สนค.ขับเคลื่อน 'เศรษฐกิจสีม่วง' เพิ่มบทบาทสตรี ทำงาน มีรายได้

สนค.เผย “เศรษฐกิจสีม่วง” ที่มุ่งเน้นงานบริการดูแลผู้อื่น และความเท่าเทียมทางเพศ มีแนวโน้มเติบโตขึ้น เนื่องจากหลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค การเพิ่มบทบาทของผู้หญิงให้มีงานทำและมีรายได้ ส่วนไทยดัชนีความเสมอภาคดีขึ้นต่อเนื่อง ด้าน “พาณิชย์” หนุนผู้หญิงทำมาค้าขาย พร้อมโครงการสนับสนุน

13 ส.ค. 2566 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทั่วโลกได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การขยายตัวของสังคมเมืองและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วัยแรงงานมีภาระต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น ซึ่งการดูแลผู้อื่นจัดเป็นงานบริการที่ไม่ได้ค่าจ้าง และส่วนใหญ่เป็นแรงงานผู้หญิง องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ได้รายงานว่า ในปี 2018 ทั่วโลกมีแรงงานที่ต้องทำงานพร้อมกับดูแลผู้อื่น โดยไม่ได้รับค่าจ้าง เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงต้องดูแลคนในครอบครัวพร้อมกับทำงานนอกบ้านควบคู่กัน สะท้อนถึงภาระของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นที่มาของเศรษฐกิจสีม่วง (Purple Economy) หรือเศรษฐกิจแห่งการดูแล ที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ให้คำนิยามของ เศรษฐกิจสีม่วง ว่าเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตระหนักถึงความสำคัญของงานบริการดูแลผู้อื่น (care work) ความเท่าเทียมทางเพศ และการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้หลายภาคส่วนได้นำแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสีม่วงเข้ามาช่วยวัยแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิง ให้มีงานทำและมีรายได้ และดึงศักยภาพของผู้หญิงที่สามารถสร้างประโยชน์ในมิติเชิงเศรษฐกิจและสังคม และยังช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ จากรายงานของ McKinsey Global Institute คาดการณ์ว่าถ้าตลาดแรงงานมีความเท่าเทียมระหว่างเพศมากขึ้น จะทำให้ทั่วโลกมี GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ภายในปี 2025 และจะส่งผลให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสีม่วงและการจ้างงานผู้หญิง อาทิ รวันดามีนโยบายส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาททั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง สิงคโปร์ให้การสนับสนุนทางการเงินและพัฒนาทักษะให้กับผู้หญิง และไอซ์แลนด์ออกกฎหมายแรงงานให้มีความเท่าเทียม สำหรับไทย สถานการณ์ความเสมอภาคระหว่างเพศชายและหญิงของไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศ (Gender Inequality Index : GII) ในปี 2021 ไทยมีคะแนน 0.333 ดีขึ้นจาก 0.419 ในปี 2016 แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการเรื่องความเสมอภาคทางเพศที่ดีขึ้นของสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิง และส่งเสริมให้ผู้หญิงมีงานทำและมีรายได้

กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเกี่ยวกับการค้า การลงทุน และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งให้มีความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่เข้มแข็ง โดยได้มุ่งเน้นการสร้างรายได้ให้ชุมชน ท้องถิ่นในทุกพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องดูแลครอบครัว และมีรายได้ควบคู่ไปด้วย ซึ่งได้ดำเนินโครงการสำคัญ อาทิ โครงการสร้างชุมชนสู่ออนไลน์สร้างรายได้ธุรกิจ (Digital Village by DBD) ที่ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถวางแผนจัดจำหน่ายสินค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ทำให้ผู้หญิงที่อยู่ในชุมชน ท้องถิ่นสามารถหารายได้และยังมีเวลาดูแลครอบครัว และตลาดเที่ยวได้สไตล์ไทย ๆ (Village to Town) ที่ส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์จาก “หมู่บ้านทำมาค้าขาย” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มนำร่องที่เป็นแรงงานผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อาทิ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านคลองบ่อแสน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร

บ้านนาป่าหนาด กระทรวงพาณิชย์ยังตระหนักถึงความสำคัญและมองเห็นศักยภาพของผู้หญิงที่ต้องทำงานและดูแลครอบครัว จึงมีนโยบาย กิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้หญิงมีความภาคภูมิใจในการทำงาน มีรายได้ และสามารถดูแลคนในครอบครัวควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของเศรษฐกิจสีม่วงเศรษฐกิจแห่งการดูแล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พาณิชย์เผยดัชนีค่าขนส่งสินค้าทางถนน Q4 ขยับขึ้น

ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 4 และเฉลี่ยทั้งปี 2567 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยขณะที่อุทกภัยกระทบต่อธุรกิจการขนส่งสินค้าทางถนนไม่มาก

พาณิชย์โชว์ 11 เดือน ต่างชาติลงทุนในไทย 2.1 แสนล้าน

ใกล้สิ้นปี…ต่างชาติเข้าลงทุนในไทยไม่แผ่ว 11 เดือน ปี ‘67 ต่างชาติลงทุนในไทย 213,964 ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง 239 ราย ลงทุน 119,057 ล้านบาท สิงคโปร์ 120 ราย ลงทุน 16,332 ล้านบาท และ จีน 117 ราย ลงทุน 16,674 ล้านบาท

ข่าวดี ส่งออกไทย ต.ค.พุ่ง 14.6% มูลค่าแตะ 2.7 หมื่นล้านดอลล์

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย