อินเดียประกาศ Notification No. 26/2023 แก้ไข Notification No. 23/2023 Amendment in Import Policy of Items under HSN 8471 กำหนดให้สินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์พิกัดศุลกากร 8471 ที่จะนำเข้าอินเดียต้องขอใบอนุญาต ตามนโยบาย Make in India หวังเป็น Hub ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และคัดกรอง “คู่ค้าที่เชื่อถือได้” โดยมาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายยักษ์ใหญ่ในอินเดีย รวมถึงผู้ส่งออกไทยใน Supply chain ที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายใหม่
21 ก.ย. 2566 – นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า อินเดียประกาศ Notification No. 23/2023 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2566 และ Notification No. 26/2023 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ว่าด้วยการปรับปรุงนโยบายการนำเข้าสินค้าภายใต้พิกัดอัตราศุลกากร 8471 เฉพาะสินค้า 7 รายการ ตามพิกัดอัตราศุลกากรอินเดีย (Indian Trade Classification: ITC) ได้แก่ 84713010 84713090 84714110 84714120 84714190 84714900 และ 84715000 ซึ่งครอบคลุมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แล็ปท็อป แท็บเล็ต และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (All-in-one PCs) โดยกําหนดให้การนําเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่อินเดียต้องขอใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การบังคับใช้มาตรการดังกล่าวมีข้อยกเว้นให้ไม่ต้องขอใบอนุญาต เช่น การนำเข้าไปเพื่อวัตถุประสงค์การศึกษาวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) การทดสอบ การประเมิน การซ่อมบำรุง การส่งกลับ (Re-export) เป็นต้น โดยกำหนดปริมาณและเงื่อนไขกำกับ
มาตรการนี้เกิดจากความพยายามของรัฐบาลอินเดียตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ในการผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศตามนโยบาย “Make in India” อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็นแหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำใน Supply chain สอดรับกับแผนกระตุ้นการลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์ตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต (Production-Linked Incentive Scheme: PLI) สำหรับสินค้า IT hardware ดึงดูดให้ผู้ผลิตรายใหญ่มาลงทุนเพื่อขยายการผลิตในอินเดีย โดยตั้งเป้าสร้างผลตอบแทนในอุตสาหกรรมให้ถึงมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2569 นอกจากนี้ อินเดียมุ่งหวังที่จะเพิ่มเสถียรภาพและความปลอดภัยของอุตสาหกรรมในประเทศโดยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัสดุอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีนที่เป็นแหล่งนำเข้าหลัก รวมถึงป้องกันความเสี่ยงหรือภัยคุกคามต่อความปลอดภัยทางเทคโนโลยีจากสินค้าดังกล่าวที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ระบบการออกใบอนุญาตจึงนำมาใช้คัดกรองการนำเข้าจาก “คู่ค้าที่เชื่อถือได้” เท่านั้น
ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียมั่นใจว่าการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดีย ช่วยสร้างโอกาสในการจ้างงานและรายได้หมุนเวียนในประเทศจำนวนมาก ในขณะเดียวกันจะสร้างความท้าทายต่อผู้ผลิตรายใหญ่ที่ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แล็ปท็อป แท็บเล็ต และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในอินเดียรวมถึงคู่ค้าตลอด Supply chain ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการผลิตและบริหารจัดการที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการนี้ นำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องมีการปรับราคาสินค้าและปรับระยะเวลาการดำเนินตามแผนการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดอินเดียได้ ทั้งนี้ ในปี 2563 อินเดียได้เคยดำเนินมาตรการในลักษณะเดียวกันกับการนำเข้าสินค้าโทรทัศน์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังและมุ่งมั่นของอินเดียในการดำเนินมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง
นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อินเดียเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของไทย โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าภายใต้พิกัดอัตราศุลกากร 8471 อยู่ในอันดับที่ 7 ของอินเดีย ซึ่งในปี 2565 อินเดียมีมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากไทยรวมราว 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าจากไทยมีแนวโน้มลดลงแม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่สามารถนำเข้าไปยังตลาดอินเดียได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าก็ตาม เห็นได้จากในปี 2566 (มกราคม – มิถุนายน) อินเดียมีมูลค่านำเข้าจากไทย 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 15.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการหดตัวดังกล่าวของไทยไปอินเดียเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคู่ค้าส่วนใหญ่ของอินเดียโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 และมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าสู่อินเดียมากกว่าร้อยละ 50 โดยในปี 2566 (มกราคม – มิถุนายน) อินเดียมีมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากจีน 2,167 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 28.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งมีมูลค่า 3,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผู้ประกอบการในประเทศไทยในฐานะคู่ค้าใน Supply chain ของอินเดีย จึงควรศึกษาแนวทางการออกใบอนุญาตสำหรับสินค้าในกลุ่ม แล็ปท็อป แท็บเล็ต อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้พิกัดอัตราศุลกากร 8471 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการใหม่ที่จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นี้ โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านตั้งแต่ปัจจุบันถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 สามารถนำเข้าสู่อินเดียได้โดยไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตนำเข้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ตาม QR Code ที่ปรากฏ และเว็บไซต์ทางการอินเดีย www.dgft.gov.in ในหัวข้อ “REGULATORY UPDATES”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พาณิชย์'จ่อใช้ยาแรงสกัดกั้นการนำเข้าขยะ
กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ เตรียมยกระดับมาตรการสกัดกั้นการนำเข้าขยะ หากยังพบว่ามีการสำแดงสินค้าว่าเป็นเศษกระดาษที่คัดแยกประเภทแล้วนำเข้ามาเพื่อรีไซเคิล แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่าสินค้ามีขยะเจือปนอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นของเสียอันตรายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน และก่อให้เกิดมลพิษอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม
พณ. หนุน SME ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจาก FTA
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ลุยต่อจัดสัมมนา โครงการส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล จัดขบวนทัพนักวิชาการ นักธุรกิจแบรนด์ชื่อดัง ส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้าจาก FTA แบบครบวงจร
กรมการค้าต่างประเทศคุมเข้มคุณภาพมันเส้นนำเข้า-ส่งออก
กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ไม่แผ่ว เดินเครื่องคุมเข้มคุณภาพมันเส้นนำเข้า-ส่งออกต่อเนื่อง ล่าสุดพบผู้นำเข้ามันเส้นด้อยคุณภาพเพิ่มอีก 7 ราย รวมเป็น 23 ราย สั่งลงโทษทันที
พาณิชย์โชว์ Soft Power อาหารไทย กินกับ 'ข้าวไทย'
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศนำทัพประชาสัมพันธ์ข้าวพรีเมียม ส่งเสริม Soft Power อาหารไทย ในงานประชุมข้าวนานาชาติ ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมค้าข้าวทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 400 ราย และใช้โอกาสนี้เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางการค้าข้าวไทย - เวียดนาม ครั้งที่ 17 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิตและการค้าข้าว ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทางการค้าข้าวระหว่างสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและสมาคมอาหารเวียดนามในฐานะผู้ส่งออกข้าวสำคัญของโลก
พาณิชย์บุกดูไบโปรโมตข้าวไทย
“กรมการค้าต่างประเทศจัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้า Gulfood 2024 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในระหว่างวันที่ 19 - 23 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมคูหาต่อเนื่องตลอดงาน”
ส่งออกอาเซียนพุ่ง! ใช้สิทธิฯ FTA สูงสุดตลอดปี 2566
กรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA ตลอดทั้งปี 2566 ตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม มีมูลค่ารวม 81,589.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอันดับที่หนึ่งที่มีการใช้สิทธิฯ เป็นตลาดอาเซียน ตามด้วยอาเซียน - จีน ไทย - ญี่ปุ่น ไทย - ออสเตรเลีย และอาเซียน – อินเดีย