รถไฟไฮสปีดไทย-จีน เฟส 1 “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” งานคืบ 23.95% รอลงนามอีก 2 สัญญา ด้านงานระบบฯ จีนออกแบบเสร็จแล้ว ลุยจัดหาวัสดุอุปกรณ์ รฟท. เร่งดันงานพร้อมเปิดปี 70
17 ส.ค. 2566 – รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) แจ้งความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะ(เฟส)ที่1 ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา เพิ่งลงนาม และรอเข้าพื้นที่ 1 สัญญา และรอลงนาม 2 สัญญาประกอบด้วย 1.สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. สำนักงานอัยการสูงสุด ยังอยู่ระหว่างตรวจร่างสัญญา หากแล้วเสร็จจะสามารถลงนามสัญญาจ้างกับ บริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) จำกัด ผู้รับจ้าง วงเงิน10,325 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป
และ 2.สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ คาดว่าต้องรอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา อย่างไรก็ตามสำหรับภาพรวมงานการก่อสร้างโครงการฯ มีความคืบหน้า 23.95% โดย รฟท. เริ่มงานก่อสร้างเมื่อเดือน ธ.ค.60 ยังคงตั้งเป้าหมายและจะพยายามเร่งรัดงานก่อสร้าง เพื่อให้โครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน เฟสที่ 1 สามารถเปิดบริการได้ภายในปี 70
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สำหรับสัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. งานก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ส่วนสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. คืบหน้า 98.67% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 66, สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.2 กม. คืบหน้า 31.53%, สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคองระยะทาง 26.1 กม. คืบหน้า 29.09%, สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.4 กม. คืบหน้า 61.23%, สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.3 กม. คืบหน้า 4.63%,
สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. คืบหน้า 0.20%, สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. คืบหน้า 16.07%, สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย คืบหน้า 00.12% สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. คืบหน้า 0.32% และสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.9 กม. คืบหน้า42.96%
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนความคืบหน้างานสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงินประมาณ 50,633 ล้านบาท ขณะนี้บริษัทคู่สัญญาฝ่ายจีน ประกอบด้วย บริษัทไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ดีไซน์คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) ได้ดำเนินงานออกแบบตามสัญญาเบื้องต้นเสร็จแล้วอยู่ระหว่างฝ่ายไทยตรวจสอบ ปัจจุบันผู้รับจ้างอยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาวัสดุ และอุปกรณ์งานระบบ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลรถไฟความเร็วสูง ในรูปแบบของบริษัทลักษณะเดียวกับบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด(รฟฟท.) นั้น ขณะนี้กระทรวงคมนาคม ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษารูปแบบขององค์กร คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 66 จากนั้นจะเร่งดำเนินการจัดตั้ง เพื่อให้ทันกับการที่ฝ่ายจีนจะเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยี ทักษะ และความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง 11 ด้าน ให้กับบุคลากรฝ่ายไทยประมาณปลายปี 67 พร้อมทั้งรองรับการดำเนินงานรถไฟความเร็วสูงของไทยในอนาคตด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รฟท.ขยายเวลาลดค่าบริการจอดรถสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ถึง 15 ก.พ.68
‘การรถไฟฯ’เดินหน้าช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ปรับลดค่าบริการจอดรถชั้นใต้ดินสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึง 15 ก.พ.68 ให้จอดฟรี 30 นาที ชั่วโมงที่ 1-2 เริ่ม 15 บาท