ดีเดย์ 1 ต.ค. 2566 เดินเครื่อง “มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี” ครม. เคาะกรอบงบดำเนินการ 3.3 หมื่นล้านบาท ขึงเกณฑ์มีหนี้รวมไม่เกิน 3 แสนบาทต่อบัญชี ครอบคลุมเกษตรกรเฉียด 2.7 ล้านราย ลูกหนี้เสียได้สิทธิ์ด้วย “จุลพันธ์” แจงคุยแบงก์ชาติแล้ว ยันใช้งบตามความเป็นจริง วอนทุกฝ่ายไม่ต้องกังวล มั่นใจเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเกือบเต็ม 100%
26 ก.ย. 2566 - นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 - 12 ก.ย. 2566
ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านราย มูลหนี้ 2.83 แสนล้านบาท ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0 - 3 เดือน) และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ราว 6 แสนราย มูลหนี้ 3.6 หมื่นล้านบาท ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2567 โดยเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2567 โดยลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นเอ็นพีแอลจะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว
สำหรับกลุ่มลูกหนี้ดี จะมีการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หากมีความสามารถในการชำระ ธ.ก.ส. ก็จะหักยอดเงินต้นได้ครึ่งหนึ่ง ส่วนลูกหนี้เสียจะพักชำระดอกเบี้ย 3 เดือน โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้ ธ.ก.ส. ภายใต้เงื่อนไขต้องแก้ไขสถานะหนี้กลับมาเป็นปกติ จึงจะได้รับสิทธิต่อไป หากไม่สามารถกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ รัฐก็จะไม่ชดเชยให้ และถือว่ายังคงสภาพเป็นหนี้เสียเหมือนเดิม
“การพักหนี้เกษตรกรในครั้งนี้ จะแตกต่างจาก 13 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประวิงเวลา และเมื่อพ้นจากโครงการไปแล้วพบว่าเกษตรกรไม่ได้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้น และหลายครั้งเรื่องมูลหนี้แย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่ครั้งนี้วิธีการในช่วง 3 ปี มุ่งเป้าไปที่การพักภาระ และเมื่อกลับมาเกษตรกรต้องมีความแข็งแกร่งขึ้น โดยในกลุ่มหนี้ปกติจะคัดลูกหนี้ที่ยังอยู่ในโครงการให้ความช่วยเหลือของรัฐ (PSA) ออก เพื่อไม่ให้การช่วยเหลือซ้ำซ้อน แต่หากมาตรการช่วยเหลือในกลุ่มนี้หมดลง ก็สามารถเข้าโครงการพักหนี้ของรัฐบาลในรอบนี้ได้ในระยะถัดไป” นายจุลพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ โดย ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอกดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว
อย่างไรก็ดี คาดว่า มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน รวมถึงมีโอกาสขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้
“ได้มีการพูดคุยกับ ธปท. และ ธปท.เองก็มีคอมเม้นเกี่ยวกับโครงการนี้ โดยระบุว่า ไม่อยากเห็นโครงการที่ผูกพันระยะยาว เราจึงดำเนินการเป็นเฟส อนุมัติเป็นรายปี และ ธปท. ไม่อยากเห็นดำเนินการแบบหว่านแห เราจึงเปิดให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการแบบสมัครใจ ส่วนเรื่องงบประมาณที่จะใช้ในโครงการตลอด 3 ปี ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละราว 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท แต่งบที่ใช้จะเป็นไปตามที่ใช้จริง อยากให้ทุกฝ่ายไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวลว่าเงินจะหายไปไหน และรัฐบาลหวังว่าเกษตรกรจะแห่เข้าโครงการนี้เต็มเกือบ 100% ยืนยันว่าเรื่องตัวเงินไม่ต้องเป็นห่วง” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.การคลัง กล่าวว่า จุดเด่นของโครงการนี้ คือ 1. การคงชั้นหนี้เดิมไว้ 2. มีการตัดเงินต้น เปลี่ยนลำดับการชำระหนี้ เพื่อให้ยอดหนี้ของลูกหนี้ลดลง 3. มีการให้สินเชื่อเพิ่มเติมตามศักยภาพของเกษตรกรที่เข้าโครงการ 4. มีการเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการดูแลและเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรในช่วงที่มีการพักหนี้ และ 5. การพักหนี้ในครั้งนี้มีการรวมหนี้เอ็นพีแอล เพราะมีความตั้งใจเพื่อให้หนี้เสียลดลง จากการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า โครงการพักหนี้เกษตรกรเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 โดยให้เกษตรกรแจ้งความต้องการเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile หลังจากนั้นระบบจะตรวจสอบคุณสมบัติ หากผ่านเกณฑ์จะแจ้งเตือนไปที่แอปพลิเคชันเพื่อให้เกษตรกรมาทำสัญญาเข้าร่วมโครงการ ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีแอปพลิเคชันก็ต้องไปโหลด ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรเกิดการใช้แอปพลิเคชันซึ่งจะเป็นฐานข้อมูล ขณะเดียวกันได้สั่งการไปที่สาขาของธนาคารให้เตรียมความพร้อมในการเริ่มโครงการ เพราะคาดว่าจะมีเกษตรกรเข้ามาสอบถามรายละเอียดผ่านสาขาด้วย
ทั้งนี้ หลังจากยื่นความต้องการผ่านแอปพลิเคชันแล้ว หากมีการตรวจสอบคุณสมบัติครบถ้วน ลูกหนี้ที่ได้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิย้อนหลังในการพักชำระต้นและดอกเบี้ย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. จะมีมาตรการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรอีกจำนวนมาก โดยโครงการหลักคือ การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นกลไกให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพต่อไปได้ โดยจะพิจารณาให้กู้ตามศักยภาพการชำระหนี้คืนของเกษตรกร ไม่เกินรายละ 1 แสนบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เผ่าภูมิ' หอบ 'ธนาคาร SME' ซับน้ำตาคนเชียงใหม่ พักหนี้ 1 ปี เติมทุน 2 แสน
'เผ่าภูมิ' ขึ้นแม่แตง ซับน้ำตาน้ำท่วม 'ธนาคาร SME' พักหนี้ 1 ปี เติมทุน 2 แสน ไม่ต้องใช้หลักประกัน ฟรีค่าธรรมเนียม
SAM เดินหน้าช่วยลูกค้าประสบอุทกภัย คลอดมาตรการพักหนี้ ลดดอกเบี้ย หวังบรรเทาความเดือดร้อน ลูกค้าให้ฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตปกติได้โดยเร็ว
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า SAM สนองนโยบายภาครัฐ
ธกส. โชว์ยอดเกษตรกรพักหนี้แล้ว 7 แสนราย ปักธง NPL เหลือไม่เกิน 5%
“ธ.ก.ส.” กางยอดเกษตรกรรายย่อยแห่เข้าโครงการพักหนี้แล้ว 7 แสนราย ตกค้างอีกเฉียด 1 ล้านราย ยันเร่งดำเนินการให้จบภายใน 3 เดือน พร้อมแจงเงินฝากยังแข็งแกร่ง เดินหน้าสางหนี้เสีย ปักธงสิ้นปีบัญชี 2567 กดหนี้เน่าเหลือไม่เกิน 5% เด้งรับนโยบายรัฐบาล ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติม
เริ่มแล้ว พักหนี้-ปลดหนี้ SMEs โดย บสย. ลงทะเบียน 1 ม.ค. เป็นต้นไป
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบอย่างจริงจังและ
นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรรอบใหม่ : ทำอย่างไรไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รอบใหม่นี้นับเป็นครั้งที่ 14 ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา คำถามคือการพักชำระหนี้ครั้งนี้จะช่วยลดยอดหนี้คงค้างของเกษตรกรลงสู่ระดับที่เกษตรกรสามารถผ่อนชำระได้ตามปรกติโดยไม่เดือดร้อนได้หรือไม่