2 ต.ค. 2566 – ปัจจุบัน หลายบริษัทประกาศเป้าหมายลดคาร์บอนอย่างชัดเจน โดยจะเห็นการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และสร้างโรงงานที่ใช้พลังงานแบบผสมผสานภายในอาคารมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างมาก โดยเฉพาะกับภาคการผลิตไฟฟ้า อย่าง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU โดย นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า บ้านปูเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ทั้งด้านธุรกิจ เทคโนโลยี และบุคลากรมาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่การเริ่มเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก ซึ่งบ้านปูวางเป้าหมายในปี 68 จะเห็นการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอพลังงานที่สะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน ได้ตั้งงบลงทุนปี 66-68 ไว้ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยแผนการเติบโตระยะยาวของบริษัท มุ่งเน้นการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอพลังงานที่สะอาดขึ้น และเทคโนโลยีพลังงานนั้นจะมุ่งไปที่ 4 ธุรกิจเรือธง ได้แก่ ธุรกิจเหมือง ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และหน่วยงาน Corporate Venture Capital ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ที่กำลังขับเคลื่อนบ้านปูในกระบวนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์พลังงานที่ยั่งยืนและโซลูชันพลังงานสะอาด ที่จะสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้คน
เริ่มจาก ธุรกิจเหมือง ปัจจุบันไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ในธุรกิจถ่านหินเพิ่มเติม แต่มุ่งเน้นการสร้างกระแสเงินสดเพื่อต่อยอดธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter และการพัฒนาการดำเนินงานในสินทรัพย์เดิมที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่ธุรกิจ Strategic Minerals มุ่งเน้นแร่แห่งอนาคตที่จะเป็นทรัพยากรต้นทางของโซลูชันพลังงานสะอาด
ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศยุทธศาสตร์ ปัจจุบันบ้านปูเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 20 อันดับแรกในสหรัฐ ด้วยกำลังผลิตประมาณ 890 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน (MMcfepd) เป้าหมายในอนาคตคือการขยายพอร์ตธุรกิจทั้งต้นน้ำและกลางน้ำ ตั้งแต่แหล่งก๊าซ ระบบแยก อัดก๊าซ จนถึงท่อขนส่งก๊าซ คู่ขนานไปกับการเร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการบาร์เนตต์ ซีโร, โครงการคอตตอน โคฟ และโครงการไฮเวสต์
รวมทั้งเป็นโอกาสสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตโดยบริษัทลูกในสหรัฐ ตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับ scope 1 และ 2 ราวปี ค.ศ.2025 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero สำหรับการปล่อยมลสารจากธุรกิจต้นน้ำ scope 3 ภายในทศวรรษ 2030
ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เร่งขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจในโรงไฟฟ้าพลังงานที่สะอาดขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี HELE และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ล่าสุดเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในรัฐเท็กซัส เป็นการสร้างคุณค่าจากการผสานพลังกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่มีอยู่เดิม เสริมความแกร่งให้กับห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจของบ้านปูในสหรัฐ
นอกจากนี้ยังได้เริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบ้านปูมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 4,974 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 4,008 เมกะวัตต์ และจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 966 เมกะวัตต์ใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยวางเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้ 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568
ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เน้นขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น นำเอาดิจิทัลโซลูชันมาผสมผสานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ และขยายการลงทุนสู่พันธมิตรใหม่ๆ โดยวางเป้าหมายปี 2568 ดังนี้ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ ตั้งเป้ากำลังผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน ตั้งเป้ากำลังผลิต 4 กิกะวัตต์ชั่วโมง ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงานจำนวน 60 โครงการ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า ตั้งเป้ากำลังซื้อขายไฟฟ้า 2,000 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และธุรกิจอี-โมบิลิตี้ ตั้งเป้าขยายการให้บริการระบบสัญจรทางเลือกแบบครบวงจรในรูปแบบ Mobility as a Service (MaaS) ทั้งบริการ Ride Sharing, Car Sharing, EV Charger Management และ EV Fleet Management โดยการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ
นางสมฤดี กล่าวว่า นอกเหนือจาก 4 ธุรกิจเรือธงแล้ว ในปี 2565 บ้านปูได้จัดตั้งหน่วยงาน Corporate Venture Capital เพื่อดูแลการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve ที่จะช่วยเร่งการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่มีอยู่และระบบนิเวศของกลุ่มบ้านปู
“ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาล้วนเกิดขึ้นจากแรงขับเคลื่อนของผู้บริหารและพนักงานบ้านปูในทั้ง 9 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม) ที่ทำงานสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวภายใต้วัฒนธรรมองค์กร บ้านปู ฮาร์ท (Banpu Heart) นอกจากนี้ยังมีหลัก ESG ที่เปรียบเสมือนเสาหลักในการดำเนินธุรกิจที่ทำให้บ้านปูสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน จากนี้ไปเราพร้อมที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นผู้ส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนและสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานของโลกในอนาคต” นางสมฤดีกล่าว
อย่างไรก็ตาม บ้านปูวางเป้าหมายในปี 68 จะเห็นการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอพลังงานที่สะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน ตั้งงบลงทุนปี 66-68 ไว้ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะใช้ในธุรกิจพลังงานสะอาด, เทคโนโลยีพลังงาน, โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสร้างมูลค่าให้ได้มากขึ้น และศึกษาโรงไฟฟ้าที่จะนำแอมโมเนีย ไฮโดรเจน มาเป็นพลังงานสะอาด
เอสซีจีเดินหน้า ESG 4 PLUS
ในขณะที่ เอสซีจี ประกาศเดินหน้าธุรกิจควบคู่กู้วิกฤตโลกร้อน ทรัพยากรขาดแคลน และลดความเหลื่อมล้ำ ชูธง ESG 4 Plus “มุ่ง Net Zero-Go Green-Lean เหลื่อมล้ำ-ย้ำร่วมมือ” ประมาณการเงินลงทุนเบื้องต้น 70,000 ล้านบาทในการปรับปรุงกระบวนการผลิต และพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงร้อยละ 20 ภายในปี 2030 รวมถึงพัฒนา Deep Technology เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ล้านตัน ด้วยการระดมปลูกต้นไม้ 3 ล้านไร่ ต่อยอดสร้าง 130,000 ฝาย เร่งดันนวัตกรรมรักษ์โลกเพิ่มขึ้น 2 เท่า
ล่าสุดเปิดบ้านเอสซีจี ทุ่งสง นครศรีธรรมราช โชว์ธุรกิจกรีน โดยร่วมกับชุมชนรักษ์โลก ฟื้นสมดุลป่าต้นน้ำ เปลี่ยนขยะเป็นรายได้ ลดเหลื่อมล้ำ หนุนชุมชนสร้างอาชีพจากสินค้าท้องถิ่นและต่อยอดท่องเที่ยวอนุรักษ์ มุ่งสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานแบรนด์เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตสีเขียว ควบคู่กับนวัตกรรมกรีน เช่น ปูนสูตรคาร์บอนต่ำ นวัตกรรมรักษ์โลก ลดการใช้ทรัพยากร ร่วมกับทุกภาคส่วน ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และเร่งลดความเหลื่อมล้ำของสังคม พัฒนาทักษะอาชีพแก่ชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ช่วยให้คนเลิกแล้ง เลิกจน กว่า 2 แสนคน เพื่อร่วมส่งต่อโลกที่น่าอยู่สู่คนรุ่นต่อไป สำหรับเอสซีจี ทุ่งสง ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างความมุ่งมั่นเดินหน้า ESG 4 Plus ทั้งในกระบวนการผลิตและร่วมมือกับชุมชนโดยรอบอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสดีในการเปิดบ้านเยี่ยมชมครั้งนี้”
ด้าน นายชัยยุทธ ไพฑูรย์ ผู้อำนวยการโรงงานปูนทุ่งสง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด กล่าวว่า “เอสซีจี ทุ่งสง ดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ ESG 4 Plus มุ่งเน้นกระบวนการผลิตสีเขียวมาโดยตลอด ปัจจุบันติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์ลอยน้ำ นำลมร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งใช้เชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ต้นปาล์ม ต้นยางพารา ขี้เลื่อย ซึ่งทั้งหมดนี้รวมเป็นสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดมากกว่าร้อยละ 50 ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 6 แสนตันต่อปี อีกทั้งยังใช้รถบรรทุกหินปูนไฟฟ้าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฝุ่น PM 2.5
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘พิชัย’ เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา
‘พิชัย’ จับมือทูตแคนาดา เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา พร้อมนัดถกรัฐมนตรีการค้าแคนาดาช่วงประชุมเอเปคที่เปรู ขยายโอกาสการค้าในตลาดอเมริกาเหนือ
GPSC แข็งแกร่งรับการสนับสนุนเงินกู้ระยะยาว จาก 3 แบงค์รัฐ-เอกชน มูลค่า 7 พัน ลบ. รุกพลังงานสะอาด ตอบโจทย์ Net Zero รองรับแผนพัฒนาพลังงานชาติ
GPSC ลงนามในสัญญาเงินกู้กับธนาคารทีเอ็มบีธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย วงเงินรวม 7,000 ลบ. มุ่งธุรกิจพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน สอดรับกลยุทธ์องค์กรจากบทบาทในการ Decarbonization ให้กับกลุ่ม ปตท. เดินหน้ามุ่งสู่แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ไฮโดรเจนความหวังใหม่ของวงการพลังงานสะอาด
แม้อาจมองไม่เห็นได้ด้วยตา แต่มีอยู่จริงรอบตัวเรา และนี่คือความหวังใหม่ของพลังงานสะอาดในอนาคต ‘ไฮโดรเจน’ ธาตุที่มีอยู่มากที่สุดในจักรวาล และมีอย่างไม่จำกัด
“ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่” พร้อมรันวงการพลังงานสะอาด
วงการพลังงานทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังงานหมุนเวียนได้ก้าวเข้ามามีบทบาทและกำลังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่เข้มข้นมากขึ้น
MEA ร่วมกับ กองทัพเรือ เดินหน้าโครงการพลังงานทดแทนวังนันทอุทยาน
นายรณชัย เรืองยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วย พลเรือโท ณรงค์ จงรักภูบาล เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเรือ