กฟผ.ลุยศึกษาเทคโนโลยีออสเตรเลีย ยกโมเดลพัฒนาพลังงานไทย

14 ส.ค. 2566 – การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือเป็นหน่วยงานหลักในการเดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศมาโดยตลอด ภายใต้เป้าหมายที่ต้องรักษาเสถียรภาพพลังงานไฟฟ้าของไทยให้กับคนไทยได้มีใช้อย่างไม่สะดุด จึงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพระบบการทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งทุกคนจะทราบดีว่า กฟผ.อยู่ในฐานะ ‘ผู้ผลิต’ และทำหน้าที่นั้นอย่างเข้มข้น แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้สนับสนุนให้เกิดการลงทุนมากขึ้น การผลิตไฟฟ้าจึงไม่ได้มาจาก กฟผ.เพียงผู้เดียว แต่มีหน่วยงานเอกชนอื่นๆ เข้ามาดึงส่วนแบ่งไป จนอาจจะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในประเทศไม่ได้มาจาก กฟผ.เป็นหลักแล้ว

แต่ด้วยเหตุนี้ กฟผ.ก็ยังคงเดินหน้าทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป อีกทั้งเดินหน้าศึกษานโยบาย รวมถึงวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ ให้สามารถตอบสนองกับความต้องการของสังคมได้ตรงบริบทมากขึ้น โดยเฉพาะการเดินหน้าสู่พลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคตที่จะไม่ใช่วัตถุดิบที่มาจากพลังงานฟอสซิลแล้ว แต่จะกลายมาเป็นพลังงานสะอาด และเชื้อเพลิงอื่นๆ อย่างเช่น ไฮโดรเจน ที่กำลังถูกพูดถึงในสังคมโลกมากขึ้น รวมทั้งยังมีหลายประเทศเริ่มเดินหน้าศึกษา ทดลอง และพัฒนาพลังงานเหล่านั้นจนกลายเป็นต้นแบบที่สำคัญไปแล้ว

ซึ่งล่าสุด กฟผ.ที่นำโดย นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการฯ ได้นำทีมศึกษาดูงานแหล่งผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน Latrobe Valley Hydrogen Facility โครงการระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ Victorian Big Battery และนวัตกรรมพลังงานจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานพันธมิตรด้านพลังงาน ณ ประเทศออสเตรเลีย โดยจากการดูงานครั้งนี้ได้เห็นถึงแนวทางการดำเนินงานในด้านพลังงานรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการใช้งานเชื้อเพลิงแห่งอนาคต และการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิลให้กลายเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ศึกษาเทคโนโลยีเปลี่ยนถ่านหินเป็นไฮโดรเจน

Latrobe Valley Hydrogen Facility เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Hydrogen Energy Supply Chain (HESC) พัฒนาโดยกลุ่มพันธมิตรในอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่นและประเทศออสเตรเลีย และได้รับการสนับสนุนจากรัฐวิกตอเรีย รัฐบาลออสเตรเลีย และรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งโครงการเกิดขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเทศนำเข้าพลังงาน เห็นโอกาสในการพัฒนา โดยเลือกประเทศออสเตรเลียเนื่องจากมีเหมืองถ่านหินอยู่มาก ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหิน พร้อมกับการใช้เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) ควบคู่กันไป

โดยนำร่องผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหินและสารชีวมวล ด้วยกระบวนการแปรสภาพเป็นก๊าซ (Gasification) และการกลั่นให้ก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ (Refining) ซึ่งโครงการ HESC แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งประสบความสำเร็จในการผลิตไฮโดรเจนโดยใช้ถ่านหินในพื้นที่ Latrobe Valley ร่วมกับชีวมวล แล้วขนส่งไปยังเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการนำร่องนี้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อจัดการกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกผลิตออกมาจากกระบวนการ

ส่วนระยะที่สอง เป็นการพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยใช้เทคโนโลยี CCS ร่วมด้วย เพื่อดักจับคาร์บอนนำไปเก็บไว้ใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประเมินผลโครงการนำร่องเพื่อเตรียมการพัฒนาโครงการระยะที่สองต่อไป คาดว่าเมื่อดำเนินการในระดับเชิงพาณิชย์จะสามารถผลิตไฮโดรเจนได้ 225,000 ตัน ส่งผลให้ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1.8 ล้านตันต่อปี (เทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน 350,000 คัน) โครงการระดับพาณิชย์จะช่วยเพิ่มการผลิตไฮโดรเจนในปริมาณที่ตอบสนองความต้องการของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นได้

ขั้นตอนของการผลิตและขนส่งไฮโดรเจน ประกอบไปด้วย 1.กระบวนการแปรสภาพถ่านหินเป็นก๊าซ ที่เป็นการทำปฏิกิริยาระหว่างถ่านหินและออกซิเจนภายใต้ความดันและอุณหภูมิสูงเพื่อผลิตก๊าซสังเคราะห์ (syngas) หรือส่วนผสมที่ประกอบด้วยคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรเจนเป็นหลัก 2.กระบวนการกลั่น (refinement) ในขั้นตอนการกลั่นนี้ syngas จะถูกทำให้บริสุทธิ์โดยแยกสิ่งปนเปื้อนออกไป ไฮโดรเจนที่ได้มาถูกกลั่นให้มีความบริสุทธิ์ถึง 99.999% ให้พร้อมกับการขนส่ง 3.แปลงสภาพก๊าซไฮโดรเจนเป็นของเหลว โดยก๊าซไฮโดรเจนถูกขนส่งไปยังโรงแปลงสภาพก๊าซไฮโดรเจนเป็นของเหลวที่ท่าเรือ

โดยขนส่งไปทางถนน ซึ่งจะแปลงสภาพก๊าซไฮโดรเจนจากสถานะก๊าซเป็นของเหลว โดยใช้วิธีลดอุณหภูมิของก๊าซไฮโดรเจนไปที่ -253 องศาเซลเซียส (Liquefaction) ซึ่งจะทำให้ก๊าซไฮโดรเจนเกิดการควบแน่นเปลี่ยนสถานะจากก๊าซไปเป็นของเหลว ซึ่งทำให้ลดปริมาตรลงได้ 800 เท่า 4.การเก็บไฮโดรเจนเหลวและการโหลดขึ้นเรือ เพื่อขนส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการพัฒนาระบบเฉพาะเพื่อโหลดไฮโดรเจนเหลวขึ้นเรือ 5.การขนส่งไฮโดรเจนเหลวทางเรือ และ 6.การนำไฮโดรเจนเหลวลงจากเรือและการเก็บไฮโดรเจน ซึ่งท่าเรือที่ญี่ปุ่นมีอาคารที่มีแท็งก์เก็บไฮโดรเจนขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และมีอุปกรณ์ลำเลียงไฮโดรเจนเหลวลงจากเรือแห่งแรกในโลก

การพัฒนาระบบดังกล่าวสอดคล้องกับ กฟผ.ที่สามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวสำเร็จและใช้งานได้จริงตั้งแต่ปี 2559 โดยได้กักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจน (Wind Hydrogen Hybrid System) จับคู่กับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้า จ่ายให้กับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง ซึ่งมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 พร้อมอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติ ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก

คาดการณ์ว่าจะนำร่องใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 5% ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2574-2583 และมีแผนศึกษาการนำถ่านหินมาผลิตไฮโดรเจน (Brown Hydrogen) พร้อมพัฒนาเทคโนโลยี การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization & Storage: CCUS) ในพื้นที่ กฟผ. คือ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

Big Battery ลดความผันผวนของพลังงานหมุนเวียน

ในส่วนของระบบกักเก็บพลังงาน โครงการ Victorian Big Battery ของบริษัทผลิตไฟฟ้าสัญชาติฝรั่งเศส Neoen ตั้งอยู่ในเมือง Moorabool รัฐวิกตอเรีย เป็นระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ที่ใหญ่สุดในประเทศออสเตรเลีย จ่ายกำลังไฟฟ้าได้ 300 เมกะวัตต์ และเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ 450 เมกะวัตต์-ชั่วโมง โดยสามารถจ่ายไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ได้นาน 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือเท่ากับการจ่ายไฟฟ้าให้บ้านเรือนได้กว่า 5 แสนหลังคาเรือน

ระบบแบตเตอรี่ของ Victorian Big Battery เป็นเทคโนโลยี Tesla Megapack รุ่นแรก มีจุดเด่นคือ ติดตั้งได้ง่าย มีอายุใช้งานนาน 20 ปี โดยมีจำนวน Megapack ที่มีลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งหมด 212 ตู้ (1 Megapack จ่ายไฟฟ้าได้ 1.5 เมกะวัตต์ เก็บพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 3 เมกะวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่งโครงการดังกล่าวมีส่วนช่วยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในรัฐวิกตอเรีย สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ โดยช่วยกักเก็บพลังงานราคาถูกในช่วงที่มีแสงแดดและมีลมพัด เพื่อจ่ายพลังงานในช่วงที่มีความต้องการ

ช่วยให้รัฐวิกตอเรียมีไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงไฟฟ้าดับและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากไฟฟ้าดับ ส่งผลให้ระบบไฟฟ้ามั่นคงขึ้น ลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟในรัฐวิกตอเรีย และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เช่นเดียวกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ของ กฟผ. ที่ปัจจุบันมีโครงการนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 16 เมกะวัตต์ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี จำนวน 21 เมกะวัตต์ รวม 37 เมกะวัตต์

ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ช่วยลดความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ รักษาเสถียรภาพในระบบไฟฟ้าและลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในระบบส่ง และโครงการพัฒนาสมาร์ทกริด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขนาด 4 เมกะวัตต์ เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน

ลุย MOU ร่วมพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน

นอกจากนี้ ในการศึกษาดูงานดังกล่าว กฟผ.ยังได้เยี่ยมชมองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (Commonwealth Scientific & Industrial Research Organisation: CSIRO) ณ ประเทศออสเตรเลีย โดยได้รับเกียรติจาก Dr. Dietmar Tourbier ผู้อำนวยการหน่วยธุรกิจพลังงาน และเจ้าหน้าที่ CSIRO ร่วมต้อนรับ พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านนวัตกรรมพลังงาน โดย CSIRO เป็นหน่วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลีย หนึ่งในองค์กรวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดและหลากหลายที่สุดในโลก

เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มีผลการศึกษาวิจัยที่ช่วยสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตและใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานของโลก มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานวิจัย ดูแลจัดการโครงสร้างงานวิจัยและรวบรวมงานวิจัยของประเทศ ศึกษาและใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์รับมือกับความท้าทายที่ออสเตรเลียต้องเผชิญนอกเหนือจากด้านพลังงาน

และตั้งแต่ปี 2565 กระทรวงพลังงานได้ร่วมมือกับสถานทูตออสเตรเลียในหลากหลายกิจกรรมด้านพลังงาน หนึ่งในนั้นคือด้านระบบกักเก็บพลังงาน และเทคโนโลยีไฮโดรเจน กฟผ. ในฐานะหน่วยงานด้านพลังงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน จึงได้ร่วมมือกับ CSIRO ผ่านบันทึกข้อตกลง (MOU) ความเป็นไปได้ทางธุรกิจด้านระบบกักเก็บพลังงานในประเทศไทย โดยจะร่วมกันศึกษาระบบกักเก็บพลังงานเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน ครอบคลุมการออกแบบและความปลอดภัยของระบบกักเก็บพลังงาน

รวมถึงการศึกษาถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของระบบกักเก็บพลังงาน นอกจากนี้ยังจะร่วมกันศึกษาเกี่ยวกับเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ทั้งด้านการผลิต การกักเก็บ การขนส่ง รวมถึงการนำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าภายในระยะเวลา 1 ปีของความร่วมมือ

นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า ด้วยกระทรวงพลังงานมีแผนงานมุ่งสู่พลังงานสะอาด เพื่อตอบโจทย์สังคมไร้คาร์บอนอย่างยั่งยืนตามนโยบาย 4D1E (Decarbonization, Decentralization, Digitalization, De-regulation, Electrification) ที่สำคัญคือ การสนับสนุนการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ทั้งการนำมาเป็นเชื้อเพลิงโดยตรง หรือนำไปผสมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า

ที่ผ่านมา กฟผ.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ได้ดำเนินการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน และศึกษาพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. มีเป้าหมายเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานพลังงานเพื่อให้บริการพลังงานสีเขียว โดยมีความร่วมมือที่ดีกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานด้านพลังงานของประเทศออสเตรเลียที่มีเป้าหมายมุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กลุ่ม ปตท. และกลุ่มฯ โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยพลังงานสะอาด และคาดการณ์ราคาน้ำมันในปี 68

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า งานสัมมนา The Annual Petroleum Outlook Forum

กัลฟ์ จัดกิจกรรม “GULF Sparks Energy ชวนน้องท่องโลกพลังงาน” ปลูกฝังเรื่องพลังงานสะอาด และการแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

กลุ่มบริษัทกัลฟ์ จัดกิจกรรม “GULF Sparks Energy ชวนน้องท่องโลกพลังงาน” เพื่อเป็นการอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งที่มาของพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

‘พิชัย’ เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา

‘พิชัย’ จับมือทูตแคนาดา เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา พร้อมนัดถกรัฐมนตรีการค้าแคนาดาช่วงประชุมเอเปคที่เปรู ขยายโอกาสการค้าในตลาดอเมริกาเหนือ

GPSC แข็งแกร่งรับการสนับสนุนเงินกู้ระยะยาว จาก 3 แบงค์รัฐ-เอกชน มูลค่า 7 พัน ลบ. รุกพลังงานสะอาด ตอบโจทย์ Net Zero รองรับแผนพัฒนาพลังงานชาติ

GPSC ลงนามในสัญญาเงินกู้กับธนาคารทีเอ็มบีธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย วงเงินรวม 7,000 ลบ. มุ่งธุรกิจพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน สอดรับกลยุทธ์องค์กรจากบทบาทในการ Decarbonization ให้กับกลุ่ม ปตท. เดินหน้ามุ่งสู่แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ไฮโดรเจนความหวังใหม่ของวงการพลังงานสะอาด

แม้อาจมองไม่เห็นได้ด้วยตา แต่มีอยู่จริงรอบตัวเรา และนี่คือความหวังใหม่ของพลังงานสะอาดในอนาคต ‘ไฮโดรเจน’ ธาตุที่มีอยู่มากที่สุดในจักรวาล และมีอย่างไม่จำกัด