9 ส.ค. 2566 – นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ “ยกระดับเศรษฐกิจภาคเหนือ คว้าโอกาสบนโลกแห่งความท้าทาย ในหัวข้อ ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทย ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2566 อาจจะมีการปรับลดลงจากคาดการณ์บ้าง แต่ภาพรวมจะยังเห็นการเติบโตได้ที่ระดับ 3% กลาง ๆ บวกลบ จากคาดการณ์ล่าสุดที่ 3.6% เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่เศรษฐกิจไทยยังมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แม้บางช่วงอาจจะเห็นตัวเลขต่ำกว่าคาดการณ์บ้าง แต่ภาพรวมยังไม่เปลี่ยนแปลงจากที่ได้ประเมินไว้
“ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2566 นั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์จะประกาศในเดือน ส.ค. นี้ โดยมองว่าแนวโน้มอาจจะออกมาค่อนข้างต่ำกว่าคาดการณ์หน่อย จากการดูตัวเลขในเบื้องต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการฟื้นตัวจะไม่ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนจากการบริโภคและลงทุนเอกชน รวมไปถึงการท่องเที่ยว ซึ่งภาพเหล่านี้สตอรี่ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ โดยการลงทุนเอกชนปีนี้น่าจะโตเกิน 4% ขณะที่การท่องเที่ยวแม้จีนจะไม่มาเร็วอย่างที่คิด แต่ก็ยังเชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 29 ล้านคน ตรงนี้จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่การส่งออกอาจจะดูไม่ค่อยดีมาก ก็เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก และจีนที่ทำให้การส่งออกไม่ค่อยดีนัก ซึ่งส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกไม่ค่อยดี แต่ก็มองว่าน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและท้ายปี” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าบริบทของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เปลี่ยนไปจากปี 2565 ที่ภาพเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงและเร็วมาก จนทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และธปท. ต้องเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ส่วนปีนี้เศรษฐกิจไทยกลับมาในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แม้จะฟื้นตัวช้า แต่ก็ฟื้น แม้จะไม่เร็วเท่าประเทศอื่น ซึ่งเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อระยะยาวมองว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% จากปัจจุบันที่ลดลงมาค่อนข้างมาก ดังนั้นโจทย์ของนโยบายการเงินจึงเปลี่ยนไป โดยตอนนี้ต้องเน้นการแลนด์ดิ้ง จากก่อนหน้าที่ที่เน้นสมูท และเทคออฟ ต้องทำให้ลงได้ดี ดังนั้นสิ่งที่ต้องดูไม่ใช่แค่ปัจจัยระยะสั้นเรื่องเงินเฟ้อ แต่ต้องดูภาพเศรษฐกิจระยะยาวด้วย เพราะตอนนี้การจะลงตรงไหน จะอยู่ตรงไหน เหมือนเป็นการปักหมุดในระยะยาวว่าดอกเบี้ยที่จะอยู่ในระดับที่สร้างความสมดุลระยะปานกลางและระยะยาวที่เหมาะสมเป็นเท่าไหร่ จึงดูแค่ปัจจัยระยะสั้นไม่ได้แล้ว
ทั้งนี้ 3 เรื่องที่ต้องดู คือ 1. เศรษฐกิจเติบโตในระดับศักยภาพในระยะยาวหรือไม่ คือระดับ 3-4% หากโตเร็วกว่านี้จะเกิดปัญหาเรื่องความร้อนแรง 2. แนวโน้มเงินเฟ้อ ควรจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ซึ่งเป็นระดับที่ยั่งยืน และ 3. อัตราดอกเบี้ยต้องไม่ไปสร้างปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90% ต่อจีดีพีนั้น ส่วนหึ่งเป็นเพราะการมีดอกเบี้ยที่ต่ำและนานเกินไป ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นการจะไม่ให้หนี้เพิ่มต่อเนื่อง คือ ต้องปรับดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความสมดุลระยะยาวมากขึ้น
“บริบทเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไป โจทย์นโยบายการเงินจึงต้องเปลี่ยนจากสมูท เทคออฟ เป็นแลนด์ดิ้ง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เราได้ถอดออกไปแล้ว ตรงนี้สะท้อนว่าตอนนี้มันอยู่ใกล้จุดที่จะมีการเปลี่ยน พูดง่าย ๆ ให้ชัดเจน คือ คราวหน้าก็มีโอกาสที่เราจะคง หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ตามยังไม่ปรับลงแน่นอน เพราะยังไม่เหมาะที่จะปรับลง จึงอยากให้ดูไป” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ ธปท. เข้าใจว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีผลข้างเคียง และสร้างภาระ แต่เป็นสิ่งจำเป็นเพราะมีผลในภาพรวม ทำให้ที่ผ่านมาจึงมีการออกมาตรการหรือมีเครื่องมืออื่น ๆ ออกมาดูแลกลุ่มเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นพิเศษ เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว และมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ส่วนการส่งผ่านหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ธปท. ไม่อยากให้กระทบคนมากเกินไป เช่น รอบล่าสุดที่ขึ้น 0.25% นั้น การส่งผ่านไปสู่อัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น
สำหรับแนวโน้มหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ในระบบนั้น มองว่ามีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) แต่ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าถามว่าจะเกิดเยอะจนกลายเป็นหน้าผาหนี้เสียและส่งผลกระทบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” ตอนนี้ยังไม่เห็นภาพดังกล่าว เพราะตัวเลขกลุ่มดังกล่าวแต่จะค่อนข้างเยอะและสูง แต่ก็เป็นมานาน ไม่ได้มีลักษณะพุ่งขึ้น เช่น สินเชื่อบ้านที่เป็นสเตรท 2 ที่กลายเป็นหนี้เสีย สัดส่วนคือ 22% จากก่อนหน้านี้ 32% แต่มีสัดส่วนสินเชื่อที่แปลงจากกลุ่มสเตรท 2 หรือกลุ่ม SM กลับมาเป็นหนี้ปกติ 30% มากกว่าตัวเลขที่ไหลไปเป็นหนี้เสีย สะท้อนว่าแนวโน้มสัดส่วนสินเชื่อสเตรท 2 ที่จะกลายเป็นหนี้เสียก็มีแนวโน้มลดลง
อย่างไรก็ดี ในส่วนของความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้น ธปท. ได้ประเมินเรื่องความล่าช้าของการใช้งบประมาณไว้แล้วที่ราว 2 ไตรมาส ซึ่งผลกระทบไม่ค่อยเยอะ เพราะงบรายจ่ายประจำยังดำเนินได้ปกติ ส่วนงบลงทุนอาจจะกระทบบ้าง แต่ไม่ได้เยอะจนทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่จุดเสี่ยงจริง ๆ นอกเหนือจากหน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไรแล้ว ยังมีเรื่องนโยบายที่ต้องดูว่าจะมีนโยบายอะไรออกมา โดยสิ่งที่ไม่อยากเห็น คือ นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่บั่นทอนเสถียรภาพ ซึ่งเข้าใจว่าเรื่องการเมืองต้องมีสไตล์รายจ่ายแบบประชานิยม แต่ถ้าดำเนินการอยู่ในรอบ ไม่มากเกินไป มีวิธีการบริหารจัดการเม็ดเงินที่ชัดเจน ก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากมากเกินไปจนกระทบกับเสถีรภาพเศรษฐกิจก็น่าเป็นห่วง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน