในฐานะวัตถุดิบ เพื่อแปรรูปเป็นข้าวขาวเพื่อจำหน่ายให้กับภาคครัวเรือน พบว่าผู้ประกอบการมีต้นทุนจากข้าวเปลือกเมื่อผ่านการแปรรูป บรรจุ และขนส่ง รวมที่ราว 13.03 – 13.87 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งคิดเป็นกำไรขั้นต้นก่อนหักต้นทุนการขายและการบริหารที่ราว 3.62 – 4.67 บาทต่อกิโลกรัม
จากข้อมูลข้างต้นเห็นได้ชัดเจนว่า การกระจายรายได้จากผลผลิตข้าวขาว 1 กิโลกรัม ที่ราคาเฉลี่ย 17.5 บาท กำไรจะตกอยู่กับผู้ประกอบการที่ 20.7% – 25.5% แต่ในมุมของชาวนา ได้รับเพียง 3.7% และมีโอกาสขาดทุนสำหรับกลุ่มที่มีต้นทุนการเพาะปลูกสูง ทั้งนี้ ชาวนายังต้องรับความเสี่ยงจากต้นทุนการผลิตที่ผันผวนตามราคาปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตร ภัยธรรมชาติและสภาวะภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนที่กระจายกลับสู่ผู้มีส่วนร่วมในการผลิตสินค้าทางการเกษตร ผ่านกรณีศึกษาในตลาดข้าวขาว พบว่า เกษตรกรเป็นกลุ่มที่ได้รับผลตอบแทนน้อยและต้องรับความเสี่ยงทั้งหมดในขั้นตอนการผลิต ส่งผลให้นโยบายพักชำระหนี้ที่ผ่านมาทุกครั้งเป็นเพียงแค่ยาแก้ปวดเพื่อประวิงเวลา หรือบรรเทาอาการในช่วงที่พักชำระหนี้ ซึ่งเกษตรกรจะเริ่มรู้สึกถึงความเจ็บปวดอีกครั้งเมื่อยาแก้ปวดหมดฤทธิ์ในยามการพักชำระหนี้สิ้นสุด
อย่างไรก็ดี โครงการพักชำระหนี้ในครั้งที่ 14 นี้ มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องมาตรการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่มีการจัดเตรียมงบประมาณให้ผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพวงเงินสูงสุดต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่ง ttb analytics มองจำนวนเงินในโครงการดังกล่าวว่า หากมีการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยยกระดับศักยภาพการทำธุรกิจของเกษตรกรไทย และสามารถเป็นหนทางแก้ไขปัญหาหนี้ในระยะยาว ผ่านข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
- ยกระดับเกษตรกรที่มีศักยภาพและความพร้อม ให้เป็นผู้ประกอบการที่สามารถเพิ่มพื้นที่กำไรให้มากขึ้นจากสินค้าขั้นสุดท้าย จากเดิมที่ได้รับกำไรเป็นสัดส่วนจากราคาสินค้าขั้นกลางที่เป็นเพียงวัตถุดิบ
- การให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องช่องทางจำหน่าย ที่ปัจจุบันการขายสินค้าทางการเกษตรมีความง่ายและสะดวกกว่าในอดีต ผ่านช่องทางออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างไร้พรมแดน และสามารถจัดส่งสินค้าผ่านผู้ให้บริการขนส่ง (Third Party Logistics) ที่มีพื้นที่บริการครอบคลุมทั่วประเทศ
- ภาครัฐช่วยจัดตั้งกองทุนเพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูก เช่น เพื่อค่าปุ๋ย ค่ายา พันธุ์ข้าว รวมถึงจัดหาสินค้าทุนที่ให้เกษตรกรเช่าใช้ในราคาที่ต่ำลง เช่น เครื่องจักรกลทางการเกษตร หรือสินค้าทุนที่ใช้ในการแปรรูปสินค้า เช่น โรงสีชุมชน ที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรแปรรูปสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบให้กลายเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่สามารถตอบสนองความต้องการการบริโภคของภาคครัวเรือนได้โดยตรง
- ให้ความรู้เกษตรกรเพื่อใช้เทคโนโลยีการเพาะปลูก เช่น การทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้มากขึ้นผ่านระบบที่มีความแม่นยำสูง (Precision Agriculture) จะทำให้สามารถช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย ลดปริมาณการใช้ยาปราบศัตรูพืชได้
กล่าวโดยสรุป ปัญหาภาระหนี้สินของเกษตรกรไทย โดยหลักแล้วมาจากปัญหาเรื่องการกระจายรายได้จากผลผลิตที่กลับสู่มือของเกษตรกรไทยที่น้อยมาก ทั้งยังต้องรับความเสี่ยงด้านต้นทุนที่มีความผันผวน และปริมาณผลผลิตที่คาดการณ์ได้ยากจากสภาวะภูมิอากาศ ดังนั้น ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง การพักชำระหนี้เกษตรกรคงเปรียบเหมือนยาแก้ปวดที่ช่วยให้เกษตรกรไทยรู้สึกสบายตัวเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น แต่ด้วยบริบทของโครงการพักหนี้ในครั้งที่ 14 นี้ นับว่ายังมีความหวังจากเม็ดเงินที่สามารถจัดสรรเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งถ้าสามารถทำได้สัมฤทธิ์ผลตามนัยของมาตรการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ก็จะเปรียบเหมือนการจ่ายยาฆ่าเชื้อให้กับปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยให้ลดลงอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บัตรเครดิตฉบับเข้าใจง่าย ๆ สำหรับมือใหม่ พร้อมสิทธิพิเศษสุดคุ้ม
บัตรเครดิตคืออะไร มือใหม่ทำความเข้าใจง่าย ๆ เกี่ยวกับสิทธิพิเศษ การสมัครออนไลน์ สมัครง่ายไม่ต้องไปที่ธนาคาร เตรียมพร้อมรับสิทธิประโยชน์สุดคุ้มแบบไม่มีค่าธรรมเนียม
บัตรเดบิตวีซ่า ttb all free และวีซ่า ร่วมฉลองความสำเร็จ “วิว กุลวุฒิ” ฮีโร่เหรียญเงินโอลิมปิก 2024 เปิดตัวแคมเปญ Dare to Change ส่งต่อแรงบันดาลใจ จัดแบดมินตันบูทแคมป์ให้แก่กลุ่มเยาวชน
บัตรเดบิตวีซ่า ttb all free และวีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก ร่วมฉลองชัย “วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์” ฮีโร่เหรียญเงินแบดมินตันชายเดี่ยว โอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024
finbiz by ttb แนะ SME ที่มีแนวคิด ESG คว้าโอกาสทางธุรกิจ บนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันกระแส ESG กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ธุรกิจยุคใหม่จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางนี้ โดยหลังจากประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายจะเป็นกลางทางคาร์บอน
finbiz by ttb แนะเทรนด์รักษ์โลก : โอกาสของธุรกิจเพื่อครองใจผู้บริโภค
ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนกำลังตื่นตัวกับกระแสรักษ์โลกและความยั่งยืน กระแสนี้จะมีผลต่อธุรกิจอย่างไรและจะเป็นเพียงชั่วคราวหรือไม่ finbiz by ttb