“แบงก์ชาติ” ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2566 แผ่ว ชี้ส่งออกแผ่วกว่าคาด มองภาพรวมยังฟื้นตัวได้ จากอานิสงส์บริโภคในประเทศ-ท่องเที่ยว ลุ้นต่างชาติเข้าไทยแตะ 29 ล้านคนตามเป้า พร้อมแจงถอนคันเร่งนโยบายการเงิน เตรียมหาจุดสมดุลของดอกเบี้ย
16 ส.ค. 2566 – นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ประจำปี 2566 หัวข้อ “ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทยและภาคใต้” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยถือว่ายังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าบางช่วงอาจจะมีตัวเลขต่าง ๆ ที่อ่อนแอกว่าที่คาด ขณะที่แนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในไตรมาส 2/2566 ที่จะมีการประกาศในเดือน ส.ค. นี้ อาจจะไม่ได้ออกมาสวยหรูนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่ไม่ได้ดีเหมือนที่คาดการณ์ โดยภาพรวมการฟื้นตัวหลัก ๆ ยังมาจากพื้นฐานการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ โดยปีนี้ยังคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัว 29 ล้านคน แม้ว่ารายได้จากภาคการท่องเที่ยวจะชะลอลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่อาจไม่ได้เข้ามาตามคาด แต่ภาพรวมก็ฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลง และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3%
ทั้งนี้ จากบริบทเศรษฐกิจในปีนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้โจทย์ของนโยบายการเงินจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ก่อนหน้านี้ ธปท. ต้องปรับนโยบายการเงินเพื่อให้เข้าสู่สภาวะปกติ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า สมูท เทค ออฟ ซึ่งเราทำได้ดีแล้ว เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อกลับมาลง ทำให้โจทย์ของนโนบายการเงินจึงต้องเปลี่ยนเป็น กู๊ด แลนด์ดิ้ง คือ การทำนโยบายการเงินที่ต้องเหมาะสมกับภาพระยะปานกลางและระยะยาว
“เดิมที่ ธปท. บอกจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ล่าสุดเราถอดคำนี้ออกไปแล้ว เป็นการสะท้อนว่าเราเริ่มใกล้จุดสมดุลแล้ว จุดที่เหมือนกับคันเร่งอยู่ถูกที่ ไม่ได้เป็นการเหยียบเบรก แต่เป็นการถอนคันเร่งให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยต้องอยู่ในที่ที่เหมาะสมกับการเติบโตของศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว อัตราเงินเฟ้อต้องอยู่ในกรอบยั่งยืนที่ 1-3% และต้องไม่ทำอะไรที่สร้างความเปราะบางหรือความไม่สมดุลกับเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้เรากำลังเข้าใกล้จุดสมดุล ดอกเบี้ยอยู่ในจุดที่เหมาะสม เอื้อให้เศรษบกิจโตได้ตามศักยภาพ เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ ส่วนจะถึงจุดเหมาะสมหรือยัง อยากให้รอให้ถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบต่อไป” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ธปท. เข้าใจดีว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ภาระหนี้ของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีกว่า เพราะหากไม่ทำและอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นไป ภาระต่อครัวเรือนจะหนักกว่าภาระจากอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นเยอะมาก ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ระวังและใส่ใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อครัวเรือน และมีการติดตามการส่งผ่านดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งพบว่ามีการส่งผ่านประมาณ 50% เท่านั้น
สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยนั้น ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่อยู่มานาน แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่ก็ต้องจัดการ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไปจะสร้างความเปราะบาง และหากปล่อยไปจะกลายเป็นวิกฤติได้ ซึ่งเหตุผลที่คนเป็นหนี้ ส่วนหนึ่งเพราะรายได้ไม่ค่อยโต ดังนั้นการแก้ไขจริง ๆ จะดูแค่ฝั่งหนี้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูฝั่งรายได้ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป้าหมายอยากเห็นหนี้ครัวเรือนไทยไม่ควรเกิน 80% ต่อจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 90.6% ต่อจีดีพี โดยขณะนี้ ธปท. ได้มีการออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย
นอกจากนี้ ยอมรับว่าปัจจุบันค่าเงินบาทผันผวนมากกว่าที่เห็นมาในอดีตพอสมควร ซึ่ง ธปท. เองไม่อยากเห็นความผันผวนขนาดนี้ โดยมีปัจจัยมาจากเศรษฐกิจโลก และเรายังเจอประเด็นซ้ำเติมเรื่องค่าเงินหยวน เนื่องจากค่าเงินบาทมีความสัมพันธ์กับค่าเงินหยวนสูงสุดในภูมิภาค เพราะเศรษฐกิจไทยถูกมองว่าเป็นเศรษฐกิจที่ชะตาผูกพันกับจีนค่อนข้างเยอะ ทั้งการส่งออกและท่องเที่ยว รวมทั้งยังมีปัจจัยเรื่องราคาทอง ทำให้คาเงินบาทผันผวนมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลออกบ้าง เพราะนักลงทุนมองปัจจัยเรื่องการเมืองเป็นความเสี่ยงด้วย โดย ธปท. พยายามดูแลเรื่องเสถียรภาพค่าเงินเท่าที่ทำได้ โดยการเตรียมเครื่องมือต่าง ๆ รองรับ เพราะหลายปัจจัยก็อยู่เหนือการควบคุม
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ 29-30 ล้านคนในปีนี้ แม้ว่านักท่องเที่ยวจีนอาจจะไม่มาตามคาด แต่ก็มีกลุ่มอื่นมาแทน ตรงนี้ไม่มีอะไรที่ทำให้ภาพเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แต่สิ่งที่เป็นห่วงมากกว่า คือ ภาคเกษตร เพราะไทยพึ่งพาเรื่องเกษตรเยอะ และการเพาะปลูกกระจุกตัวในพืชไม่กี่ชนิด อีกทั้งยังมีสถานการณ์เอลนีโญที่ค่อนข้างหนัก รวมทั้งยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีน ที่ประเมินค่อนข้างยาก จึงยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้านั้น ยืนยันว่าไม่กระทบการทำนโยบายการเงิน โดย ธปท. ยังคงทำหน้าที่ต่อไป เพราะเหล่านี้เป็นเรื่องของโครงสร้าง ส่วนรัฐบาลจะเป็นใคร ถือเป็นเรื่องของเสถียรภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักกฎหมาย ชี้ไม่ง่าย 'โต้ง' ว่าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะแทรกแซงผู้ว่าแบงก์ชาติ
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายคัดค้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ เป็นตัวแทนฝ่
รัฐบาลดี๊ด๊า! เปิดทำเนียบฯ รับม็อบเชียร์ 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ
เครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อ หนุน 'กิตติรัตน์' นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ 'รองเลขาฯนายกฯ' รีบหอบส่ง ธปท.ทันที แย้มวันนี้ไม่เลื่อนแล้ว
ม็อบบุกแบงก์ชาติ ยื่นอีก 5 หมื่นชื่อ ขวางการเมืองจุ้นเลือก 'ปธ.บอร์ด'
คปท. ศปปส. และกองทัพธรรม เดินทางมาชุมนุมหน้าแบงก์ชาติ เพื่อคัดค้านไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงครอบงำ ธปท.
ลุ้น! นัดครั้งที่3 เลื่อน-ไม่เลื่อน ลงมติเลือก ‘ปธ.บอร์ดธปท.’ จันทร์นี้
นัดครั้งที่ 3 รอบนี้ ลุ้นเลื่อน-ไม่เลื่อน ลงมติเลือกประธานบอร์ดธปท.จันทร์นี้ กรรมการฯปิดปากเงียบ คลัง เปลี่ยนตัว กิตติรัตน์หรือยัง ม็อบนัดรวมพลัง ยื่น45,000 ชื่อ ต้าน’เสี่ยโต้ง’ยึดแบงก์ชาติ
อันตราย! ดร.วิรไท ปลุก 11.11 อย่ายอมการเมืองครอบงำแบงก์ชาติ ทำลายเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย
ดร.วิรไท ปลุก 11.11 ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันอย่าให้การเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่าย