‘สุรพงษ์’ลงพื้นที่ตรวจงานสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ’เตาปูน-ราษฎร์บูรณะคืบหน้า18.68% สั่งคืนผิวจราจรให้ประชาชนภายใน ส.ค. 67 แก้ปัญหาจราจรให้ประชาชนตามแนวเส้นทาง ด้าน รฟม.จ่อเสนอบอร์ดฯ ปีนี้ เคาะแนวทางจัดหาเอกชนเดินรถ คาดเปิดใช้ในปี 72
5 ต.ค.2566-นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือสายสีม่วงใต้ บริเวณสถานีสามยอด สถานีวงเวียนใหญ่ และสภาพการจราจรบนเส้นทางถนนพระปกเกล้า-สะพานพุทธ ที่อยู่ในแนวโครงการฯ ว่า สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ปัจจุบันมีความคืบหน้า 18.68%
ทั้งนี้ ตามที่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้มีการเสนอญัตติตั้งกระทู้ถามในประเด็นพื้นที่การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ กระทบต่อการเดินทางของประชาชน โดยจากบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมถึงได้รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้น ตนได้มีข้อสั่งการให้ รฟม. ดำเนินมาตรการลดผลกระทบด้านการจราจร 5 เรื่อง ดังนี้
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า 1.ให้ใช้พื้นผิวจราจรสำหรับกิจกรรมก่อสร้างเท่าที่จำเป็น และไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชนหรือให้กระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถคืนผิวจราจรได้ใน ส.ค. 2567 และดำเนินการในส่วนโครงสร้างใต้ดินต่อไป 2.จุดที่มีการรื้อสะพานลอย ให้จัดทำจุดข้ามทางม้าลายทดแทน และจัดเจ้าหน้าที่อาสาจราจรทำหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
3.จัดเรียงแบริเออร์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่กีดขวางการสัญจรของประชาชน และติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ ป้ายเตือน ไฟส่องสว่างต่างๆ ให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน 4.ในกรณีที่มีปัญหาจราจรติดขัดหรือเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน ให้มีการประสานบูรณาการทำงานร่วมกับตำรวจจราจรในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อจัดการจราจรและบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชน และ 5.ดำเนินการเยียวยาประชาชนที่อยู่ตามแนวสายทางก่อสร้างโครงการฯ ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การช่วยประชาสัมพันธ์ร้านค้าในแนวสายทางโครงการ เป็นต้น
สำหรับบริเวณสถานีสามยอด ซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ที่ในอนาคตจะใช้เป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีงานก่อสร้างหลัก ได้แก่ งานก่อสร้างผนังสถานีใต้ดิน (Guide Wall) สถานีสามยอด ส่วนปิดเบี่ยงจราจรเส้นทางสะพานพระปกเกล้า-สะพานพุทธ เพื่อก่อสร้างโครงการฯ และพื้นที่ก่อสร้างสถานีวงเวียนใหญ่ ซึ่งเป็นสถานีใต้ดินใกล้กับวงเวียนใหญ่ ในแนวถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น มีงานก่อสร้างหลัก ได้แก่ งานก่อสร้างผนังสถานีใต้ดิน (Diaphragm Wall) สถานีวงเวียนใหญ่
”รัฐบาล และกระทรวงคมนาคม โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายส่งเสริมระบบการขนส่งมวลชนระบบรางในกรุงเทพมหานคร ที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องความปลอดภัย การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนเพื่อบรรเทาปัญหาจราจรในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือ ความอุดมสุขของประชาชน” นายสุรพงษ์ กล่าว
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดเพื่อจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) จัดหาเอกชนบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จ เพื่อเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. พิจารณาเห็นชอบภายในปี 2566 หลังจากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอนเอกชนร่วมลงทุนรัฐ (พีพีพี) ซึ่งจะต้องเสนอโครงการไปยังกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการพีพีพี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
สำหรับแนวทางศึกษาเบื้องต้น พบว่า การจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในวิธีเจรจากับเอกชนรายเดิมผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นวิธีการที่คุ้มค่ามากที่สุด เนื่องจากโมเดลที่ศึกษาไว้ประเมินว่า การมีเอกชนเดินรถรายเดียวจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อระบบ อีกทั้ง ยังทำให้สามารถคุมต้นทุนได้มากกว่าการมีเอกชนเดินรถสองราย ซึ่งเมื่อต้นทุนไม่สูงก็จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง
“การเดินรถไฟฟ้า รฟม.คำนึงถึงบริการผู้โดยสารเป็นอันดับแรก ดังนั้นการมีเอกชนเดินรถรายเดียวจะทำให้สะดวกมากกว่า ซึ่งรูปแบบก็จะไม่ต่างไปจากสายสีน้ำเงินหรือสายสีเขียว ที่ทำให้ผู้โดยสารเดินทางต่อระบบสะดวก โมเดลที่ทำมาจึงมองว่าควรเจรจากับเอกชนรายเดิม เพื่อเข้ามาเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ด้วย”นายภคพงศ์ กล่าว
นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า รูปแบบของการร่วมลงทุนเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ หากรัฐบาลต้องการสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ก็มีโอกาสที่จะเปิดร่วมทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost คล้ายรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ที่ทางภาครัฐเป็นผู้รับความเสี่ยง ส่วนกรรมสิทธิ์จัดเก็บรายได้จะยังเป็นของภาครัฐ ขณะที่เอกชนจะเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าผ่านทาง และภาครัฐจะจ่ายค่าตอบแทนให้ตามสัญญา
ทั้งนี้ ข้อดีของการจัดทำ PPP Gross Cost จะจูงใจเอกชนร่วมลงทุนมากกว่า เพราะไม่ต้องใช้วงเงินลงทุนจำนวนสูง ในขณะเดียวกันภาครัฐยังเป็นเจ้าของกรรรมสิทธิ์จัดเก็บรายได้ ทำให้สามารถคุมราคาค่าโดยสารให้เหมาะสม อย่างไรก็ดี หากบอร์ด รฟม.มีมติให้เจรจากับเอกชนรายเดิมเข้ามาบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ จะต้องเริ่มขั้นตอนเจรจาภายในปี 2569 เพื่อให้ทันต่องานโยธาที่จะแล้วเสร็จในปี 2571 และเปิดบริการในปี 2572
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 17 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กม. สถานีใต้ดิน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กม. สถานียกระดับ 7 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และ MRT สายสีน้ำเงิน
ทั้งนี้ เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ จะเป็นการขยายเส้นทางและพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ โดยจะเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงพื้นที่และรองรับการเดินทางเชื่อมต่อของประชาชนในแนวเหนือ–ใต้ จากพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชั้นในไปยังพื้นที่ จ.นนทบุรี และสมุทรปราการ ช่วยเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อีกทั้ง เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนหลัก เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน ตลอดจนช่วยลดมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมจากการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลงได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฤกษ์ดี 10 ก.ย.นี้ ‘สุริยะ‘ พร้อม 2 รมช. เข้าคมนาคมแถลงนโยบาย
‘สุริยะ‘พร้อม ’มนพร -สุรพงษ์ ‘2รัฐมนตรีช่วยฯ ถือฤกษ์ 10 ก.ย. นี้ เวลา 11.00 น. เข้ากระทรวงคมนาคมอย่างเป็นทางการในยุค ‘ครม.แพทองธาร’พร้อมลุยปฏิบัติหน้าที่ เดินเครื่องโปรเจกต์คมนาคม - สานต่อนโยบายต่อเนื่อง ย้ำทุกขั้นตอนโปร่งใส และตรวจสอบได้
ได้ฤกษ์ ‘สุริยะ’ เดินเครื่องเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ปักหมุดให้บริการปี 71
‘สุริยะ’กดปุ่มเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตั้งเป้าให้บริการปี 71
รมช.คมนาคม ย้ำป้องกัน-ลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้มอบนโยบายและเปิดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์
‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ เพิ่มเวลาเปิดบริการช่วงเทศกาลสงกรานต์
‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ แจ้งขยับเวลาเปิดบริการช่วงเทศกาลสงกรานต์เร็วขึ้น จากตี 5 เป็น ตี 4 รวม 4วัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เชื่อมต่อการเดินทาง พร้อมจัดมาตรการคุมเข้มความปลอดภัย
’สุรพงษ์’ สแกนความพร้อมหมอชิต 2 ก่อนส่งคนเดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์
‘สุรพงษ์’ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมสถานีขนส่งฯ หมอชิต2 สั่งจัดรถโดยสาร-เที่ยวเสริมเพียงพอ -เน้นย้ำความปลอดภัย-อำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย. 67