สศอ.โอดดัชนี MPI งวด ส.ค.หดตัวจับตาเศรษฐกิจคู่ค้าขาลง

สศอ.โอดดัชนีเอ็มพีไอเดือน ส.ค. 2566 หดตัว 7.53% รับกำลังซื้อประเทศคู่ค้าอ่อนแอ ส่งสัญญาณจับตาเศรษฐกิจในช่วงขาลง หวังนโยบายรัฐบาลใหม่ดันกำลังซื้อ หนุนจีดีพีอุตฯ ขยายตัว

29 ก.ย. 2566 – นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนส.ค.2566 อยู่ที่ระดับ 91.85 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.53% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.18% ส่งผลให้ช่วง 8 เดือนของปีนี้(ม.ค.-ส.ค.2566) ลดลงเฉลี่ย 4.95% อัตราการใช้กำลังการผลิต 8 เดือนอยู่ที่เฉลี่ย 60.09% เป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกําลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอโดยเฉพาะสหรัฐ จีน และยุโรป ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกําลังซื้อในส่วนภูมิภาค

“การเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนก.ย.2566 สศอ.ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง จากปัจจัยภายในประเทศชะลอตัวตามการลงทุน และปริมาณนําเข้าสินค้า โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของไทยหดตัวมากขึ้น เป็นผลจากการหดตัวของการจําหน่ายวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ และยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ในประเทศที่ปรับลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ด้านดัชนีปริมาณสินค้านําเข้าของไทยมีโอกาสฟื้นตัวระยะสั้น จากการนําเข้าก๊าซธรรมชาติที่ลดลง”นางวรวรรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล (ดิจิทัล วอลเล็ต) การแก้ปัญหาหนี้สิน การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน การผลักดันสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จะเกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศพร้อมกัน ส่งผลโดยรวมต่อภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมให้มีการขยายการลงทุนและการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น โดย ปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5-2.5% ส่วนดัชนีเอ็มพีไอปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 2.8-3.8%

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สศอ. ปลื้ม ขับเคลื่อนอุตฯ ฮาลาลไทยในปี พ.ศ. 2567 สร้างมูลค่าการค้า 335 ล้านบาท เสริมแกร่งไทย พร้อมขึ้นแท่น “ศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน” (ASEAN Halal Hub)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงผลสำเร็จโครงการกิจกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2567 – 2570) ในปี พ.ศ. 2567