15 ส.ค. 2566 – นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หากพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบัน หอการค้าไทยยังมีความมั่นใจว่า ประเทศน่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ได้ในกรอบของ ส.ค.-ก.ย. 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่ช้าเกินไป โดยมองว่าไทยควรมีรัฐบาลชุดใหม่ให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาภาคเอกชนติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสามารถรวบรวมเสียงได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับและคาดว่าจะมีพรรคการเมือง และสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ให้การสนับสนุนเพิ่มเติม จนสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากแคนดิเดตพรรคเพื่อไทยได้ แต่สิ่งสำคัญ คือเสถียรภาพของรัฐบาลที่จะต้องมีเสียงเพียงพอและเข้มแข็ง เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างราบรื่น และมีความต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลใหม่ในการดูแลเศรษฐกิจ โดยครอบคลุม 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะเร่งด่วนโดยสิ่งที่รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องดูแลทันที คือ การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนภาคเอกชน ทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ที่ยังอยู่ในระดับสูง และการเผชิญกับปัญหาภาคการส่งออกที่ชะลอตัวติดลบต่อเนื่อง 8-9 เดือน รวมถึงเร่งส่งเสริมภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นไฮซีซั่น เช่น การอำนวยความสะดวกในการทำวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีน และเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ตลอดจน เร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน
2. ระยะกลาง ต้องวางแผนและป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลใหม่จึงจำเป็นต้องเตรียมแผนบริหารจัดการทั้งพื้นที่ และการกักเก็บน้ำที่เหมาะสม รองรับความต้องการของภาคการเกษตร ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสานต่อข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ที่ไทยได้เริ่มดำเนินการกับหลายประเทศ เพื่อเร่งขยายตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะ FTA ไทย-อียู และอีกหลายฉบับ 3. ระยะยาว ต้องเริ่มปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของทุกภาคส่วน ถึงประเด็นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
สำหรับเศรษฐกิจภายในประเทศ ต้องยอมรับว่ายังคงน่ากังวล โดยเฉพาะกำลังซื้อของประชาชนที่สะท้อนจากการซื้อสินค้าคงทนตั้งแต่ช่วงเดือนมิ.ย. มีแนวโน้มลดลง เป็นสัญญาณว่าประชาชนไม่มีรายได้ และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้จำเป็นต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทันที เช่นเดียวกับที่เคยทำในช่วงที่ผ่านมา เช่น โครงการคนละครึ่ง เพื่อดึงกำลังซื้อของประชาขนให้กลับมา
ขณะที่สเปคของ รมว.การคลัง ถือเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่ภาคเอกชนอยากเห็น ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนว่าจะสามารถนำเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างรวดเร็วและตรงจุด
นายสนั่น กล่าวว่า หากรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าพรรคเพื่อไทยสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และนำเอานโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจแบบทันทีนั้น หอการค้าฯ มองว่าในหลักการสามารถทำได้ แต่ต้องประเมินผลความคุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจให้ชัดเจนและรอบด้าน เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล
โดยมีข้อคิดเห็นดังนี้ 1. การอัดฉีดเม็ดเงินไปยังกลุ่มผู้มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป น่าจะอยู่ราว 50 ล้านคน หากใช้เงิน 1 หมื่นบาทต่อคน จะต้องใช้งบประมาณราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งในหลักการการอัดฉีดเม็ดเงินดังกล่าว เข้าถึงมือประชาชนโดยตรง จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและ2. พิจารณาการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท แบบพุ่งเป้าไปยังกลุ่มที่เดือนร้อน หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือก่อน เพราะจะได้ไม่ต้องใช้งบประมาณที่สูงจนเกินไป
“ประเมินว่า ทุก ๆ 1-1.5 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นจีดีพีGDP ได้ 1% ดังนั้น โครงการดังกล่าวน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้ประมาณ 2.5-3% เกิดเม็ดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 3-4 รอบ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังมีข้อเป็นห่วงจากหลายฝ่าย ทั้งที่มาของแหล่งงบประมาณ และจะกระทบต่อฐานะการคลังมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนในส่วนนี้โดยหอการค้าไทย ยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีโอกาสเติบโตได้ 3.0-3.5% และมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตอย่างเต็มที่ จากแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่” นายสนั่น ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอกชนขอคุย‘ธปท.’ บาทแข็งลดดอกเบี้ย
กกร.จ่อเข้าพบผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ โอดบาทแข็งต่อเนื่อง 3 เดือนทะยาน 12% หรือแตะ 4.50 บาท
บาทอ่อนกระทบส่งออก แนะคลัง-ธปท.จับเข่า
หอการค้าไทยชี้เงินบาทอ่อนค่าแรงเร็ว กระทบส่งออก-สินค้าเกษตร-ท่องเที่ยว