"ธ.ก.ส." เตรียมข้อมูลรับนโยบายรัฐบาลใหม่ "แจงเงินดิจิทัล-พักหนี้เกษตรกร"

25 ส.ค. 2566 – นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า นโยบายดูแลเกษตรกรที่พรรคร่วมรัฐบาลประกาศออกมาแล้วว่าจะมีการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรนั้น ขณะนี้ธนาคารได้มีการเตรียมฐานข้อมูลลูกหนี้ทุกกลุ่ม กลุ่มอายุ มูลหนี้ต่าง ๆ โดยขณะนี้ได้รับการประสานจากกระทรวงการคลังมาแล้วเกี่ยวกับวิธีการว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง พร้อมทั้งมีการแยกทุกมิติเพื่อให้เห็นภาพว่าเมื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้วธนาคารจะเป็นอย่างไรบ้าง ต้องรับภาระอะไรบ้าง โดยรายละเอียดของมาตรการตอนนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับรัฐบาล คงต้องรอความชัดเจนหลังแถลงนโยบายอีกรอบ

“ตอนนี้กระทรวงการคลังได้ประสานงานมาแล้วในเรื่องของวิธีการ ซึ่งวิธีการยังไม่ชัดว่าจะพักในมิติไหนบ้าง หรือว่าจะมีการชำระในส่วนไหนบ้าง พักเฉพาะเงินต้น หรือดอกเบี้ยด้วย เพราะถ้าพักดอกเบี้ยด้วยก็จะมีผลกับงบดุลของธนาคาร รวมถึงมาตราฐานบัญชี และหากพักหนี้ แต่มีกลุ่มลูกหนี้ที่มีศักยภาพสามารถชำระได้ ก็จะมีมาตรการจูงใจให้ด้วย ตอนนี้สิ่งที่ ธ.ก.ส. เตรียมทั้งหมดคือฐานข้อมูล และมีการแยกทุกมิติว่าธนาคารจะต้องรับภาระอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกระแสเงินสด ดอกเบี้ยรับ รวมถึงการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญตามมาตรฐานบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนรายละเอียดทั้งหมดต้องมาคุยกันอีกที” นายฉัตรชัย กล่าว

ส่วนนโยบายเรื่องเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทนั้น นายฉัตรชัย ระบุว่า หากรัฐบาลจะใช้ ธ.ก.ส. เป็นช่องทาง ก็พร้อมรับนโยบาย เพราะ ธ.ก.ส. มีเทคโนโลยีที่รองรับได้ แต่จะต้องมาดูบริบทของลูกค้าของ ธ.ก.ส. ด้วยเพราะส่วนมากลูกค้าของธนาคารประกอบอาชีพเกษตรกรซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่ได้ประกอบอาชีพในเมือง ว่าจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนดหรือไม่ เช่น การกำหนดรัศมีใช้จ่ายใน 4 กิโลเมตร อาจจะไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของเกษตรกรที่ค่อนข้างกระจายตัว ไม่กระจุกตัวเหมือนในเมือง

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปีบัญชี 2566 (เม.ย.-มิ.ย.) ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อในภาคเกษตรกรไปแล้ว 7.4หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มีสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 1.62 ล้านล้านบาท ยอดเงินฝากสะสม 1.82 ล้านล้านบาท มีสินทรัพย์ 2.23 ล้านล้านบาท หนี้สินรวม 2.08 ล้านล้านบาท และส่วนของเจ้าของ 1.51 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2.06 พันล้านบาท ขณะที่สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น ภายหลังจากเข้ามารับหน้าที่ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้ 5 เดือน ภารกิจสำคัญส่วนหนึ่งคือ การแก้ NPL ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 8.46% โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในสิ้นปีบัญชี 2566/67 (สิ้น มี.ค.2567) จะลดสัดส่วนเอ็นพีแอลให้เหลือไม่เกิน 5.5% หรือราว 9 หมื่นล้านบาท

“เราพยายามป้องกันไม่ให้มีหนี้ไหลทะลุไปเป็น NPL โดยเมื่อเดือน มี.ค. 2566 มีหนี้ครบดีล 4.7 แสนล้านบาท เราได้บริหารจัดการด้วยเครื่องมือต่าง ๆ จนหนี้ก้อนดังกล่าวได้มีการชำระและเหลือเป็น NPL ไหลเข้ามาเพียง 1 หมื่นกว่าล้านบาท ขณะเดียวกันเดือนนี้ เราตั้งเป้าบริหารจัดการ NPL ออกประมาณ 5 พันล้านบาท ดังนั้นตัวเลขหนี้เสียจากสิ้นปีบัญชีที่ผ่านมาที่ราว 7% ก็ปรับเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 8.46%” นายฉัตรชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ในปีบัญชี 2566 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อให้ภาคเกษตรเติบโตเพิ่มขึ้น 8.5 หมื่นล้านบาท เงินฝากเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาท

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งอมแงม! 'นอร์ทกรุงเทพโพล' เผยผลสำรวจปชช.เอาด้วยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจแม้ว แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นอร์ทกรุงเทพโพล” มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากการสำรวจ