ปักธงปี70 เปิดใช้ไฮสปีด "ไทย-จีน" เร่งสางปม "มรดกโลก-ทับซ้อน3สนามบิน" หวั่นโครงการสะดุด

4 ก.ย. 2566 – โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ที่ปัจจุบันความคืบหน้างานก่อสร้างไฮสปีดเทรนระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท อยู่ที่ประมาณ 24% ซึ่งล่าช้ากว่าแผนจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเข้าพื้นที่งานก่อสร้าง รวมทั้งขนส่งวัสดุอุปกรณ์ได้ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การก่อสร้างงานโยธาทั้งหมดในโครงการนี้รวมจำนวน 14 สัญญา ปัจจุบันได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีจำนวน 10 สัญญา อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างอีก 1 สัญญา และยังไม่ลงนามอีก 2 สัญญา โดยโครงการที่ยังรอการลงนามนั้นประกอบด้วย

สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม.ซึ่งเป็นพื้นที่โครงสร้างร่วมกับโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยสถานะปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนคู่สัญญาของไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน เพื่อดำเนินการลงทุนช่วงโครงสร้างร่วมของสองโครงการนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ระบุให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างร่วม และหลังจากนั้น รฟท.จึงจะทยอยจ่ายค่างานโยธาในภายหลัง เพื่อให้ทั้งสองโครงการเดินหน้าคู่ขนานกัน

ปัจจุบัน การเจรจายังไม่มีข้อยุติ ซึ่ง รฟท.ประเมินว่าหากท้ายที่สุดการเจรจายังหาข้อสรุปไม่ได้ ทางเลือกสุดท้ายที่จะดำเนินการคือ นำโครงสร้างทางร่วมของโครงการรถไฟไทย-จีนมาดำเนินการก่อสร้างเอง เพื่อไม่ให้โครงการรถไฟไทย-จีนต้องล่าช้ากว่าแผนที่ปัจจุบันกำหนดเปิดให้บริการในปี 2570 เบื้องต้นประเมินว่าจะรอความชัดเจนของการเจรจาร่วมกับเอกชนในปัญหาโครงสร้างร่วมให้ได้ข้อยุติภายในเดือน ต.ค.นี้

โดย รฟท.จะเร่งแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) สายแรกของประเทศไทย สาเหตุหลักของความล่าช้ามาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคหลายด้าน โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งช่วงแรกยังติดปัญหาการเข้าพื้นที่ก่อสร้างด้วย ขณะนี้เริ่มคลี่คลาย นอกจากต้องเร่งรัดการก่อสร้างงานโยธาที่ฝ่ายไทยโดย รฟท.เป็นผู้ดำเนินการแล้ว

นายนิรุฒ กล่าวย้ำว่า “ภาพรวมของโครงการรถไฟไทย-จีนตอนนี้ก็ยอมรับว่าดีเลย์ แต่ด้วยหลายสาเหตุ ปัจจัยหลักคือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งความพยายามตอนนี้ในการแก้ปัญหาโครงสร้างร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองเราก็มีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ทั้งการรถไฟฯ สกพอ. และเอกชนโดยเอเชีย เอรา วัน มาตลอด ถ้าได้ความชัดเจนภายใน ต.ค.นี้ก็จะสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการส่วนนี้ได้ และไม่กระทบแผนเปิดให้บริการ”

ทั้งนี้ หากปัญหาโครงสร้างร่วมของสองโครงการไฮสปีดเทรนต้องถูกปรับเปลี่ยนจากการมอบให้เอเชีย เอรา วัน เป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง และจำเป็นต้องนำกลับมาให้ รฟท.ดำเนินการ ก็จะขัดต่อมติ ครม.เดิมที่อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้นกระบวนการมีความจำเป็นต้องรายงานไปยัง ครม.เพื่อขอรับความเห็นชอบให้ รฟท.กลับมาดำเนินการลงทุน หลังจากนั้นต้องเข้าสู่กระบวนการเปิดประมูลจัดหาผู้รับเหมา ซึ่งคาดว่าหากเป็นแนวทางนี้จะใช้เวลาดำเนินการนานกว่าการมอบหมายให้เอกชนก่อสร้าง

“ปลายทางของการแก้ไขปัญหาโครงสร้างร่วมคือ การรถไฟฯ เป็นผู้ลงทุนเอง แต่ต้องยอมรับว่าทางเลือกนี้ต้องใช้เวลาดำเนินการมากกว่า หากเทียบกับเอเชีย เอรา วัน เป็นผู้ก่อสร้าง เพราะเป็นมติ ครม.ที่สามารถลงทุนทำได้เลย โดยหากท้ายที่สุดสามารถเจรจากับเอกชนให้ยอมรับและเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง จะเป็นประโยชน์มากกว่า”

ขณะที่ปัญหาสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. ที่ปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก บริเวณสถานีอยุธยา ขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างศึกษารายงาน HIA ของสถานีอยุธยา ขณะที่บอร์ด รฟท.ได้อนุมัติการจัดจ้างผู้รับเหมาแบบมีเงื่อนไข คือ ให้ก่อสร้างในส่วนของงานทางวิ่งก่อน ส่วนสถานีหาก HIA ได้ข้อสรุปจึงก่อสร้างภายหลัง ดังนั้นหากสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาแล้วเสร็จ รฟท.พร้อมลงนามทันที ซึ่งกระทรวงคมนาคมผลักดันให้มีการก่อสร้างงานทางวิ่งภายในเดือน ต.ค.2566

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ตัวรถจีนอยู่ระหว่างออกแบบระบบต่างๆ ทั้งราง ตัวรถ และอาณัติสัญญาณ เน้นด้านระบบไฟฟ้า และระบบเครื่องกลก่อน ขณะนี้ฝ่ายไทยและฝ่ายจีนร่วมกันตรวจสอบและปรับแก้อยู่ ส่วนงานขบวนรถไฟจะออกแบบเป็นเรื่องสุดท้าย เบื้องต้นฝ่ายจีนได้นำแบบมาตรฐานของขบวนรถไฟมาให้ฝ่ายไทยพิจารณาแล้ว ฝ่ายไทยขอปรับรายละเอียดภายในตัวรถอีกเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับคนไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566

สำหรับขบวนรถจะอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย โดยไทยตกลงใช้ “ฟู่ซิ่งเฮ่า” (Fuxing Hao) รุ่น (ซีรีส์) CR300 ที่มีความเร็วสูงสุด 300 กม./ชม. ใช้ความเร็วบริการที่ 250 กม./ชม. เพื่อความปลอดภัยและประหยัดค่าไฟฟ้า “ฟู่ซิ่งเฮ่า” รุ่น CR300 ของรัฐวิสาหกิจจีน มีโรงงานผลิต 2 แห่ง โดยรหัส AF ผลิตที่ CRRC ชิงเต่า ซื่อฟาง ส่วนรหัส BF ผลิตโดย CRRC ฉางชุน โดยรถออกแบบรูปทรงโมเดิร์นโค้งและลู่ลม มีคุณสมบัติสมรรถนะมาตรฐานเดียวกัน จะต่างกันที่หน้าต่างด้านหน้ารถ รวมถึงสี โดย AF หน้ากากลายสีเหลือง ส่วน BF หน้ากากลายสีแดง
โดยเบื้องต้นจีนจะประมูลเลือกโรงงานไหนก่อน จากนั้นฝ่ายไทยจะเลือกสีและออกแบบภายใน พวกสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น รูปแบบห้องน้ำ เก้าอี้ จุดวางสิ่งของเพื่อให้เหมาะต่อการใช้งานของคนไทย และทางกระทรวงคมนาคมจะให้มีการออกแบบลวดลายและสีที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยด้วย
“ในประเทศจีนใช้รุ่น CR300 วิ่งบริการทางด้านใต้ เพราะระยะห่างสถานีใกล้กันเหมือนไทย ส่วนรุ่น CR400 ความเร็วสูงสุด 400 กม./ชม. ตอนนี้จีนมีใช้มากที่สุด จะวิ่งทางด้านเหนือที่เป็นเมืองใหญ่ ระยะห่างสถานีไกล ใช้ความเร็ว 350 กม./ชม.จะคุ้มค่ากว่า”
เดิมไทยตกลงใช้รถ CRG2G (Hexie Hao) รุ่น “เหอเสีย” แต่พอ CRCC เปิดตัว “ฟู่ซิ่งเฮ่า” รุ่น CR300 เมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งฝ่ายจีนการันตีว่าเป็นระบบเทคโนโลยีทันสมัยและมีสมรรถนะที่ดีกว่า และมีระยะซ่อมบำรุงที่นานกว่า ไทยจึงเจรจาเปลี่ยนเป็นรุ่น “ฟู่ซิ่งเฮ่า” ซึ่งแม้ว่าไฮสปีดไทย-จีนจะเปิดอีก 4-5 ปีข้างหน้า CR300 ก็จะยังไม่ตกรุ่น
สำหรับรถไฟความเร็วสูง “ฟู่ซิ่งเฮ่า” ผลิตโดย CRCC ออกแบบมีอายุใช้งาน 30 ปี ใน 1 ขบวนมี 8 ตู้ มีจำนวน 8 ขบวน (64 ตู้) วิ่งบริการ 6 ขบวน สำรอง 2 ขบวน แบ่งเป็นตู้ Business Class 2 ตู้, Standard Class 4 ตู้, ตู้ธรรมดาที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ตู้ และตู้สำหรับรับประทานอาหาร 1 ตู้ โดยมีจำนวนที่นั่งรวม 594 ที่นั่ง แยกเป็น First Class 96 ที่นั่ง และ Standard Class 498 ที่นั่ง
โดย ในส่วนของจีนได้พัฒนารถไฟความเร็วสูงในเวลาอันรวดเร็ว ปี 2547 เริ่มสายแรก “ปักกิ่ง-เทียนจิน” ระยะทาง 113.58 กม. เปิดบริการปี 2551 ใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น ก่อนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก “ปักกิ่งเกมส์ 2008” แค่ 20 ปี จีนมีรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศถึง 42,000 กม.แล้ว ด้วยบริการที่สะดวก ทันสมัย ค่าโดยสารถูก และไม่เคยปรับราคาตั้งแต่เปิด ทำให้คนจีนนิยมใช้บริการเดินทางจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม หากโครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม.แล้วเสร็จจะทำให้ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ออกทุกๆ 90 นาที มี 6 สถานี ค่าโดยสารกรุงเทพฯ-ดอนเมือง 105 บาท, กรุงเทพฯ-อยุธยา 195 บาท, กรุงเทพฯ-สระบุรี 278 บาท, กรุงเทพฯ-ปากช่อง 393 บาท, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 535 บาท.

เพิ่มเพื่อน