“แบงก์ชาติ” ลุยจับตาช่วง 3 ปี ห่วงหนี้ครัวเรือนถ่วงเศรษฐกิจไทย พร้อมแนะรัฐเร่งปรับโครงสร้างช่วยเหลือรายย่อย กระทุ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมมาตรการรับมือตลาดตราสารหนี้ผันผวน
13 ธ.ค. 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการการนโยบายการเงิน (กนง.) และ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) วันที่ 8 ธ.ค. 2564 เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยที่ประชุมเห็นว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนเงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง และสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนความต้องการสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ธุรกิจประกันภัยยังมีฐานะการเงินมั่นคง
ส่วนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำกัดอยู่เฉพาะบางบริษัทที่ขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ-จ่าย-จบ ซึ่งได้มีมาตรการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินแล้ว ขณะที่ตลาดการเงินมีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลได้ออกมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน
และช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดย ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม อาทิ มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาวอย่างยั่งยืน มาตรการรวมสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ ข้ามธนาคาร (debt consolidation) มาตรการผ่อนเกณฑ์วงเงิน ระยะเวลากู้ และลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นต้น ซึ่งสามารถบรรเทาภาระในการชำระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ครัวเรือนและเอสเอ็มอี
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยสำหรับกรมธรรม์โควิด-19 แบบเจอ-จ่าย-จบ และออกมาตรการผ่อนผันหลักเกณฑ์ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่องเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้บริษัทประกันภัย โดยลดภาระด้านการดำรงเงินกองทุนและสำรองประกันภัยอันเกิดจากการรับประกันภัยโควิด-19 รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการจัดหาแหล่งเงินทุนและเสริมสภาพคล่อง
ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น โดยออกหลักเกณฑ์กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (high yield bond fund) กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้คืน (stressed bond fund) และกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน (REIT buy-back) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่และผลกระทบที่อาจมีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่ประชุมเห็นว่า ยังจำเป็นต้องผลักดันให้มาตรการเป็นไปตามเป้าประสงค์ พร้อมกับประเมินความเพียงพอของมาตรการควบคู่กับบริบทการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอน ประสิทธิภาพของวัคซีน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงกรณีเลวร้ายที่ต้องกลับไปล็อคดาวน์ เป็นต้น
ทั้งนี้ นอกจากการประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้สะดุดแล้ว ที่ประชุมเห็นควรเตรียมความพร้อมด้านมาตรการและเครื่องมือในการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะปานกลาง หรือ ในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า ซึ่งจำเป็นต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล โดยที่ประชุมให้น้ำหนักกับการดูแลความเสี่ยงสำคัญที่มีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในอีก 2 ประเด็น ดังนี้
1 หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน และเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปนั้น ควรเร่งผลักดันมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีภาระหนี้สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีศักยภาพแต่มีภาระหนี้สูงให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ เตรียมความพร้อมมาตรการชะลอการก่อหนี้ใหม่ในด้านการกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ทำควบคู่กับการฟื้นฟูรายได้และให้ความรู้ทางด้านการเงินแก่ประชาชน เพื่อให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น และภาคครัวเรือนสามารถหลุดพ้นจากกับดักหนี้ได้ในที่สุด
2 ความเสี่ยงที่ส่งผ่านระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบการเงิน เช่น ความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักลงทุนโดยทั่วไป สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือกองทุนรวม และส่งผลต่อต้นทุน การระดมทุนของภาคธุรกิจ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมมาตรการและเครื่องมือรองรับและยกระดับเกณฑ์การกำกับดูแลในช่วงเวลาที่สอดรับกัน เช่น การมีมาตรการดูแลความเสี่ยงของบริษัทขนาดใหญ่ ที่ระดมทุนผ่านทั้งช่องทางสินเชื่อและการออกตราสารหนี้
พร้อมกับการมีเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อลดการกระจุกตัวของการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการมีเกณฑ์เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมที่เข้มงวดขึ้น เป็นต้น เพื่อจำกัดการส่งผ่านความเสี่ยงและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงิน รองรับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ดี มติที่ประชุมเห็นควรให้หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธปท. ก.ล.ต. และ คปภ. ร่วมกันติดตาม
ความเสี่ยงเฉพาะหน้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลของการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนประเมินความเพียงพอและประสิทธิผลของมาตรการที่ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านมาตรการและเครื่องมือในการรองรับความเสี่ยงระยะปานกลางที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะมาตรการที่ต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ เลี่ยงตอบปม 'แบงก์ชาติ' ติงแจกเงินหมื่นเฟส 3
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งหนั
'นายกฯอิ๊งค์' เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น ตั้งเป้าจีดีพีโต 3%
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานที่มีนโยบายต่างๆสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปี 2568 งบประมาณจะเพิ่มขึ้น และมีการขาดดุลการคลังที่ลดลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี
Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ 'เวียดนาม' แล้ว 'ไทยจะทำอย่างไร'
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ "เวียดนาม" แล้ว "ไทยจะทำอย่างไร" เมื่อ "เวียดนาม" ขึ้นแท่น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน"
หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน