สนค. แนะเกษตรกรไทยพัฒนาสินค้า 'กาแฟพิเศษ' พบมูลค่าสูงกว่าเกือบ 6 เท่า

10 ส.ค.2566 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ดำเนินการศึกษา “แนวทางพัฒนาศักยภาพการค้าสินค้าเกษตรมูลค่าสูง กรณีศึกษา กาแฟพิเศษ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูล ปัญหาและอุปสรรคของเกษตรกร และผู้ประกอบการ และนำมาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการค้าสินค้ากาแฟและกาแฟพิเศษ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรมูลค่าสูงตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทย

กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) เป็นกาแฟที่ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ตั้งแต่การเพาะปลูก การคัดสรรเมล็ดกาแฟ จนถึงการแปรรูป เพื่อให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพสูงและรสชาติดี อีกทั้งช่วยเพิ่มมูลค่ากาแฟพิเศษให้มีราคาสูงกว่ากาแฟทั่วไป โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอมอรี่ (Emory university) สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาราคากาแฟพิเศษคั่วแล้ว มีราคาเฉลี่ย ณ สิ้นสุด ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ที่ 28.64 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ โดยมีราคาต่ำสุดที่ 18.28 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ และราคาสูงสุดที่ 38.99 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคากาแฟคั่วเฉลี่ยของสหรัฐฯ ในปี 2563 (อ้างอิงข้อมูลจากองค์การกาแฟนานาชาติ (International Coffee Organization: ICO) อยู่ที่ 4.14 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ จะเห็นได้ว่า ราคากาแฟพิเศษคั่วเฉลี่ยสูงกว่าราคากาแฟทั่วไปคั่วเฉลี่ยถึงกว่า 5.9 เท่า แม้ว่าในปัจจุบัน ตลาดกาแฟพิเศษยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แต่ก็ถือเป็นทางเลือกในการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเกษตร และเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้ากาแฟของเกษตรกรไทย รวมทั้งกาแฟเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคมีความต้องการสูง และตลาดสินค้ากาแฟมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ผลการศึกษาฯ ชี้โอกาสและข้อเสนอแนะ 8 ประการ ในการดึงศักยภาพกาแฟไทย ดังนี้ (1) อบรมให้ความรู้เกษตรกร เพื่อเพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพการผลิตเมล็ดกาแฟ รวมทั้งการทำการเกษตรที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (2) พัฒนาระบบการให้การรับรองคุณภาพกาแฟ เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพกาแฟไทย โดยการรับรองว่าเป็นไปตามมาตรฐาน (อาทิ มาตรฐานกาแฟ โดยสมาคมกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee Association) (3) วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กาแฟใหม่ ๆที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีการแปรรูป (4) ปรับใช้แนวคิด BCG Model ในอุตสาหกรรมกาแฟ เช่น พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน การเกษตรแบบลดคาร์บอน และห่วงโซ่อุปทานแบบหมุนเวียน (Circular Supply Chain)

(5) ส่งเสริมการสร้างแบรนด์กาแฟไทยให้เป็นที่รู้จัก (6) ควรตั้งศูนย์กลางในการแปรรูปและการกระจายกาแฟในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ (7) นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการผลิตกาแฟ เช่น ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน ปรับปรุงการผลิตเพื่อผลิตกาแฟคุณภาพสูง ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลตรวจสอบการปลูกกาแฟ เป็นต้น และ (8) ส่งเสริมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับกาแฟไทย เพื่อรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกาแฟแต่ละพื้นที่ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการตลาด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกาแฟ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อมูลสถานการณ์การผลิตและการค้ากาแฟของโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) รายงานว่า ปีการผลิต 2565/66 โลกมีผลผลิตรวม 10.20 ล้านตัน (เป็นพันธุ์อาราบิก้า และโรบัสต้า 5.41 และ 4.79 ล้านตัน ตามลำดับ) และในปีการผลิต 2566/67 (คาดการณ์ ณ มิถุนายน 2566) จะมีผลผลิตรวม 10.46 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 2.5% เทียบกับปีก่อน) (เป็นพันธุ์อาราบิก้า และโรบัสต้า 5.78 และ4.68 ล้านตัน ตามลำดับ) ผู้ผลิตกาแฟสำคัญของโลก ได้แก่ เวียดนาม บราซิล และอินโดนีเซีย สำหรับความต้องการใช้ ในปีการผลิต 2565/66 และ 2566/67 โลกมีความต้องการเมล็ดกาแฟ 10.10 และ 10.21 ล้านตัน ตามลำดับ ประเทศที่มีความต้องการมากที่สุด คือ สหภาพยุโรป รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ บราซิล ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์

สถานการณ์การผลิตและการค้ากาแฟของไทย ในปี 2565 มีผลผลิตกาแฟ 18,689 ตัน (เป็นพันธุ์อาราบิก้า 9,135 และโรบัสต้า 9,554 ตัน ตามลำดับ) มีการส่งออกกาแฟและผลิตภัณฑ์ เป็นมูลค่า 109.17 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.1% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็น (1) เมล็ดกาแฟ (พิกัดศุลกากร 0901) 631.6 ตัน เป็นมูลค่า 3.85 ล้านเหรียญสหรัฐ (135.38 ล้านบาท) และ (2) กาแฟสำเร็จรูป (พิกัด 210111 และ 210112) 23,347 ตัน เป็นมูลค่า 105.32 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,655.21 ล้านบาท) ตลาดส่งออกเมล็ดกาแฟที่สำคัญของไทย ได้แก่ (1) ญี่ปุ่น (21.8% ของมูลค่าการส่งออกเมล็ดกาแฟ) (2) กัมพูชา (19.1%) (3) สหรัฐอเมริกา (12.2%) (4) สิงคโปร์ (11.6%) และ (5) แคนาดา (5.21%) สำหรับตลาดส่งออกกาแฟสำเร็จรูปที่สำคัญ ได้แก่ (1) กัมพูชา (23.4% ของมูลค่าการส่งออกกาแฟสำเร็จรูป) (2) ลาว (15.5%) (3) ออสเตรเลีย (13.8%) (4) ฟิลิปปินส์ (12.1%) และ (5) เมียนมา (10.5%)

สำหรับปี 2566 ช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม – มิถุนายน) ไทยส่งออกกาแฟและผลิตภัณฑ์ เป็นมูลค่า 59.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.7% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็น (1) เมล็ดกาแฟ 148.5 ตัน เป็นมูลค่า 1.23 ล้านเหรียญสหรัฐ (41.70 ล้านบาท) และ (2) กาแฟสำเร็จรูป 12,081 ตัน เป็นมูลค่า 58.24 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,976.96 ล้านบาท)
ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า กาแฟเป็นสินค้าที่ไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้ โดยการส่งเสริมการผลิตและแปรรูปกาแฟพิเศษให้มีคุณภาพและเพิ่มมูลค่าของกาแฟ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ากาแฟไทย และช่วยให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดีป้า' เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล ยกระดับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน

ดีป้า ส่งเสริมเกษตรกรไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต เดินหน้าเปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล) ขับเคลื่อนการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันภาคการเกษตรสำหรับบันทึก จัดเก็บข้อมูล ติดตามย้อนกลับการเพาะปลูก สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูงสู่ตลาดโลก พร้อมพัฒนาทักษะและศักยภาพเกษตรกรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะอย่างยั่งยืน

“สุชาติ” ยก สำนักนโยบายและ ยุทธศาสตร์การค้า ฯเป็นคลังสมองกระทรวงฯ สานต่อนโยบายภูมิธรรม 5 ด้าน ‘ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าไทย’

รมช.พณ.สุชาติ นำคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยเข้าเยี่ยม สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) พร้อมสานต่อนโยบายรมว.ภูมิธรรม 5 ด้าน มอบ สนค. เป็นหน่วยงานคลังสมอง (Think Tank) ของกระทรวงพาณิชย์

สนค. ชี้บริการ OTT เติบโต แนะผู้ประกอบการช่วยขยายโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้า

สนค. ติดตามสถานการณ์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลที่ส่งผลต่อโอกาส ทางการค้าสินค้าอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ พบบริการ OTT เติบโต สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและผู้ประกอบการให้ความนิยมสื่อออนไลน์หรือผ่านแพลตฟอร์ม OTT เพิ่มขึ้น ช่วยขยายโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าและบริการไทย

แป้งมันไทยฝ่าวิกฤต! ส่งออกพุ่งไตรมาสแรก

มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในภาพรวม สำหรับไตรมาสแรกของปี 2567 แม้ว่าจะหดตัวแต่การส่งออกแป้งมันสำปะหลังยังคงขยายตัวได้เป็นอย่างดี สวนกระแสสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

'สมชัย' ฟันเปรี้ยง! แหล่งที่มาของเงินดิจิทัลวอลเล็ต จาก ธกส. แค่ตัวเลข ก็คว่ำแล้ว

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า