13 ธ.ค. 2564 สถานการณ์ราคาข้าวไทยในปี 2564 นับว่าน่าเป็นห่วง โดยมีทิศทางปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และคาดว่าจบทั้งปีน่าจะมีราคาเฉลี่ยตกต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี โดยราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอาจอยู่ที่ราว 9,040 บาทต่อตัน หรือลดลงร้อยละ 20.3 (YoY) โดยปัญหาหลักที่รุมเร้ากดดันราคาข้าวไทยคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อการบริโภคในประเทศจากการล็อกดาวน์ ปัญหาน้ำท่วม รวมถึงในด้านการส่งออกข้าวที่ลดลงอย่างรุนแรงต่ำสุดในรอบนับ 10 ปีจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ในภาวะที่ผลผลิตข้าวไทยอยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงสายพันธุ์ข้าวไทยที่ไม่หลากหลายและเริ่มไม่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลก ล้วนเป็นปัจจัยกดดันซ้ำเติมให้ราคาข้าวไทยปรับตัวลดลง และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เผชิญความยากลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ หากพิจารณาทิศทางราคาข้าวไทยในอดีต จะพบว่า ราคาข้าวไทยซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์จะค่อนข้างผันผวนไปตามราคาตลาดโลก ตลอดจนมีปัจจัยกดดันหลากหลายให้ราคาข้าวไม่สามารถยืนรักษาระดับที่ดีต่อเนื่องได้ เช่น คู่แข่ง สภาพดินฟ้าอากาศ เป็นต้น ทำให้ราคาข้าวไทยมักจะอยู่ในระดับต่ำ จึงนับเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความซับซ้อนมาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการแก้ปัญหาด้านราคาและคงต้องใช้เวลาพอสมควรในการยกระดับราคาข้าวไทยให้สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ
มองต่อไปในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาข้าวไทยในปี 2565 น่าจะให้ภาพการเติบโตที่กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย จากปัจจัยหนุนสำคัญที่คาดว่าปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ผนวกกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จะช่วยหนุนการส่งออกข้าวไทยให้ดีขึ้นได้ ในภาวะที่ไทยมีความพร้อมด้านผลผลิตในเกณฑ์ดี ขณะที่อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศน่าจะมีรองรับมากขึ้น ตามเทรนด์ความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้ราคามีโอกาสขยับขึ้นได้ แต่คงอยู่ในกรอบแคบๆ เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกที่รุนแรง และสถานการณ์โควิด-19 จากเชื้อกลายพันธุ์ (Omicron) ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาข้าวเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ในปี 2565 อาจอยู่ที่ราว 8,900-9,400 บาทต่อตัน หรือหดตัวร้อยละ 1.6 ถึงขยายตัวร้อยละ 4.0 (YoY) นับเป็นราคาที่กระเตื้องขึ้นหลังจากผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2564 แต่คงเป็นการเติบโตบนฐานที่ต่ำ จึงนับว่ายังเป็นระดับราคาที่ต่ำและให้ภาพราคาที่ไม่ได้เปลี่ยนไปจากปี 2564 มากนัก (ราคาข้าวเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีในช่วงปี 2559-2563 อยู่ที่ 10,259 บาทต่อตัน) โดยปัจจัยหนุนที่ทำให้ราคากระเตื้องขึ้นได้น่าจะมาจากปัจจัยด้านอุปทานที่คาดว่าปัญหา Supply Disruption จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออกน่าจะคลี่คลายมากขึ้นในช่วงหลังกลางปี 2565 ผนวกกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จะช่วยหนุนให้การส่งออกข้าวไทยอาจทำได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่น่าจะมีรองรับมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และอุปสงค์จากต่างประเทศตามเทรนด์ความมั่นคงด้านอาหารและข้าวเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค อันจะทำให้ภาพของราคาข้าวไทยน่าจะสามารถเติบโตกระเตื้องขึ้นได้ ในภาวะที่ไทยมีความพร้อมด้านผลผลิตข้าวที่อยู่ในระดับสูง จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยตามวงรอบของปรากฏการณ์ลานีญา และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้น/เฉพาะหน้าของภาครัฐที่จูงใจให้เกษตรกรยังคงมีการปลูกข้าวต่อไป
อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาปัจจัยท้าทายที่ยังคงรุมเร้ากระทบราคาต่อเนื่องจากปีก่อน อย่างการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงโดยเฉพาะคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามที่มีแนวโน้มเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากไทยมากขึ้นด้วยราคาและต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าไทย และมีผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่าไทย ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยยังสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ตลอดจนคู่แข่งยังมีการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวคุณภาพที่ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น เช่น ข้าวพื้นนุ่ม ที่ผู้บริโภคชาวจีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซียหันมานิยมมากขึ้น หรือข้าวออร์แกนิก ที่เป็นกระแสการบริโภคในระยะยาว รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากเชื้อกลายพันธุ์ (Omicron) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ได้ อันจะทำให้ราคาข้าวไทยอาจเคลื่อนไหวขยับขึ้นได้ในกรอบแคบๆ
จากปัญหาเชิงโครงสร้างด้านราคาที่มีความซับซ้อนและส่งผลกดดันราคาข้าวไทยมาอย่างยาวนาน กระทบต่อเนื่องมาถึงในปี 2565 ที่แม้ราคาข้าวอาจกระเตื้องขึ้นได้บ้าง แต่ก็นับว่าราคายังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับอดีต ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรให้ขายข้าวได้ในราคาที่ไม่สูงนัก อีกทั้งยังต้องเผชิญต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งต้นทุนแรงงาน ราคาปุ๋ย เงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่ล้วนส่งผลกดดันต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ นับว่าการแก้ปัญหาด้านราคาคงต้องทำหลายอย่างไปพร้อมๆกัน ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักและต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การใช้มาตรการดูแลราคาข้าวของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในระยะสั้น/เฉพาะหน้า นับว่าเป็นแนวทางที่มีความจำเป็นและยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือด้านรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว แม้จะส่งผลกระทบต่องบประมาณภาครัฐที่ต้องใช้จำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคงต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีความจำเป็นในการพิจารณามาตรการระยะสั้นอื่นควบคู่กันอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ตลาด อย่างไรก็ดี แนวโน้มราคาข้าวในปี 2565 ที่กระเตื้องขึ้น อาจช่วยลดภาระงบประมาณภาครัฐที่ต้องใช้ในระยะสั้น เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ลดลงได้ในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจน้อยกว่ากรอบวงเงินที่ใช้ในโครงการปัจจุบัน (ปี 2564/65) ที่ราว 8.9 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกัน การนำแนวทางการแก้ปัญหาราคาข้าวระยะกลาง-ยาวมาปรับใช้ควบคู่ไปด้วย นับเป็นเครื่องยนต์ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนข้าวไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการยกระดับในภาคการผลิต เช่น การพัฒนาระบบชลประทานของไทยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้มากขึ้น การให้ชาวนาเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนการแปรรูปกลางน้ำและปลายน้ำมากขึ้น การทำเกษตรแปลงใหญ่ที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงจากการใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกัน รวมทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและเป็นสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคที่มีความพรีเมี่ยมมากขึ้น เช่น ข้าวพื้นนุ่ม ข้าวออร์แกนิก อันจะเป็นการยกระดับไปสู่การแข่งขันด้านคุณภาพไม่ใช่การแข่งขันด้านราคาในตลาด MASS ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย (AgriTech) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ผนวกกับช่องทางการตลาดแบบ E-Commerce อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับข้าวไทยได้อย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาวนาลุ้น ‘ครม.’ อนุมัติเงินช่วยไร่ละ 1,000 บาท พร้อมโอนเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว
นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จังหวัดเชียงใ
ชาวนาเฮ! นบข. ไฟเขียว 'ไร่ละพัน' ยกเลิก 'ปุ๋ยคนละครึ่ง'
ชาวนาเฮ! นบข. ไฟเขียวช่วยไร่ละพัน ไม่เกิน 10 ไร่ จ่อชง ครม.สัญจรเชียงใหม่ 29 พ.ย. เป็นของขวัญปีใหม่ พร้อมยกเลิก 'ปุ๋ยคนละครึ่ง' ด้าน ‘นายกสมาคมชาวนา’ พอใจ ไม่ปลุกม็อบประท้วง
เอ๊ะยังไง! 2 สัปดาห์ ชื่อ 'กิตติรัตน์' ประธานบอร์ด ธปท. ยังไม่ถึงมือขุนคลัง
'พิชัย' บอกยังไม่ได้รับรายงาน ผลการเลือก 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คาดติดช่วงวันหยุด ชี้ช่วยค่าเกี่ยวข้าวชาวนาไร่ละ 500 บาท ขอฟังความเห็นที่ประชุม นบข.
รองโฆษกรัฐบาล เผย นบข. เตรียมเคาะช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ก่อนชง ครม.อนุมัติ
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะนั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)
กระทรวงเกษตรฯ เคาะช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่! วงเงิน 3.8 หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากกรณีมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตครั้งที่