‘กยศ.’ ชี้ไม่กระทบหลังรัฐจ่อจ่ายเงินเดือนขรก. 2 รอบ

“กยศ.” ชี้ไม่ได้รับผลกระทบหลังรัฐบาลผุดแนวทางจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ แจงพักหนี้ไม่เหมาะ หวั่นกระทบเงินหมุนเวียนสะเทือนปล่อยกู้นักเรียน-นักศึกษา เดินเครื่องขอจัดสรรงบปี 2567 เพิ่ม 1 หมื่นกว่าล้านบาท รองรับการปล่อยกู้

19 ก.ย. 2566 – นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กรณีที่รัฐบาลมีแนวทางการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 ครั้งต่อเดือนนั้น เบื้องต้นมองว่า กยศ. จะไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว และไม่จำเป็นต้องลงทุนเกี่ยวกับระบบเพิ่มเติม เนื่องจากตามหลักกฎหมายของกองทุน ระบุไว้ว่า ให้นายจ้างทำการหักเงินเดือนลูกหนี้ เพื่อนำส่งให้กรมสรรพากรทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ดังนั้นกองทุนจึงไม่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้ แต่ในรายละเอียดยังต้องรอความชัดเจนจากกรมบัญชีกลางอีกครั้ง

“อาจจะต้องมีการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลางอีกครั้ง ว่าแนวทางหรือวิธีไหนจะดีที่สุด แต่เรื่องนี้ กยศ. ไม่ต้องมีการลงทุนเพิ่ม เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะหักเงินเดือนเอาไว้ โดยปัจจุบันอัตราการหักเงินเดือนต่ำสุด คือ 100 บาท” นายชัยณรงค์ กล่าว

ขณะเดียวกันกรณีที่รัฐบาลมีแนวทางในการพักชำระหนี้ต่าง ๆ มองว่า เรื่องการพักชำระหนี้อาจจะไม่เหมาะกับ กยศ. เนื่องจากกองทุนไม่ได้มีการดำเนินงานในรูปแบบธนาคาร ไม่ได้รับฝากเงิน และไม่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยการดำเนินงานของ กยศ. เป็นรูปแบบของกองทุนหมุนเวียน ใช้เงินหมุนเวียนจากการชำระหนี้ของผู้กู้ยืม และสภาพคล่อง ดังนั้นหากมีการพักชำระหนี้ กยศ. ก็อาจจะทำให้ไม่มีเงินไหลเข้ามา ทำให้เป็นปัญหาได้

นายชัยณรงค์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้คณะกรรมการกองทุนได้มีมติอนุมัติขยายกรองการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2566 จากเดิมที่กำหนดไว้ 4.07 หมื่นล้านบาท เป็น 4.61 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจากเดิม 6.43 แสนล้านบาท เนื่องจากมีจำนวนผู้ยื่นขอกู้ยืมเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการไว้กว่า 1.17 แสนราย รวมจำนวนผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 7.6 แสนราย และเพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ในปีงบประมาณ 2567 กยศ. อยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล ประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท เพื่อมาเสริมศักยภาพในการดำเนินการ และรองรับการปล่อยกู้ หลังจากช่วงโควิด-19 คนชำระหนี้ลดลง ขณะที่แนวโน้มการกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มมากขึ้น แต่ยืนยันว่าปัจจุบันกระแสเงินสดของกองทุนยังมีอยู่เพียงพอที่จะรองรับการปล่อยกู้ ขณะเดียวกันการออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ก็จะช่วยดึงลูกหนี้เข้ามาอยู่ในระบบและมีการชำระหนี้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับสถานะของกองทุนเพิ่มขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ กองทุนยังอยู่ระหว่างเตรียมโครงการนำร่องการให้กู้ยืมในหลักสูตร Reskill Upskill โดยนำร่องให้กู้ในกลุ่มโรงเรียนบริบาล เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการศึกษาที่หลากหลาย โดยกองทุนคาดว่าจะสามารถเริ่มให้เงินกู้ยืมในหลักสูตรระยะสั้นดังกล่าวได้ในเร็ว ๆ นี้

สำหรับสถานะของ กยศ. ในปัจจุบัน ได้ปล่อยกู้ให้นักเรียน นักศึกษาทั่วไประเทศไปแล้ว 6.5 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 7.34 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ปลอดหนี้ 1.13 ล้านราย, ผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1.81 ล้านราย, ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.54 ล้านราย และผู้กู้ยืมที่เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 7.15 หมื่นราย ส่วนภาพรวมการรับชำระหนี้ในปีนี้ กองทุนได้รับชำระเงินคืน 2.57 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปัจจุบัน กยศ. มีหนี้เสียอยู่ราว 9 หมื่นล้านบาท จากหนี้คงค้างทั้งสิ้น 4.3 แสนล้านบาท ถือเป็นระดับปกติ เนื่องจากกองทุนมีการให้กู้ยืมปีละราว 4 หมื่นกว่าล้านบาท ขณะที่การปล่อยกู้นั้นก็ไม่ได้พิจารณาประเด็นเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ เพราะเป็นการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่เชื่อว่าหลังจากมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และการดำเนินการตามกฎหมายใหม่ จะช่วยให้การผ่อนชำระคืนมีสัดส่วนที่ดีขึ้นแน่นอน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือพันธมิตรยกระดับความรู้ทางการเงินแก่คนไทยทุกช่วงวัย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เดินหน้าส่งเสริมความรู้การวางแผนการเงิน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7

ก้าวไกลซัดรัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาไม่ให้งบ กยศ.แม้แต่บาทเดียว

สส.ปารมี เผยตัวเลขเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา 1.02 ล้านคน ส่อหลุดอีก 2.8 ล้านคน อัด รัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหา หลัง กยศ.ของบ 5,000 ล้านบาท แต่ไม่ให้สักบาทเดียว หวั่นทำเด็กกู้ยืมไม่มีเงินเรียนต่อ

กยศ.เตรียมฟ้องลูกหนี้ 807 ราย ไม่เคยชำระหนี้คืนเลยเป็นเวลา 10 ปี

กยศ. เผยมีผู้กู้ยืม 807 ราย ที่ไม่เคยชำระเงินคืนเลยเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ ขอให้ติดต่อปรับโครงสร้างหนี้ด่วน มิฉะนั้นจำเป็นต้องดำเนินคดีเพื่อมิให้รัฐเสียหาย