“สรรพากร” รับการบ้านนายกฯ พร้อมเช็คลิสภาษีมรดก มองถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องและเหมาะสมกับปัจจุบัน พร้อมแจงดราม่าเก็บภาษีนักลงทุนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ชี้เป็นไปตามกติกาภาษีโลก และเพื่อให้เป็นธรรมกับนักลงทุนทั้งหมด ยันไม่มีเก็บภาษีซ้ำซ้อนแน่นอน หากจ่ายที่อื่นแล้วก็ไม่ต้องเสียที่ไทยอีก
18 ก.ย. 2566 - นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ได้รับการบ้านจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง เรื่องภาษีมรดกเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้กรมฯ จะกลับไปดูในรายละเอียดว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมรดกให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไรบ้าง หลังจากนั้นจะรีบเสนอให้รัฐบาลพิจารณาโดยเร็วที่สุด
“ต้องไปดูภาพรวมโครงสร้างภาษีมรดกทั้งหมด อัตราภาษี และหลายส่วนที่เกี่ยวข้องว่าเป็นอย่างไร ต้องดูไปทุกเรื่องพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เห็นภาพ โดยต้องยอมรับว่าในช่วงที่ประกาศใช้ภาษีมรดก ซึ่งถือเป็นภาษีใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความแตกตื่น อัตราการจัดเก็บจึงบาง ๆ แต่หลังจากนี้ก็คงต้องมาดู มาปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับปัจจุบันมากขึ้น” นายลวรณ กล่าว
อธิบดีกรมสรรพากร ยังกล่าวถึงกรณีคำสั่งกรมสรรพากร เรื่อง การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีบุคคลที่มีเงินได้จากต่างประเทศ ว่า ยืนยันและขอย้ำวันเรื่องทั้งหมดเป็นพัฒนาการตามกติกาภาษีโลกที่ไทยเข้าไปเป็นสมาชิก ซึ่งจะมีพัฒนาการด้านภาษีลักษณะนี้ออกมา โดยทั้งหมดที่ทำเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมสำหรับคนไทยที่ลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่มีรายได้ในลักษณะเดียวกันก็ควรจะเสียภาษีคล้าย ๆ กัน
โดยหลังจากนี้กรมฯ จะมีการจัดประชุมกลุ่มย่อย (โฟกัสกรุ๊ป) กับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด ทั้งนักลงทุน ผู้เสียภาษี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อมาชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร รวมถึงเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและความกังวลของแต่ละกลุ่มว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้การดำเนินการช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด
“เรื่องนี้เป็นไปตามพัฒนาการของกติกาภาษีโลกที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ และหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ของไทย มี 2 เรื่อง คือ หลักถิ่นที่อยู่ ซึ่งหากมีระยะเวลาอยู่ในไทย 180 วัน และหลักการรับรู้รายได้ทั่วโลก และหากจำกันได้เรามีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แลกเปลี่ยนข้อมูล ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริบทการจัดเก็บภาษีใน 2 หลักนี้เปลี่ยนไป ข้อมูลขของคนไทยที่มีรายได้เกิดขึ้นในต่างประเทศ เมื่อก่อนอาจจะไม่รู้หรือไม่ค่อยรู้ หรือยากที่จะได้ข้อมูลชุดนี้มา แต่ต่อไปนี้ข้อมูลชุดนี้จะเป็นแบบออโตเมติกส์ หรือว่าสามารถรู้ได้ในกรณีร้องขอ ทำให้เราต้องเปลี่ยนบริบทของการกำหนดเงื่อนไข ว่าเงื่อนไขลักษณะไหนจะต้องเสียภาษีบ้าง” นายลวรณ กล่าว
อย่างไรก็ดี กรมฯ ขอยืนยันว่า จะไม่มีการเก็บภาษีดังกล่าวซ้ำซ้อนอย่างแน่นอน เพราะไทยมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่เป็นประเทศคู่ค้า ดังนั้น หากผู้ลงทุนเสียภาษีกับประเทศไหนแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามอนุสัญญาภาษีซ้อน จะไม่มีการมาเสียภาษีที่ไทยอีก
ทั้งนี้ ในระยะยาวเชื่อว่าจะมีการแก้ไขประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น และเพื่อทำให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมสำหรับคนไทยที่ลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยกรมฯ ยังไม่ได้ประมาณการเรื่องรายได้ว่าจะเข้าข่ายเสียภาษีกี่คน แต่เป็นการแก้ไขเรื่องหลักการและวิธีการที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทด้านภาษี และกติกาภาษีของโลก ซึ่งเชื่อว่าการแก้ไขในส่วนนี้ต่อไปจะทำให้สามารถรู้ได้ว่าผู้ลงทุนมีรายได้ที่เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับวิธีการจะดำเนินการอย่างไรบ้าง คงต้องรอคุยกับแต่ละกลุ่มก่อน
“กรมฯ มองเรื่องความเป็นธรรมในการเสียภาษีเป็นหลัก หากผู้ลงทุนเป็นคนไทย ไม่ว่าจะลงทุนที่ไหนก็ต้องเสียภาษีอย่างถูกต้องและเท่าเทียม โดยเชื่อว่าประกาศที่ออกมาตอนนี้คงไม่ใช่ฉบับเดียว หลังจากนี้อาจจะมีเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการตามออกมาอีกในอนาคต” นายลวรณ กล่าว
สำหรับแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 ของกรมสรรพากรนั้น มองว่า ความท้าทายคือเรื่องเศรษฐกิจภาพใหญ่ที่อาจชะลอตัวลง ตามตัวเลขที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศออกมา ตรงนี้คงมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีบ้าง เพราะหากตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ชะลอลง การจัดเก็บภาษีก็ต้องลดลงตามอยู่แล้ว แต่กรมฯ จะพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยการดึงเทคโนโลยี การใช้เอไอ เข้ามาช่วยในกระบวนการเสียภาษี ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังยังได้เตรียมเสนอแผนปฏิรูปภาษี ให้รัฐบาลพิจารณาด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ปลัดคลัง' ชี้ข้อห่วงใยผู้ว่าแบงก์ชาติ ไม่ทำให้ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' สะดุด
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการเข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โดยให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ส่งหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี(ครม.)
เดินหน้าแจกดิจิทัลวอลเล็ต หลังเพิ่มทางเลือกแหล่งเงิน
หลังเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง” เปิดแถลงข่าวไทม์ไลน์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อไป และจะสามารถแจกเงินให้ประชาชน 10,000 บาท ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คือประมาณ ตุลาคม-ธันวาคม 2567
คลังรื้อใหญ่ภาษีมรดกลุยปรับอัตรา-มูลค่าจัดเก็บใหม่
“คลัง” เดินเครื่องรื้อใหญ่ภาษีมรดก ลุยปั้นใหม่ “อัตรา-มูลค่าจัดเก็บ” ขึงหลักการสร้างความเป็นธรรม กางสถิติผ่านไป 5 ปีเก็บภาษีได้ 800 ล้านบาท
รัฐจัดหนัก 'ลดภาษีสุราชุมชน - สถานบันเทิง' หนุนไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว
มาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย
คลังคาดคนแห่ลดหย่อยภาษี Easy E-Receipt แตะล้านราย
คลังคาดคนแห่ลดหย่อยภาษี Easy E-Receipt แตะล้านราย ร้านค้าตบเท้าร่วมคึกคักดันเข้าเป้าหมื่นราย ยันมาตรการไม่ได้เอื้อคนรายได้สูง
คลังจ่อชงครม.ลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมเล็งยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า
“คลัง” เตรียมชง ครม. ลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สุราชุมชนเฮด้วย หวังกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ชี้ราคาต้องเหมาะสม-จับต้องได้ คาดบังคับใช้ภาษีใหม่ได้ ม.ค. 2567 พร้อมเล็งยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า ช่วยบูมการใช้จ่ายในประเทศ มองร้านค้ารับอานิสงส์เต็มสูบ