‘บินไทย’ โชว์ครึ่งปีแรกโกยรายได้ 7.8 หมื่นล้าน

การบินไทย ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/66 โชว์กำไรพุ่ง 2.2 พันล้านบาท ดันภาพรวม 6 เดือนแรกของปีมีรายได้ 7.8 หมื่นล้านบาท เงินสดกว่า 5.1 หมื่นล้าน เตรียมชำระหนี้ปีหน้า 1 หมื่นล้าน

11 ส.ค. 2566 – นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 141% มีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 57,280 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 37,175 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 329% ขณะที่ปีก่อนขาดทุน 6,457 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 14,776 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง 23,361 ล้านบาท 

นายชาย กล่าวต่อว่า ขณะที่ไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 37,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 21,526 ล้านบาท หรือ 73.7% มีกำไรจากการดำเนินงาน 8,576 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 760% หากพิจารณาในส่วนของผลการดำเนินงานเฉพาะบริษัท การบินไทยฯมีรายได้รวม 34,954 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% 

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2565 มีกำไรจากการดำเนินงาน 8,699 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30,097% มีผู้โดยสารรวม 3.35 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 60.3% อย่างไรก็ตามบริษัทฯ จึงมีเงินสดคงเหลือจำนวน 51,153 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2566 ซึ่งถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่ดำเนินงานมา โดยที่ผ่านมาสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 25,000 ล้านบาท โดยการบินไทยมีแผนจะชำระหนี้ในกลางปีหน้า วงเงินอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท

ส่วนแผนการขยายธุรกิจของการบินไทย การบินไทยได้จัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาอีก 24 ลำโดยวิธีการเช่าดำเนินการ แบ่งเป็น 1.เครื่องบินแอร์บัส A 350 จำนวน  11 ลำ ขณะนี้รับมอบมาแล้ว 2 ลำ เหลือ 9 ลำรับมอบไตรมาส1 ปีหน้า 2. เครื่องบินแอร์บัส A 321 นีโอ จำนวน 12 ลำ จะเข้ามาใน ปี2026 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ ที่จะนำมาเพิ่มใหม่ 10 ลำ และนำมาทดแทนเครื่องบิน A 320 ของไทยสมายล์ที่จะหมดสัญญาเช่า 2 ลำ และ 3. โบอิ้ง 787-900  จำนวน  1 ลำ เพื่อนำมาใช้ในการขยายจุดบินใหม่และเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางบินที่มีศักยภาพ

นายชาย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลัง ไม่ขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้ในประเทศออกไปอีกหลังสิ้นสุดเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า ในภาพรวมยังไม่ได้กระทบต่อธุรกิจการบินไทยมากนัก ยังสามารถควบคุมต้นทุนได้ โดยมีผลต่อค่าบัตรโดยสารที่จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย หลักสิบถึงหลักร้อยบาทต่อเที่ยว แต่ปัจจุบันยอดจองเส้นทางในประเทศยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้โดยสาร เช่นเดียวกับปัจจัยทางการเมืองที่อยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ ซึ่งยังมียอดจองตั๋วเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตลาด mai เปิดกำไร บจ. ไตรมาส 1 รวมทะลุ 4.6 พันล้านบาท

บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 มียอดขายรวม 54,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2% ต้นทุนขาย และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 6.7% และ 6.4% ตามลำดับเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ บจ. มีความสามารถในการทำกำไรในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ดีขึ้น

เซ็นทรัล รีเทล โชว์รายได้ Q1 โกยรายได้ 6.7 หมื่นล้าน

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC กล่าวว่า “เซ็นทรัล รีเทล เปิดปีโตต่อเนื่อง ด้วยผลประกอบการในไตรมาสแรก

OR เผยผลประกอบการไตรมาสแรก 2567 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนในทุกกลุ่มธุรกิจ เสริมแกร่งศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ มุ่งสู่การเป็น Data-Driven Organization ควบคู่กับการสร้างอนาคตอย่างยั่งยืน

OR เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 มี EBITDA จำนวน 6,173 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 100% จากไตรมาสก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจ และมีกำไรสุทธิ 3,723 ล้านบาท