รมว.พลังงาน ข้องใจสูตรราคาน้ำมันหน้าปั๊ม -ขับเก๋ง เตรียมเฮ ย้ำเบนซิน ได้ลดแน่ แย้มได้ข้อมูลสำคัญกรมศุลกากร
24 ก.ย.2566-นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวถึงการเดินหน้าปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะทิศทางนโยบายเกี่ยวกับราคาน้ำมันว่า คิดว่าโครงสร้างน้ำมันวันนี้ต้องมาทบทวนว่ารูปแบบตอนนี้ถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะต้นทางของราคาน้ำมัน คือราคาหน้าโรงกลั่น อะไรคือราคาที่ถูกต้อง ความเป็นจริง ต้นทุนที่ถูกต้องคืออะไร วันนี้กระทรวงพลังงาน ก็ไม่ได้มีอำนาจไปสั่งการหรือบังคับให้บริษัทค้าน้ำมันส่งต้นทุนให้ดู อันนี้คือเรื่องของกฎหมาย อย่างการที่เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่เดินทางไปยังกรมศุลกากร ก็เพื่อต้องการหาข้อมูลต้นทุน ผมเป็นคนแบบนี้ ไม่ต้องนั่งรอใครรายงาน เพราะต้องหาข้อมูลเอง จะมานั่งมัวรอรายงาน แล้วนั่งอยู่เฉยๆ ทำไม่เป็น เป็นคนทำอะไร ต้องลงมือเอง ผมถามแล้ว เมื่อไม่ได้ข้อมูล ก็หาเอง ไม่เห็นต้องไปง้อใคร
“เอาแบบนี้ ผมยกตัวอย่าง ที่ผมก็เพิ่งทราบ เขาบอกว่า ราคาหน้าโรงกลั่นที่เป็นราคาเริ่มต้นของทั้งหมด สมมุติเรากำหนดไว้ 28 บาท แต่ผมขอกลับไปที่ค่าไฟฟ้า ก่อนสมมุติว่าหากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เขากำหนดค่าไฟออกมาที่ 3.99 บาท หากเก็บเกิน 3.99 บาท มีปัญหา แต่สำหรับน้ำมัน ไม่ใช่ เพราะโครงสร้างน้ำมันที่กำหนดไว้ให้ใช้ราคาหน้าโรงกลั่น 28 บาท แต่หากปรากฏว่าผู้ประกอบการเขาไม่เอาด้วย เขาบอกจะขาย 28.50 บาท โดยบอกว่าราคา 28 บาทขายไม่ได้ แต่พอทางนี้บอกไปว่า ข้อมูลของฝั่งคุณผิด ขอให้ข้อมูลของคุณมาให้ทางเราดู เขาไม่ให้ แล้วหากเขาขาย 28.50 บาท หรือขาย 29 บาท แล้วบอกว่าทำอะไรไม่ได้ ถ้าแบบนี้ ไม่ใช่หลักของการบริหารราชการ แบบนี้ คิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องมาทบทวน”
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เมื่อเขาบอกว่าราคาที่เรากำหนดไว้ เบื้องต้นเป็นราคาหน้าโรงกลั่นไม่ถูกต้อง และเราไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง ก็ต้องไปหาข้อมูลมา เพราะน้ำมันทุกอย่างต้องผ่านมาทางท่าเรือ เพราะขนมาทางเรือ ผ่านเข้ามาก็ต้องจ่ายภาษีอากร ก็มาดูว่าต้นทุนจากตรงนี้บวกกันแล้ว มันคือเท่าใด สิ่งที่ได้คือราคาน้ำมันที่นำเข้า ที่นำเข้ามาเป็นน้ำมันดิบกับน้ำมันสำเร็จรูป ถ้าเป็นน้ำมันสำเร็จรูปก็ไปขายได้เลย ก็ไปดูว่าต้นทุนคือเท่าใด แต่หากเป็นน้ำมันดิบต้องไปกลั่น เราไปดูในงบดุลประจำปีว่าเขามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ไม่ว่าจะบวกค่าใช้จ่ายอะไร บวกไปบวกมา มันคือค่าดำเนินงานของผู้นำเข้ามา ทำให้เรารู้ข้อมูลเบื้องต้น ที่เป็นเอกสารราชการ ที่เขาเป็นคนแจ้งมาเอง
“เมื่อไม่กี่วันก่อน ราคาน้ำมันโลกขึ้นราคา ราคาน้ำมันหน้าปั๊ม ก็ปรับราคา โดยอ้างเหตุว่าน้ำมันดิบต่างประเทศปรับราคาสูงขึ้น แต่สำหรับผม ตัวผมคิดว่ามันผิดหลักตระกะ ผมก็ต้องไปหาข้อมูลมาอีกว่าหลักนี้มันใช้ได้จริงหรือไม่ ที่บอกว่าผิดหลักตระกะ ก็คือ น้ำมันที่ขายที่ปั๊มน้ำมันวันนี้ มันนำเข้ามาเมื่อ2-3 เดือนที่แล้ว น้ำมันดิบเวลาเข้ามาแล้ว ออกจากกรมศุลกากร ก็จะถูกนำไปเก็บไว้ที่คลังน้ำมัน จากคลังน้ำมัน ถึงจะนำไปเข้าโรงกลั่น และจากโรงกลั่นถึงจะนำมาขายที่ปั๊มน้ำมัน จะใช้เวลาในส่วนนี้ประมาณ 2-3 เดือน”
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ฉะนั้นน้ำมันที่ขายที่ปั๊มน้ำมันวันนี้ คือต้นทุนน้ำมันเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว แต่เมื่อราคาน้ำมันโลกขึ้นวันนี้ แล้วคุณมาปรับขึ้นราคาน้ำมันตามได้อย่างไร เพราะต้นทุนของคุณมันคืออดีต ตรงนี้ผมยังสับสนอยู่ว่ามันเป็นหลักตรรกะอะไร ผมก็ต้องมาศึกษามาดูว่ามันถูกต้องหรือไม่ แต่ยังไม่รู้ว่าตามกฎหมายปัจจุบัน จะทำอะไรได้ สิ่งสำคัญคือเมื่อตนรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้แล้ว ถ้ากฎหมายมันใช้ไม่ได้ ก็ต้องแก้กฎหมายใหม่หมด แล้วผมก็จะร่างกฎหมายเหล่านี้เองด้วย ไม่ต้องรอให้ใครร่าง เพราะผมทำได้อยู่แล้ว โดยให้ตรวจสอบได้ และถูกต้องเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เราก็ต้องเข้าใจว่าภาคเอกชนที่เขามาลงทุนเข้ามาทำ ถ้าเขาขาดทุนอยู่ไม่ได้ เขาเจ๊ง เราก็เดือดร้อนอีก แต่หากประชาชน ผู้บริโภค อยู่ภายใต้กติกา ที่ไม่เป็นธรรม ไม่เหมาะสม มันก็เป็นการเอาเปรียบประชาชน
สำหรับการเดินทางไปกรมศุลกากรเมื่อ 19 ก.ย.ทางกรมศุลกากร ให้ข้อมูลดีมาก แต่ที่คุยกันเบื้องต้น หลักการทำงานคือเราต้องประสานงานกันสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราจะมานั่งทำงานกระทรวงเรา ต่างคนต่างอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อข้อมูลมันเชื่อมกันหมด หากเราไม่ประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง เราจะทำงานราชการได้อย่างไร ก็เป็นแนวทางการทำงานของผม ไม่ได้เป็นการไปก้าวล่วงอะไร เป็นการประสานงานเพื่อนำข้อมูลมาทำงานกันต่อไป และหลังจากนี้ ผมก็จะทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปที่กรมศุลกากรต่อไปเพื่อขอข้อมูล
ถามย้ำว่า จะมีข้อมูลแบบช็อกซีนีม่าหรือไม่ รมว.พลังงานระบุว่า”มีครับ แต่ไว้เปิดเผยทีหลัง” เมื่อถามถึงว่าราคาน้ำมันเบนซิน มีโอกาสจะมีการปรับลดราคาลงมาได้หรือไม่ภายในปีนี้ รมว.พลังงานกล่าวว่า เป็นความตั้งใจของผม ที่เมื่อลดก็ต้องลดให้ได้ทั้งหมด แต่ว่าคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในภาครัฐ เขาก็บอกว่ามันลำบาก เพราะว่ามันมีหลายขั้นตอนของกระบวนการและมีหลายเกรดของน้ำมัน ซึ่งเขาบอกว่าดีเซลกับเบนซินมันต่างกัน ดีเซลเป็นเรื่องของต้นทุนการผลิตและการขนส่งเป็นหลัก แต่ว่าเบนซินมันไม่ใช่ แต่ผมก็บอกว่ามันไม่ใช่หรอก เพราะคนที่จำเป็นต้องใช้รถ ก็มีทั้งเบนซินและดีเซล
“ผมยกตัวอย่าง เช่นพวกบริษัทส่งของวันนี้ ใช้รถปิกอัพอะไรต่างๆ ก็มีทั้งเบนซินและดีเซล ที่ผ่านมา เขาก็เลยเลือกจะช่วยพวกผู้ประกอบอาชีพเล็กๆ คือวินมอเตอร์ไซด์ แต่ก็มีปัญหาในเชิงการลงทะเบียน เช่นเรื่องเสื้อวิน อะไรต่างๆ ผมก็เลยมอบนโยบายให้ไปดูเบนซินที่ราคาต่ำสุด ประเภทที่ต่ำสุด เราช่วยตรงนี้ คนที่ไม่มีเงินมาก ก็ใช้เบนซินราคานี้ แล้วก็ไม่จำกัดแต่เฉพาะวินมอเตอร์ไซด์ จะได้หมดปัญหาเรื่องการลงทะเบียน ซึ่งตรงนี้ทางกระทรวงแรงงานมีหลักเกณฑ์อยู่ และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก็มีเกณฑ์อยู่ว่า ระดับใดที่ถือว่าเป็นผู้มีรายได้น้อย ก็ให้คนที่มีรายได้น้อยให้ได้ใช้น้ำมันราคาถูกหมด แล้วก็ไปปรับตัวเลขต่างๆ เรื่องนี้ผมมอบการบ้านให้ไปพิจารณาแล้ว ให้ดูผลงานว่าจะทำได้แค่ไหน”
ถามต่อไปว่า หากเป็นแบบนี้ ทำเรื่องโครงสร้าง ไปดูเรื่องข้อกฎหมาย น่าจะทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับลดลงได้เยอะ เบนซินปีนี้น่าจะลดลงได้ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ก็ไม่อยากพูดไปแบบนั้น แต่เอาเป็นว่าคือความตั้งใจและคิดว่าอยากจะทำให้ได้ แต่ดีเซลทำมาแล้ว ไฟฟ้าทำมาแล้ว เพราะฉะนั้นเบนซินก็ต้องทำให้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พีระพันธุ์' เตรียมขยายเวลาตรึงค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วย ถึงสิ้นปี 67
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงมาตรการดูแลราคาพลังงานให้ประชาชน หลัง