'เวิลด์แบงก์' ฟันธงปลายปี 65 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

“เวิลด์แบงก์” ฟันธงเศรษฐกิจไทยเริ่มผงกหัวจากพิษโควิด-19 ได้ปลายปี 2565 จากอานิสงส์ส่งออก-มาตรการรัฐ ด้านท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว คาดปีหน้าต่างชาติตบเท้าเข้าไทยเฉียด 7 ล้านคน ก่อนพุ่งเป็น 20 ล้านคนในปี 2566 พร้อมคงคาดการณ์จีดีพีปีนี้ที่ 1% หลังการบริโภคภาคเอกชนยังอ่อนแอ ตลาดแรงงานโคม่าไม่หยุด ไวรัสทำจนพุ่ง 1.6 แสนคน ยอมาตรการเยียวยาภาครัฐเบรกคนไทยก้าวเข้าสู่ความยากจน 7 แสนคน

14 ธ.ค. 2564 นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ระดับ 1% เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนยังคงอ่อนแอจากผลกระทบของโควิด-19 ขณะนี้คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงมีไม่มากนัก แม้ว่าจะมีการเปิดประเทศ ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 8.5% ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมได้ ส่วนมาตรการเยียวยาของภาครัฐ การริเริ่มด้านสาธารณสุข โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมาตรการสนับสนุนด้านการคลังในรูปแบบอื่น ๆ ได้ช่วยหนุนอุปสงค์ของภาคเอกชน รวมทั้งสนับสนุนการบริโภคในกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง และช่วยลดผลกระทบของวิกฤติความยากจนด้วย

“ข่าวดี คือ เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปี 2565 โดยยังเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป จากแรงสนับสนุนของภาคการส่งออกและมาตรการจากภาครัฐ รวมถึงการเร่งกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรใกล้เคียงเป้าหมายที่ 70% ในปีนี้ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรลงได้ แต่ต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูง จากปัจจัยเสี่ยงเรื่องการกระจายตัวและการกลายพันธุ์ของโควิด-19 การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวระดับโลก และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในระบบห่วงโซ่การผลิต” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

ขณะที่สถานการณ์ในตลาดแรงงานของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเท่าตัว ขณะที่มีแรงงานเดิมในภาคอุตสาหกรรมที่ตกงาน และแรงงานที่ย้ายไปสู่ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนความตลาดแรงงานยังมีความเปราะบางอย่างมาก ส่วนอัตราความยากจนยังทรงตัว ซึ่งจากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อกลุ่มเปราะบาง ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 มีคนยากจนเพิ่มขึ้น 1.6 แสนคน ขณะที่มาตรการคุ้มครองทางสังคมและเศรษฐกิจที่ครอบคลุมช่วยควบคุมไม่ให้ความยากจนเพิ่มขึ้น โดยหากไม่มีมาตรการจากภาครัฐ คาดว่าความยากจนจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 1% หรือมีคนมากกว่า 7 แสนคนที่ได้รับความช่วยเหลือไม่ให้ตกไปสู่ความยากจน ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงนั้น เกิดขึ้นจากปัจจัยชั่วคราวจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาว โดยภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน

สำหรับสถานการณ์ภาคการคลังนั้น ไทยยังมีพื้นที่ทางการคลังพอสมควรในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และประคับประคองครัวเรือนที่ยากจนและตกงาน โดยในปี 2563 สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ระดับ 58.1% ของจีดีพี และคาดว่าปีนี้จะขยับเพิ่มเป็น 62.2% ของจีดีพี ขณะที่ปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 61.6% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 70% ของจีดีพี โดยมาตรการด้านการคลังในระยะต่อไปยังมีความจำเป็นแต่การให้ความช่วยเหลืออาจเป็นแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

นายเกียรติพงศ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.9% ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ในปี 2566 โดยความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปีหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 6.8-7 ล้านคน และปี 2566 จะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมองว่าการท่องเที่ยวจะส่งผลต่ออัตราการเติบโตของจีดีพีในปี 2565 ที่ 2% และในปี 2566 ที่ 4% ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้าน้อยกว่าปี 2564 เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลง ขณะที่มาตรการด้านการคลังจะลดลง เนื่องจากมาตรการรับมือกับสถานการณ์การระบาดส่วนใหญ่ได้มีการดำเนินการไปแล้ว

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังสามารถควบคุมได้ โดยคาดว่าในปี 2564-2565 จีดีพีจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำและค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 1.3% ในปี 2566 สะท้อนถึงอุปสงค์ในประเทศที่ซบเซาและการจำกัดผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยอัตราเงินเฟ้อไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และคาดว่าจะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อรองรับการฟื้นตัว โดยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อปี ในปี 2565

“ผลกระทบของโควิด-19 จะเป็นรอยแผลเป็นสำหรับผลิตภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยไปอีกนาน การลงทุนที่ลดลงในปีที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตตามศักยภาพลดลง ส่งผลกระทบด้านลบที่รุนแรงต่อประชากรสูงวัย และการปรับเปลี่ยนปัจจัยการผลิตที่ล่าช้า ดังนั้นเพื่อลดโอกาสในการเกิดแผลเป็นจากโควิด-19 และจัดการกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง จำเป็นต้องมีการแทรกแซงเพิ่มเติมในบริบทการลงทุนในกิจกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลจะเปิดโอกาสที่มีค่าในการเพิ่มทั้งอุปสงค์และอุปทานในระยะสั้น ขณะที่เพิ่มผลผลิตตามศักยภาพอย่างถาวรผ่านการเพิ่มผลิตภาพและลดความขัดแย้งของตลาด โดยประเทศไทยต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีศักยภาพมาใช้ในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาด ไปพร้อมกับการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

ด้านธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 1% จากเดิมที่ 0.8% และปี 2565 เพิ่มเป็น 4% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.9% เนื่องจากการส่งออกสินค้า การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคสินค้ากระเตื้องขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย แม้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และรายได้ในไตรมาส 3/2564ก็ตาม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น

ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า

เศรษฐกิจไทย ทำไมยังไม่ไปไหนเสียที

ก่อนหน้าที่ดิฉันจะเข้าทำงานที่องค์การสหประชาชาติเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ชื่นชมประเทศไทยมากนัก เพราะรถติดมากแทบทุกวัน

ไทยพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% เริ่ม 1 พ.ย.

ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

'ต่อตระกูล' วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย เทียบประเทศอื่นในเอเชีย ในอีก 10 ปีข้างหน้า

นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่บทความเรื่อง "เศรษฐกิจไทย วันนี้ตกต่ำจริง แล้วยังมีอนาคตอยู่ไหม?