คลังเร่งวางแผนพักหนี้เกษตร-เอสเอ็มอี ก่อนชงครม.เคาะ

“จุลพันธ์” เตรียมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถกเดินหน้าโครงการพักหนี้เกษตร-เอสเอ็มอี ก่อนเสนอ ครม. ภายใน 14 วัน แจงพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ชงปรับเงื่อนไขใช้จ่าย 4 กิโลเมตร เป็นครอบคลุมทั้งอำเภอ หวังหนุนประชาชนใช้จ่ายรื่นปรื๊ด

18 ก.ย. 2566 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ในต้นสัปดาห์นี้คณะทำงานในโครงการพักหนี้ทั้งในส่วนของเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับกรอบแนวทาง และวิธีการทำงานทั้งหมด ให้ได้ข้อสรุป เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ สำหรับเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 14 วัน หรือไม่เกินสิ้นเดือน ก.ย. 2566

ทั้งนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีลูกหนี้เกษตรกรทั้งสิ้นกว่า 4.2 ล้านบัญชี ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ราว 3 ล้านกว่าบัญชี ก็ต้องมาพิจารณาหลักเกณฑ์ และรายละเอียดว่าจะช่วยเหลืออย่างไร โดยคงไม่ได้ช่วยทั้งหมด เพราะในส่วนนี้เชื่อว่าจะมีรายใหญ่รวมอยู่ด้วย ส่วนว่ามาตรการจะครอบคลุมแค่ไหน หรือจะมีการกำหนดเพดานการช่วยเหลืออย่างไร ขอไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะได้รับคำสั่งจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลังมาแล้ว

“คงต้องดูกรอบวงเงินที่มีความเหมาะสม และต้องดูภาระของงบประมาณที่จะรับได้อีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะตอนนี้กระบวนการงบประมาณปี 2567ที่ล่าช้านั้น ได้มีการกำหนดกรอบปฏิทินใหม่มาแล้ว โดยในส่วนนี้ก็ต้องไปดูภาระงบประมาณในแต่ละส่วน แต่ละโครงการ ต้องดูกรอบใหญ่ว่างประมาณมีภาระด้านอื่น ๆ อย่างไร ดังนั้นหลักของแนวทางการให้ความช่วยเหลือในโครงการพักหนี้ก็จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสอดคล้องกับงบประมาณด้วย” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ยืนยันว่าการดำเนินการจะไม่ช้าไปกว่าเดือน มี.ค. 2567 อย่างแน่นอน โดยนายกรัฐมนตรีตั้งธงมาแล้วว่าจะเริ่มในวันที่ 1 ก.พ. 2567 กระทรวงการคลังก็จะต้องทำให้สำเร็จ โดยอาจจะต้องมีการทดสอบระบบก่อนวันเริ่มดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ส่วนร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ คงไม่มีการให้ลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด เบื้องต้นอาจจะใช้ข้อมูลร้านค้าเดิมที่เคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมาเป็นพื้นฐาน แต่อาจจะต้องให้มีการยืนยันตัวต้นเพิ่มเติมบ้างเท่านั้น

ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้จ่ายในโครงการ โดยเฉพาะการกำหนดรัศมีการใช้จ่ายไม่เกิน 4 กิโลเมตรตามทะเบียนบ้านนั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมามีข้อเสนอแนะเข้ามาเยอะว่าเรื่องนี้อาจเป็นข้อจำกัด ซึ่งรัฐบาลเองอาจจะมีการผ่อนปรนหรือเปลี่ยนแปลงเรื่องรัศมีในการใช้จ่าย โดยอาจจะปรับมาเป็นให้ใช้ได้ภายในอำเภอตามทะเบียนบ้าน เพื่อทำให้กระบวนการใช้เงินของประชาชนผ่านดิจิทัลวอลเล็ตราบรื่นที่สุด

“ยอมรับว่าขอเสนอที่ให้ปรับมาเป็นใช้จ่ายจากรัศมี 4 กิโลเมตรมาเป็นใช้จ่ายได้ภายในอำเภอตามทะเบียนบ้านนั้น เป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้มากที่สุด แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรอยากให้รอฟังดี ๆ อีกครั้ง โดยรัฐบาลยังคงยึดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนเป็นหลัก ดังนั้นหากจะปรับโดยการปลดล็อกการใช้จ่ายจนอิสระ หรือฟรีไปเลยคงไม่มีทาง เพราะอย่างไรก็ตามคนก็ต้องกลับภูมิลำเนากันอยู่แล้ว ส่วนข้อกำหนดในการซื้อสินค้ายังต้องรอสรุปอีกนิด เพราะมีเรื่องที่ต้องพิจารณาค่อนข้างมาก เช่น กรณีที่เป็นบริการของรัฐ ควรจะให้ใช้ได้หรือไม่ เพราะเงินอาจจะไม่หมุนเข้าระบบเศรษฐกิจตามที่ควรจะเป็น เช่น การจ่ายค่าไฟฟ้า แต่ที่กำหนดชัดเจนแน่นอนแล้ว คือ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าประเภทอบายมุข และการชำระหนี้สินได้อย่างแน่นอน” นายจุลพันธ์ กล่าว

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นต้องกู้อย่างแน่นอน รัฐบาลมีกลไกในการดำเนินการได้ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดอยากให้รอดู ตอนนี้ยังตอบอะไรไม่ได้ ส่วนที่มีข้อเสนอว่าให้นำแอปพลิเคชันเป๋าตังเข้ามาใช้นั้น มองว่า แอปพลิเคชันเป๋าตังก็คือเป็นสินทรัพย์ของรัฐบาลอยู่แล้ว หากท้ายที่สุดแล้วสรุปว่าจะนำแอปฯ เป๋าตังไปใส่ในบล็อกเชนของโครงการ ก็มองงว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หากทำจริงก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ในมุมมองของรัฐบาลเห็นว่าหากอะไรที่พัฒนาแล้วทำให้ดีขึ้นก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าโครงการจะเป็นประโยชน์กับการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเพียงแค่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าโครงการ ก็เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้ว ร้านค้ามีการวางแผนการสั่งซื้อสินค้า วัตถุดิบเพื่อมารอจำหน่าย เรียกว่าเกิดการหมุนเวียนในระบบทันทีตั้งแต่โครงการยังไม่เริ่ม และเรายังมองว่า การใช้จ่ายในโครงการจะได้รับความนิยม ประชาชนจะใช้จ่ายหมด 10,000 บาทภายในไม่เกิน 1-2 สัปดาห์แน่นอน

อย่างไรก็ดี ข้อกังวลเกี่ยวกับการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในโครงการ เช่น การใช้จ่ายแบบผิดวัตถุประสงค์ โดยการฮั้วกับร้านค้าเพื่อนำเป็นเงินสดออกมานั้น ยอมรับว่าอาจเกิดขึ้นได้ แต่กระทรวงการคลังจะพยายามหาทางป้องกันให้มากที่สุด โดยมองว่าระบบการดำเนินงานผ่านบล็อกเชนจะสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะและหาทางแก้ไขต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุลพันธ์ เผยโอนเงินหมื่นรอบเก็บตกครั้งที่ 2 ทำสำเร็จไม่ถึงครึ่ง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงภาพรวมการโอนเงิน 10,000 บาท ของโครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตในรอบจ่ายซ้ำ (Retry) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567

จับตา นายกฯอิ๊งค์ นั่งบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจวันนี้ เคาะแก้หนี้ - แจกเงินหมื่นรอบใหม่

"คลัง" เตรียมชงบอร์ดนโยบายฯ เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแพ็กเกจใหญ่ 19 พ.ย.นี้ เดินหน้า "แก้หนี้-อุ้มอสังหาฯ-มาตรการภาษี-ดิจิทัลวอลเล็ต" ปูพรมกระตุ้นตั้งแต่ปลายปีนี้- จนถึงปีหน้า

คกก.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นัดประชุมครั้งแรก 19 พ.ย. ถกแจกเงินดิจิทัลรอบใหม่

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังหารือกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และหน่วยงานเศรษฐกิจว่า ในวงหารือได้เคาะวันประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

'สรรพสามิต' เตรียมปลดล็อกรายย่อยขอใบอนุญาตผลิตสุรา

“เผ่าภูมิ” ถก กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายภาษีสรรพสามิต เห็นพ้องเดินหน้าเพิ่มโอกาส-ลดข้อจำกัดสุราพื้นบ้านและสุราชุมชน เตรียมปลดรายย่อยขอใบอนุญาตผลิตสุรา หวังดันสู่ Soft Power ไทย

'จุลพันธ์' ปัดตอบ 'พ.ร.บ.กาสิโน' คลอดปีนี้หรือไม่ แต่ผ่านสภาฉลุยแน่ ยันพรรคร่วมรัฐบาลไม่ขัดแย้ง แค่เห็นต่าง

ที่ทําเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการยกร่างพ