รฟท.กางแผนชงคมนาคมไฟเขียว ดัน 6 โปรเจ็กต์ ภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ นำร่องรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย พร้อมปลุกส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง เร่งแผนจัดหาขบวนรถไฟดีเซลราง 184 คัน คาดได้ข้อสรุปปีนี้
25 ก.ย. 2566 – นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยถึงกรณีภายหลังนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานภายในกระทรวงรายงานโครงการที่สำคัญและมีความจำเป็นเร่งด่วนเสนอต่อกระทรวงภายในสิ้นเดือนนี้ว่า เบื้องต้นรฟท.มีหลายโครงการที่จะเสนอกระทรวงและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ดังนี้ โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 2.97 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์ราว 9 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 369 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาจัดการประกวดราคาประมาณ 7 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 28,759 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 604 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าสถานีนาทา จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นจุดตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าเพื่อเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน แบบไร้รอยต่อ ที่สอดคล้องกับการพัฒนารถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย โดยในอนาคตรฟท.มีแผนจะเปิดประมูลโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า รฟท.มีแผนผลักดันโครงการระบบรถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายสายสีแดง จำนวน 3 เส้นทาง รวมวงเงิน 21,754 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 10,670 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) 30 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) 271 ล้านบาท ค่างานโยธาและระบบราง จำนวน 8,076 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2,284 ล้านบาท
2.ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,616 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) 122 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) 16 ล้านบาท ค่างานโยธาและระบบราง 2,798 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 1,670 ล้านบาท
3.ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6,468 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) 166 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) 20 ล้านบาท ค่างานโยธาและระบบราง 4,055 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2,004ล้านบาท
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ส่วนแผนการจัดหาขบวนรถไฟดีเซลราง 184 คัน ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อดำเนินการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ โดยรฟท.พยายามมุ่งเน้นการใช้รถไฟอีวี จากการทดสอบที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีผลที่น่าพึงพอใจมาก ซึ่งรฟท.มีเป้าหมายที่อยากเปลี่ยนมาใช้รถไฟอีวีเพื่อเป็นต้นแบบในการขนส่งระบบราง จะทำให้เกิดผลดีต่อภาพรวมของรฟท.และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ
“จากผลการศึกษาความเหมาะสมของแผนการจัดหาขบวนรถไฟดีเซลราง 184 คัน นั้นพบว่าติดปัญหาในเรื่องของความคุ้มค่า ถึงแม้ว่าแผนนี้เป็นการซื้อทดแทนรถไฟที่มีอยู่เดิม แต่เรามองว่าหากมีการจัดซื้อขบวนรถไฟเพื่อทดแทน แต่ยังขาดทุนหรือไม่คุ้มทุนก็ไม่ควร นอกจากนี้ยังมีประเด็นอีกหากมีการซื้อรถดีเซลราง จะทำให้มีการตกรุ่นหรือไม่ เพราะในอนาคตพบว่าอย่างยุโรปมีการใช้รถไฟแบบไฮบริดหรืออีวีแล้ว”นายนิรุฒ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตามสูตร! สุริยะให้ขึ้นทางด่วนฟรีเป็นของขวัญประชาชน
'สุริยะ' เล็งจัดแพ็กเกจทางด่วนฟรี-บริการเดินทางสาธารณะ เป็นขวัญปีใหม่ ปชช. รับยกเว้นภาษีน้ำมันเครื่องบินทำไม่ได้