31 ส.ค. 2566 – นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คาดว่าจะใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 3% ของจีดีพี โดยนโยบายดังกล่าวจะมีผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แต่อาจจะต้องดูการหมุนของเงินว่ากี่รอบ หากมีการหมุน 1 รอบก็จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 3% แต่กรณีที่เป็นเงินโอนการหมุนของเงินก็อาจจะน้อยกว่า 1 รอบ และอาจจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นสูงบ้างเมื่อเทียบกับในอดีต
“ประเมินแล้วการกระตุ้นโดยการแจกเงินดิจิทัล ธปท.มีมุมมองความเสี่ยงเชิงบวก แต่ก็ต้องประเมินเรื่องของการจัดเก็บรายได้รัฐบาลด้วย ส่วนถามว่าการแจกเงินจะออกมารูปแบบไหน คงเร็วไปที่จะพูด อยากให้รอดูความชัดเจนก่อน” นายสักกะภพ กล่าว
นายสักกะภพ กล่าวว่า ธปท. เตรียมปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลง โดยหลัก ๆ มาจากภาคการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวลงกว่าที่คาด จากเศรษฐกิจหลายประเทศที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีนขณะที่ภาคการท่องเที่ยวแม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ก็มองว่าผลดีกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มท่องเที่ยว อาทิโรงแรมและอื่น ๆ อาจจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ จากค่าใช้จ่ายตัวหัวที่น้อยกว่าที่ประเมิน เพราะนักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวระยะสั้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหัวค่อนข้างต่ำ ขณะที่เม็ดเงินที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายของรัฐบาลก็ไม่ได้มีผลกับเศรษฐกิจในปีนี้มากนัก โดยจะมีผลในปี 2567 เป็นสำคัญ ดังนั้นจึงต้องโฟกัสนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่อาจจะมีปัจจัยช่วยทำให้เศรษฐกิจโตได้เร็วในปีหน้า
“ปีนี้คงพูดไม่ได้ว่าตัวเลขจะเป็นเท่าไหร่ แต่คงปรับลดลงพอสมควร แต่คงไม่ได้ลดลงมาต่ำถึงขนาดนั้นเพราะจากข้อมูลที่เข้ามา โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจจริงในไตรมาส 2/2566 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ก็ออกมาต่ำกว่าที่คาดพอสมควร แต่ยังพูดได้ว่าแนวโน้มข้างหน้ายังอยู่ในทิศทางของฟื้นตัว จากการท่องเที่ยวที่ยังแรง และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับภาคการส่งออก และรัฐบาลที่เข้ามาน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย ซึ่งหากดูตามเครื่องยนต์ที่เข้ามาทั้งหมดยังเป็นไปในทิศทางกระตุ้น ดังนั้นมีโอกาสสูงที่ปี 2567 จะโตได้มากกว่าปีนี้” นายสักกะภพ กล่าว
นอกจากนี้ มองว่าแนวโน้มภาคการส่งออกยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยในช่วงไตรมาส 3/2566 คงไม่เห็นการฟื้นตัว แต่จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4/2566 เป็นผลของฐานวงจรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เริ่มฟื้นตัว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวได้ชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า
เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนหนึ่งการบริโภคได้รับผลดีจากช่วงวันหยุดยาว ทั้งการใช้จ่ายในหมวดโรงแรมและภัตตาคาร และหมวดขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นขณะที่ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับดีขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงบ้างจากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐไม่รวมเงินโอนยังขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนด้านคมนาคม ขณะที่รายจ่ายประจำทรงตัวจากปีก่อน โดยรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการขยายตัว แต่รายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรลดลงหลังเร่งเบิกจ่ายไปในช่วงก่อนหน้า สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากผลของฐานสูงตามการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านคมนาคมในปีก่อน
ทั้งนี้ ในส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้า ในเดือน ก.ค. 2566 ติดลบ 5.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปฮ่องกงและสหรัฐฯ, ทุเรียนไปจีนที่ลดลงตามผลผลิตที่หมดฤดูกาล และเคมีภัณฑ์ไปจีนและอาเซียน อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นหลังปัญหาด้านอุปทานทยอยคลี่คลายรวมทั้งหมดเกษตรแปรรูปที่เพิ่มขึ้นตามการส่งออกอาหารกระป๋องไปสหภาพยุโรปและอาหารสัตว์ไปจีน ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำ ลดลงจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติหลังจากเร่งไปแล้วในเดือนก่อนหน้า โดยการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นในหลายหมวด หลังจากชะลอลงไปในช่วงก่อน โดยเฉพาะการผลิตในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นตามการผลิตน้ำตาล หมวดยานยนต์จากการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์ และหมวดยางและพลาสติกตามการผลิตยางล้อที่เพิ่มขึ้นหลังลดต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ลดลงตามรอบการส่งมอบสินค้าและหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับลดลงจากเครื่องปรับอากาศที่เร่งตัวไปในช่วงก่อนหน้า
นายสักกะภพ กล่าวอีกว่า ในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนหมวดอาหารสดปรับลดลงจากทั้งผลของฐานสูงในปีก่อนและราคาเนื้อสุกรและผักที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ
อย่างไรก็ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการค้าที่เกินดุลลดลงตามมูลค่าการส่งออก ประกอบกับดุลบริการ รายได้และเงินโอนขาดดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น เนื่องจากตลาดปรับลดคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกอบกับสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลของไทยที่มีทิศทางชัดเจนขึ้นในช่วงปลายเดือน
“กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ยังพึ่งพาการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้านั้น ยังคงมีความเสี่ยง” นายสักกะภพ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอ๊ะยังไง! 2 สัปดาห์ ชื่อ 'กิตติรัตน์' ประธานบอร์ด ธปท. ยังไม่ถึงมือขุนคลัง
'พิชัย' บอกยังไม่ได้รับรายงาน ผลการเลือก 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คาดติดช่วงวันหยุด ชี้ช่วยค่าเกี่ยวข้าวชาวนาไร่ละ 500 บาท ขอฟังความเห็นที่ประชุม นบข.
นักกฎหมาย ชี้ไม่ง่าย 'โต้ง' ว่าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะแทรกแซงผู้ว่าแบงก์ชาติ
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายคัดค้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ เป็นตัวแทนฝ่
รัฐบาลดี๊ด๊า! เปิดทำเนียบฯ รับม็อบเชียร์ 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ
เครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อ หนุน 'กิตติรัตน์' นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ 'รองเลขาฯนายกฯ' รีบหอบส่ง ธปท.ทันที แย้มวันนี้ไม่เลื่อนแล้ว
ม็อบบุกแบงก์ชาติ ยื่นอีก 5 หมื่นชื่อ ขวางการเมืองจุ้นเลือก 'ปธ.บอร์ด'
คปท. ศปปส. และกองทัพธรรม เดินทางมาชุมนุมหน้าแบงก์ชาติ เพื่อคัดค้านไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงครอบงำ ธปท.
ลุ้น! นัดครั้งที่3 เลื่อน-ไม่เลื่อน ลงมติเลือก ‘ปธ.บอร์ดธปท.’ จันทร์นี้
นัดครั้งที่ 3 รอบนี้ ลุ้นเลื่อน-ไม่เลื่อน ลงมติเลือกประธานบอร์ดธปท.จันทร์นี้ กรรมการฯปิดปากเงียบ คลัง เปลี่ยนตัว กิตติรัตน์หรือยัง ม็อบนัดรวมพลัง ยื่น45,000 ชื่อ ต้าน’เสี่ยโต้ง’ยึดแบงก์ชาติ