เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2566 เวลา 09.30 น. ที่กระทรวงการคลัง เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามนโยบายด้านสวัสดิการสังคม รวมตัวกว่า 40 คน ยื่นหนังสือถึง รมว.การคลัง เพื่อคัดค้านกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังเตรียมแนวทางลดรายจ่ายภาครัฐเสนอต่อรัฐบาลใหม่ โดยการปรับลดรายจ่ายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในกลุ่มที่มีความซ้ำซ้อนหรือลดกลุ่มเป้าหมาย การช่วยเหลือจะมีเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) เปิดเผยว่า ทั้ง 3 เครือข่าย ขอแสดงความไม่เห็นด้วยในแนวคิดดังกล่าว และมีความเห็นว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควรยกระดับเป็นระบบบำนาญประชาชนถ้วนหน้า เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ พัฒนาการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากระบบสงเคราะห์ในปี 2536 ระบบถ้วนหน้าในปี 2552 อัตราขั้นบันได 600-1000 บาท ในปี 2554 แต่ไม่มีการปรับอัตราเบี้ยยังชีพมากว่า 13 ปี ต่ำกว่าเส้นความยากจน 3-5 เท่า การปรับเบี้ยยังชีพเป็นระบบสงเคราะห์จึงเป็นระบบสวัสดิการที่ถดถอย ไปกว่า 30 ปี
ดังนั้น ทั้ง 3 เครือข่ายจึงมีข้อเสนอดังนี้ 1. ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดงบประมาณสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า ไปเป็นแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มคนยากจน ขัดต่อหลักการสิทธิสวัสดิการแบบถ้วนหน้า และขาดการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กระบวนการพิสูจน์ความยากจนทำให้เกิดการตกหล่นจำนวนมาก
2. ขอยืนยันว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ไม่ซ้ำซ้อนกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นนโยบายเฉพาะกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังในสมัยรัฐบาลคณะรัฐประหาร เมื่อพิจารณาเบี้ยยังชีพจัดได้ว่าเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ส่วนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐถือเป็นสวัสดิการส่วนขยาย
ทั้งนี้ หากรัฐบาลปรับลดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 5 ล้านคน จะทำให้ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประมาณ 11 ล้านคน ถูกตัดสิทธิไปกว่า 6 ล้านคน
และ 3.เห็นว่า การสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ไม่อาจเกิดขึ้นจากการปรับลดสวัสดิการประชาชน ในทางกลับกัน รัฐควรเพิ่มการจัดเก็บรายได้และการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณให้มีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้แก่ ภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) ภาษีผลได้จากทุน (Capital Gains Tax) กำไรจากตลาดหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีที่ดินรวมแปลง ภาษีที่ดินที่ใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ (Vacancy Tax)
“เบี้ยยังชีพทุกคนที่เสียภาษีควรได้รับ ไม่ว่าจะคนรวยคนจน แต่ถ้ามีการรณรงค์ให้คนรวยสละสิทธิ์ควรเป็นแบบนั้น แต่สิทธิ์ที่มีควรเป็นของทุกคนก่อน ซึ่งความเป็นจริงตอนนี้ มีเพียง 40 ครอบครัว ที่มีรายได้ถึง 30% ของจีดีพีในประเทศ เป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงการคลังควรเอ็กซเรย์ให้ดี เชื่อว่าคนที่มีทรัพย์สินมากก็พร้อมจะสละสิทธิ์” นายนิติรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ทาง 3 เครือข่าว เคยยื่นหนังสือข้อเสนอ 14 พรรคการเมือง ให้สนับสนุนพระราชบัญญัติบำนาญประชาชน ผลักดันให้มีการช่วยสวัสดิการเบี้ยคนชรา 3,000 บาทถ้วนหน้า เพื่อยกระดับรายได้ และ คุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุ แต่ก็มีบางพรรคการเมืองไม่สนับสนุนเรื่องดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 40 คน ได้กล่าวปราศรัย โดยระบุชัดว่า เบี้ยยังชีพต้องได้รับถ้วนหน้า และไม่เห็นด้วยที่กระทรวงการคลังบอกว่าเป็นการให้สวัสดิการซ้ำซ้อน ทั้ง ๆ ที่ ทุกคนเสียภาษีมาจนอายุ 60 ปี กระทรวงการคลังคิดเรื่องนี้ไม่เป็นหรืออย่างไร เพราอาจจะส่งผลให้คน 11 ล้านคน ได้รับผลกระทบ ไม่ทำร้ายผู้สูงอายุทั่วประเทศ ขณะที่บรรยากาศการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พญาไท ควบคุมดูแลการชุมนุม และต่อมาเวลา 11.00 น. นายชาญวิทย์ นาคบุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ลงมารับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุม